Banner 140 03

จุฬาฯ ชู “แสมสารโมเดล” แก้ขยะล้นทะเลไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ

จากองค์ความรู้ “วิทยาศาสตร์ทางทะเล” สู่การพัฒนา “แสมสารโมเดล”

แสมสารโมเดล” หรือ แสมสารไร้ขยะ เป็นหนึ่งในโครงการท้องทะเลไทยไร้ขยะ ภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกของชุมชนในการลดและแยกขยะเพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลพื้นที่แสมสาร” ดำเนินงานโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาและวิจัยผลกระทบของขยะทะเลและไมโครพลาสติกที่มีผลต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ในพื้นที่นำร่องชุมชนแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากความร่วมมือในระดับท้องถิ่นนำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร  กองทัพเรือสัตหีบ และประชาชนในพื้นที่ ได้กำหนดแนวทางการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับชุมชน พร้อมถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดและแยกขยะให้กับชุมชนจนกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมผ่านการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง โดยได้บูรณาการองค์ความรู้ “Chula Zero Waste” ที่ทดลองนำมาใช้จัดการปัญหาขยะภายพื้นที่จุฬาฯ จนสำเร็จแล้ว ขยายผลมายังชุมชนแสมสาร โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (The Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) สนับสนุนเครื่องมือสำรวจปริมาณขยะทะเลบนเกาะแสมสาร จากนั้นนำผลสำรวจมาจัดทำข้อเสนอแนะเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันปัญหามลภาวะจากขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้มากถึงร้อยละ 30 ด้วยหลักการ 3Rs ลดการใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle)

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโครงการเล่าถึงบรรยากาศความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและชุมชนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับการท่องเที่ยวว่า “ก่อนหน้านี้ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีทดลองเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยมาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสนใจและอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลของเขา ประกอบกับที่นี่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนักจึงเอื้อต่อการท่องเที่ยวและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยิ่งทำให้เราต้องเร่งสร้างจิตสำนึกร่วมทั้งกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่มาให้เขารู้จักลดและแยกขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยของเรา”

“แก้ขยะล้นทะเล” แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ 

นอกจากนี้ รศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ ยังเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อด้วยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะบนบกที่ตกลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากเนื่องจากการจัดการขยะบนบกที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง เมื่อตกลงสู่ทะเลแล้วนอกจากจะไม่สามารถย่อยสลายได้  ยังแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจส่งผลต่อเนื่องมาถึงมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลเข้าไป จากการวิจัยพบว่าขณะนี้ในร่างกายของคนเรามีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่าหมื่นชิ้นแล้ว ถึงแม้จะต้องรอผลการวิจัยยืนยันในอีกประมาณ 5 – 10 ปีข้างหน้าว่าไมโครพลาสติกดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากน้อยเพียงใด แต่การลด ละ เลิก การใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นควรจะเริ่มลงมือทำได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้น การวางแผนการจัดการนโยบายและมาตรการการลดและกำจัดขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

ผลสำเร็จและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นของโครงการ ไม่เพียงแต่ช่วยกำหนดแนวทางการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้องเพื่อลดปริมาณขยะทะเลในระดับประเทศและนานาชาติ แต่ยังประโยชน์เห็นผลเชิงประจักษ์ได้ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น เมื่อผลผลิตสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ไม่พบเศษซากขยะทะเลติดมา และปริมาณไมโครพลาสติกในท้องทะเลที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลลดลง ช่วยคืนสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพให้น่านน้ำไทยได้อีกครั้ง โดยผลสำเร็จของโครงการนี้ยังได้ขยายผลต่อเนื่องจากพื้นที่นำร่องในอำเภอสัตหีบไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดชลบุรี อาทิ เมืองพัทยา อำเภออ่างศิลา เป็นต้น และยังเกิดความร่วมมือต่อยอดกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อจัดการขยะของประเทศ โดยเริ่มขยายผลจากโครงการนำร่องไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองได้สำเร็จเป็นจังหวัดแรกอีกด้วย

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ถังขยะ, ภาชนะ, บุคคล

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, บุคคล, น้ำ, ชายหาด

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, บุคคล, หิมะ, เล่นสกี

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ยกระดับความสำเร็จ “แสมสารโมเดล” สู่เวทีนานาชาติ  

มากไปกว่านั้น แสมสารโมเดล” (Sameasan Model) และองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกยังนำไปสู่การก่อตั้งภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้อนุรักษ์ท้องทะเลควบคู่ไปกับสร้างจิตสำนึกในระดับนานาชาติไปสู่ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ IOC/WESTPA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมในภูมิภาคภายใต้กรอบของ UNESCO-IOC และ United Nations Environment Programme (UNEP) และยังเกิดโครงการความร่วมมือทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำไทยกับประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Japan International Cooperation Agency (JICA) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น อีก 7 แห่ง ได้แก่ Kyushu University, Tokyo University of Marine Science and Technology, Tokyo University of Agriculture and Technology, Kyoto University, Kumamoto University, Chuo University และ Kagoshima University เพื่อแสวงหาแนวทางลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลคืนความสมดุลให้ทุกชีวิตใต้ท้องทะเลไทยต่อไป

แถลงข่าวโครงการความร่วมมือวิจัยขยะพลาสติกในทะเล
รูปภาพประกอบด้วย บุคคล, ในอาคาร, ห้อง, กลุ่ม

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner