Banner 210 01

ปลุก “เดอะแบก” หลุดกับดักภาษีที่ดินแพง หนุนทำสวนป่าเศรษฐกิจหมุนเวียนตามแนว BCG

หลังจากที่ที่ดินทิ้งร้างทั่วประเทศ ได้กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการรีดภาษีสร้างรายได้เข้ารัฐผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งก็ได้เริ่มจัดเก็บเข้าคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.3-0.7 ของมูลค่าที่ดินผืนที่ไม่ได้นำมาทำประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าที่ดินแต่ละแปลงจะเล็กจะใหญ่สนนราคาภาษีที่ผู้ถือครองไว้ต้องจ่ายย่อมมีมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับทำเลและอีกหลายปัจจัย แต่นั่นก็ได้กลายเป็นรายจ่ายใหม่ของพลเมืองดีที่มีที่ดินต้องแบกรับไว้โดยปริยาย ซึ่งดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะยังไม่กระทบกับเงินในกระเป๋าของเหล่าแลนด์ลอร์ดสักเท่าไหร่ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดระบาดสองปีนั้นถือเป็นช่วงเผาหลอกที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ออกโปรแรงเยียวยาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดภาษีให้ถึงร้อยละ 90 จากอัตราจริงที่ต้องจ่าย ทำให้แลนด์ลอร์ดน้อยใหญ่ยังจ่ายกันได้สบาย แต่เมื่อโปรแรงหมดลงก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเผาจริงกันแล้ว หลายคนก็ตั้งท่าเตรียมควักตังค์ไปจ่ายภาษีก้อนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงก็ยังพบโปรใหม่ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่ยังปรับลดภาษีลงให้อีกร้อยละ 15 จากอัตราจริงที่ต้องจ่ายแถมขยายเวลาชำระภาษีออกไปอีก 2 เดือน คือจ่ายได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อีกต่างหาก เรียกว่าจูงใจกระตุ้นให้แลนด์ลอร์ดกล้าจ่ายภาษีกันได้คล่องมือรอดไปได้อีกหนึ่งปี แต่ที่ต้องจับตาดูกันคือในปี พ.ศ. 2567 รัฐบาลใหม่จะมีโปรดีอะไรออกมาอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ  กรมธนารักษ์ได้ชิงประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในรอบปี พ.ศ. 2566-2569 ไปแล้ว โดยราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยร้อยละ 8 เลยทีเดียว

565000008742801
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์

จากการสำรวจของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2563 พบว่า เฉพาะเมืองหลวงของเรายังมีที่ดินทิ้งร้างซ่อนอยู่ถึง 65,625 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่หลายแปลงในจำนวนนี้ปัจจุบันได้กลายมาเป็นดงกล้วย สวนมะนาว และสวนไม้อื่น ๆ อีกกว่า 50 ชนิดแล้วเรียบร้อยตามคำแนะนำของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยที่ให้หันมาทำสวนเกษตรกัน นัยว่าให้ได้หนีตายจากการถูกรีดภาษีที่ดินในอัตราสูง มาถือตั๋วเกษตรกรเสียภาษีน้อยลงกันดีกว่า ซึ่งก็ต้องชื่นชมเกษตรกรมือใหม่ผู้ไหวตัวทันหนีตกชั้นได้สำเร็จ ไม่ต้องทนอกสั่นขวัญแขวนอยู่กับอัตราภาษีที่ดินที่จะไม่มูฟออนเป็นวงกลมหากแต่จะทะยานก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ อีกร้อยละ 0.3 ในทุก 3 ปีนับจากนี้

ที่ดินเกษตรกรรม 01 01
ที่ดินเกษตรกรรม 01 02 1
S 14319672
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว

ทราบทั่วกันแบบนี้แล้วผู้ที่ต้องรับบท “เดอะแบก” อย่างกลุ่มผู้ถือครองที่ดินแต่มีศักยภาพจำกัดในการพัฒนาซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบในท้องเรื่องนี้ไปเต็ม ๆ จะแบกรับภาษีได้จริงหรือไม่ และจะแบกไปได้อีกนานแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่เราต้องลุ้นและเป็นกำลังใจให้กันต่อไป ล่าสุด The Sharpener ได้สอบถามไปยังนักวิชาการกลุ่ม Mario Canopy สตาร์ทอัพจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงแนวทางเพิ่มศักยภาพการพัฒนาที่ดินทิ้งร้างทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือเดอะแบกให้หลุดจากกับดักภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว แนะนำว่า “ผู้ถือครองที่ดินทิ้งร้างต้องวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวว่าจะใช้ประโยชน์ไปในทิศทางใด โดยเฉพาะที่ดินในเขตสีเขียวและเขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียวที่ได้ถูกระบุให้ใช้ทำเกษตรกรรมไว้แล้ว ซึ่งการนำมาสร้างเป็นสวนป่าเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่มาพร้อมกับเทรนด์รักษ์โลกคือปลูกสวนป่าช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างที่ต้นไม้โตขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม้แต่ละชนิดจะโตเร็ว โตช้า และให้ผลผลิตต่างกัน อย่างกระถินณรงค์เป็นไม้โตเร็วจะมีรอบตัดฟัน 4-5 ปี ในขณะที่ต้นสัก ประดู่ พะยูง มะค่าจะเป็นที่นิยมในกลุ่มไม้โตช้ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง มีรอบตัดฟันราว ๆ 20 ปี นี่ก็เป็นปัจจัยให้เจ้าของที่ดินต้องพิจารณาว่าจะปลูกอะไร ในระยะเวลานานเท่าไหร่ จะได้อะไรกลับคืนมาบ้างโดยเฉพาะรายรับควรต้องมากกว่ารายจ่าย และเมื่อไหร่ต้องจ่าย และเมื่อไหร่ต้องรับ ซึ่งก็เป็นลักษณะของเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนหรือ BCG Economy ที่ล้อไปตามแนวทางการอยู่ร่วมกันกับโลกรวนอีกด้วย”

ที่ดินเกษตรกรรม 01 03

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในตารางข้างต้นจึงทำให้เราเห็นแต้มต่อของการปลูกไม้โตช้าอย่างต้นสักซึ่งเป็นไม้มากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่นอกจากเนื้อไม้จะขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ยังได้คาร์บอนเครดิตเป็นวัตถุพลอยได้แปลงกลับมาเป็นเงินตามหลังได้อีกด้วย ในขณะที่การปลูกไม้โตเร็วอย่างกระถินณรงค์ที่ตัดไม้ไปใช้ได้ในทุก ๆ 4 ปี จะไม่สามารถเข้าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่ต้องไม่ตัดไม้ไปใช้ประโยชน์หลังปลูกก่อน 10 ปี จึงทำให้การปลูกกระถินณรงค์มีรายได้ทางเดียวจากการขายเนื้อไม้แต่เป็นรายรับที่ถี่กว่าการปลูกไม้สัก

shutterstock 108893414
shutterstock 1284556267

เมื่อ “เดอะแบก” รู้แนวทางการนำที่ดินทิ้งร้างมาใช้ประโยชน์กันอย่างนี้แล้วก็รีบตัดสินใจทำเลยตั้งแต่ปีนี้อย่าปล่อยให้การจ่ายภาษีที่ดินปีหน้าเวียนกลับมาเป็นฝันร้ายอีกต่อไป หรือถ้าหากถอดใจเลิกแบกคงจำต้องปล่อยขายที่ดินเปลี่ยนมือไปให้กับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มองเห็นโอกาสและความตั้งใจปลุกให้เศรษฐกิจขยายตัวดูจะเป็นคุโณปการกับประเทศมากกว่า…แต่ใครเลยจะมาซื้อง่าย ๆ กันล่ะเดอะแบก!!!

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner