Banner 140 01

จุฬาฯ หนุนใช้นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทย ผุดวิธีแก้ประมงผิดกฎหมาย ช่วยชาติปลดล็อคใบเหลือง IUU

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุนใช้ 4 นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทยต่อยอดผลสำเร็จงานวิจัยการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงไทย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชีย ร่วมกับศูนย์ยุโรปศึกษา และหลักสูตรบริหารกิจการทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลดล็อคใบเหลืองให้ประเทศไทยได้สำเร็จ จากกรณีสหภาพยุโรปได้จัดให้การทำประมงไทยอยู่ในกลุ่มผิดกฎหมาย ด้วยการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล พ.ศ. 2560-2561” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานประมงไทยพร้อมเชื่อมโยงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาครัฐผลักดันนโยบายสวัสดิการแรงงานในกลุ่มประมงพื้นบ้าน และยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศท้องทะเลที่เคยได้รับผลกระทบจากการทำประมงมากเกินไปผ่านการกำหนดนโยบายควบคุมระยะเวลาออกเรือพร้อมรายงานการจับสัตว์น้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2561 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาสังคมจนเกิดความร่วมมือที่ช่วยให้ประเทศสามารถปลดล็อคใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561 พร้อมได้รับการเลื่อนลำดับความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับจากระดับ 3 ขึ้นมาเป็นระดับ 2 ซึ่งเป็นระยะที่ไม่ต้องเฝ้าระวังในช่วงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2561  ผ่านกระบวนการจัดประชุมสู่การออกแบบนโยบาย อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมในการแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2560 เรื่อง ข้อเสนอประเด็นปัญหาการประมงพื้นบ้านเพื่อหารือแนวทางการปรับปรุงที่เหมาะสม ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้านในประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชุมระดมสมองเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลไทย จนเกิดการจัดตั้ง “กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ” สะท้อนมุมมองของลูกเรือที่ประสบปัญหาไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การผลักดันโครงการ “เรือในฝัน” ให้นายจ้างจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง ช่วยคุ้มครองด้านสุขภาพและเงินทดแทนในกรณีต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วย”

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการประชุมปฏิบัติการจากคณะวิจัย ให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรม 4 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมพัฒนาการประมงพื้นบ้าน นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงทะเล นวัตกรรมงานตรวจแรงงานประมงทะเล และนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานประมงทะเล

ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายควบคุมระยะเวลาออกเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือแบบอวนลาก เรือที่ติดเครื่องมืออวนล้อมจับฝั่งอ่าวไทยสามารถทำประมงได้ 240 วัน สำหรับเรือประมงที่จับสัตว์น้ำในฝั่งอันดามันเครื่องมือประเภทอวนลากสามารถทำประมง 270 วัน ใน 1 ปี ทั้งนี้ จำเป็นต้องรายงานการจับสัตว์น้ำอย่างละเอียดถึงชนิด แหล่งที่มา และปริมาณภายในระยะ 30 วันหลังเทียบท่า เพื่อให้ระบบนิเวศท้องทะเลได้ฟื้นตัวตามธรรมชาติ เพิ่มขีดความสามารถของการเพิ่มจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล  การเร่งดำเนินโครงการวิจัยนี้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงช่วยปลดล็อคใบเหลืองจากสหภาพยุโรป แต่ยังได้ฟื้นฟูภาพลักษณ์การทำประมงในท้องทะเลไทยให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดถึงแนวทางที่ยั่งยืน มิได้ละเมิดกฎหมายใดอีกต่อไป ท่ามกลางความร่วมมือที่สอดประสานกันจากภาคีเครือข่ายเพื่อการประมงที่ยั่งยืนและการคุ้มครองแรงงานที่มีสมาชิกจากภาครัฐ 6 ราย ภาคเอกชน 5 ราย ภาคประชาสังคม 8 ราย และภาควิชาการและองค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคอีก 8 ราย จนทำให้เรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านนับหมื่นกลับมาทำประมงได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner