35

Plastic Diary : แพ็กเกจจิ้งเก๋ไก๋จากไอเดียรียูสแสนสนุกในร้านขายอุปกรณ์ช่าง

ภาพถ่ายซองเครื่องดื่มแบบชงทรงผอมๆ ยาวๆ ที่โดนจับแปลงร่างเป็นซองใส่ดอกสว่าน และเป็นสายรัดเอ็นตัดหญ้าหรือม้วนกระดาษทราย ปรากฏขึ้นในหน้าฟีดเฟซบุ๊กเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากการแชร์ของเพื่อนคนนึง มันดึงดูดสายตาในทันที แต่เมื่ออ่านชื่อเพจ ‘กานดากิจรุ่งเรือง – เทียนแก้ว’ (https://www.facebook.com/kandakijrungrueng/) กลับไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงใดใดกับแนวทางลดขยะพลาสติกด้วยการใช้ซ้ำให้คุ้มค่าหรือการประดิษฐ์ข้าวของจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าหมดประโยชน์

กระทั่งคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมนั่นแหละ จึงรับรู้ได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านไอเดียรียูสแสนสนุกของคนที่น่าจะอินกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ #มองทุกอย่างเป็นแพ็กเกจจิ้ง และ #ลดโลกร้อนเริ่มต้นจากร้านค้า ถือเป็นวิธีคิดน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเราซึ่งที่ผ่านมาทำได้แค่พยายามลดการสร้างขยะในฟากฝั่งผู้ซื้อและเชื่อเสมอว่าการขยับปรับเปลี่ยนที่ต้นทางผู้ขายผู้ผลิตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้วงกว้างกว่า

ดังนั้นเมื่อสบโอกาสเหมาะๆ จึงต้องขอนัดหมาย ‘กานต์’ ศศิกานต์ ศรีประทีปบัณฑิต แอดมินเพจและเจ้าของไอเดียแปลงร่างชิ้นส่วนพลาสติกเป็นแพ็กเกจจิ้งรูปแบบต่างๆ มานั่งพูดคุยกัน 

plasticdiary 04
plasticdiary 05

เธอเรียบจบด้านศิลปะ เคยเป็นสาวออฟฟิศทำงานด้านเสื้อผ้า แต่หลังจากคุณแม่เสียชีวิตจึงลาออกมาช่วยพี่สาวทำงานร้านฮาร์ดแวร์ชื่อเดียวกับชื่อเพจซึ่งเป็นกิจการครอบครัวตั้งแต่เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ครั้นเข้ามาคลุกคลีที่งานร้านเต็มตัว กานต์ตระหนักทันทีว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วไหม่เอี่ยมไม่ควรนำมาใส่ตะปูหรือน็อตกิโลแบ่งขาย เพราะสองสิ่งนี้เคลือบน้ำมันไว้เพื่อกันสนิม

“ตัวสินค้ามันเลอะอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถุงใหม่เลย ไม่จำเป็นอย่างที่สุด ถือมาก็ถุงทะลุเป็นลูกระเบิดตะปูอยู่ดี” เธอเล่าอย่างเห็นภาพ

จึงสั่งงดใช้ถุงก๊อบแก๊บใหม่เป็นอย่างแรกและหันมาใช้ถุงหูหิ้วใช้แล้วที่มีอยู่ในร้าน เรื่อยไปจนถึงถุงขนมหรือซองกาแฟที่เป็นฟอยล์เคลือบพลาสติกซึ่งผ่านการเขย่าน้ำ ล้างเร็วๆ และผึ่งลมจนแห้งดี รวมถึงถุงหูหิ้วใช้แล้วที่ลูกค้าบางคนรวบรวมมามอบให้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่ได้หยิบถุงก๊อบแก๊บใหม่มาใส่ตะปูกับน็อตกิโลอีกเลย 

ความเปลี่ยนแปลงลำดับสองที่ไล่มาติดๆ คือหยุดซื้อหนังยางใหม่มารัดม้วนกระดาษทราย โดยเปลี่ยนให้แกนทิชชูที่ตัดเป็นห่วงกลมๆ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ทั้งยังจับถุงขนมไซส์แคบหน่อยมาตัดตามแนวขวางให้เป็นวงๆ หรือจับซองกาแฟมาตัดตามแนวยาวสองฝั่งโดยเก็บขอบซีลซ้ายขวาเอาไว้ แค่พลิกด้านในออกมาก็รัดได้ดีไม่แพ้กัน เพราะซองฟอยล์เคลือบพลาสติกเหล่านี้มีความเหนียวทนทานมาก

ตามมาด้วยการยกเลิกใช้ถุงร้อนใหม่เอี่ยมใส่น็อตสกรูให้ลูกค้า เพราะเธอเห็นว่า ร้านมีถุงพลาสติกไซส์ใหญ่ๆ จำนวนมากซึ่งเดินทางมาพร้อมสินค้าจากโรงงานบ้าง รับมาจากการซื้อของบ้าง บางใบฉีกขาดนิดหน่อย ใส่ของในฐานะถุงใบใหญ่ไม่ได้ แต่ยังทำเป็นถุงใบเล็กๆ ได้อีกนับไม่ถ้วน จึงตัดแบ่งขนาดตามต้องการแล้วซื้อเครื่องซีลถุงพลาสติกด้วยความร้อนมาทำถุงใส่น็อตสกรูเอง …ไม่อินจริง คงไม่ทำขนาดนี้…

กานต์ซึ่งก้าวเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนของร้านและทำให้ทุกคนในร้านต้องปรับตัวขนาดใหญ่ ยอมรับตามตรง “จริงๆ มันก็เสียเวลาเหมือนกัน แต่ถ้านำถุงที่ผลิตมาแล้ว ผ่านการใช้งานแล้ว มาใช้ซ้ำให้คุ้มที่สุดก่อน มันก็ดีกว่าจะรีบดึงถุงใบใหม่เข้ามาในระบบ นี่คือสิ่งที่เราคิด” 

plasticdiary 03
plasticdiary 02

ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่รีบโยนทุกสิ่งอย่างลงถังขยะมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งเคยผ่านการทำงานเสื้อผ้าก็ยิ่งทิ้งยากขึ้น เพราะทั้งผ้าชิ้นเล็กหรือแม้แต่เศษผ้าก็สามารถเก็บไว้ใช้งานต่อได้ เมื่อบวกรวมเข้ากับความเพลินครุ่นคิดสไตล์ D.I.Y. อยู่ตลอดเวลาว่า ข้าวของตรงหน้ายังมีคุณค่าและสามารถดัดแปลงใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง เราจึงไม่แปลกใจที่ผู้หญิงคนนี้จะจับหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ และวัสดุรัดมัดต่างๆ ทั้งที่มาพร้อมสินค้าล็อตใหญ่ซึ่งสั่งเข้ามาขายในร้านและที่ได้จากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของตัวเอง ของสมาชิกในครอบครัว หรือของลูกน้องมาพลิกแพลงเป็นแพคเกจจิ้งสำหรับสินค้าของร้าน ซึ่งบางอย่างก็ดูเก๋ แปลกตา และง่ายอย่างที่เราเองคิดไม่ถึง แถมฟังก์ชั่นใช้งานยังเวิร์กมากๆ 

“มันไม่ได้ง่ายนะ แต่เรามีเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่จะทำเพื่อโลก ทำให้เราทำต่อมาได้เรื่อยๆ จนถึงวันนี้”

เธอทำอย่างนี้ต่อเนื่อง ระยะเวลาสิบปีคือตัวเลขโดยประมาณที่ทำให้คนรอบข้างเห็นซ้ำๆ จนเกิดการสั่งสม กระทั่งทุกคนในร้านเริ่มเข้าใจ มองไปในทิศทางเดียวกัน และให้ความร่วมมือกับปฏิบัติการรียูสมากขึ้นเรื่อยๆ แค่ลูกน้องหนึ่งคนที่เคยซื้อเครื่องดื่มเย็นใส่แก้วพลาสติกเข้าร้านทุกวัน เปลี่ยนมาพกแก้วเก็บความเย็นที่ล้างทำความสะอาดและใช้ซ้ำได้ กานต์ก็แฮปปี้แล้ว

กระทั่งช่วงกลางปี 62 จึงเปิดเพจเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของร้านจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก และเริ่มทยอยแชร์ไอเดียบางส่วนลงในอัลบั้ม ‘Sasiko Reuse : ลดโลกร้อนเริ่มต้นจากร้านค้า’ ด้วยความตั้งใจจริงที่จะเผยแพร่ให้คนเห็นในวงกว้าง เพราะอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครบางคนอยากลงมือบ้าง

“ถ้าร้านค้าทำตาม ก็จะกระจายไปสู่คนหมู่มาก เราทำสิบแบบ ร้านอื่นเอาไปทำตามสักแบบนึง ก็ช่วยโลกได้แล้ว” กานต์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

plasticdiary 07
plasticdiary 06

ตลอดบทสนทนาอันไหลลื่น เธอย้ำหลายครั้งว่า “ลดโลกร้อนต้องเริ่มต้นที่ร้านแบบเรา มันแตกต่างจากกิจการอื่นตรงที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นช่าง ซื้อแล้วเอาของไปใช้งานเลย เขาไม่ได้คาดหวังการใส่ถุงที่สวยงาม ไม่จำเป็นต้องหรูหรา ร้านแบบเราจึงเหมาะจะช่วยโลกได้เยอะที่สุด” โดยฝากเทคนิคง่ายๆ ถึงร้านฮาร์ดแวร์ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ไฟฟ้า ประปา สี เครื่องมือช่าง ฯลฯ ที่อยากเริ่มลดขยะด้วยการรียูส ดังนี้

ลดโลกร้อนอยู่ที่ปากเรา เพราะสินค้าบางอย่างก็แพคในถุงพลาสติกแบบแยกชิ้นมาเลย และมักจะโดนฉีกทิ้งทันทีเมื่อถึงไซต์งาน การเอ่ยปากถามลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างสี ช่างไฟฟ้า ช่างประปา หรือช่างก่อสร้างว่า ซื้อไปใช้งานเลยหรือเปล่า ขอถุงพลาสติกได้มั้ย จึงช่วยลดขยะพลาสติกจากการทิ้งของพวกเขา โดยดึงกลับมาใช้ซ้ำที่ร้านอีกหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย

อะไรมีรู อย่าใส่ถุงนะ หมายถึงพวกใบตัดเหล็ก ใบเจียร ลูกขัด ท่อต่างๆ ที่มีรูตรงกลาง แค่ใช้เชือก (ที่เคยรัดมัดสินค้ามาจากโรงงาน) ร้อยรูและผูกเงื่อน ลูกค้าก็หิ้วสะดวกแบบไม่ต้องง้อถุงพลาสติกหูหิ้วกันเลย

หิ้วไม่ได้ เดี๋ยวเติมหูให้ พวกขวดน้ำดื่มที่เป็นพลาสติก PET ตัดช่วงบนออก เหลือเป็นทรงกระบอกตรง เธอใช้เข็มเย็บกระสอบเจาะรู ทำหูหิ้วด้วยแถบพลาสติกรัดของ (ซึ่งก็เป็นของที่ร้านมีอยู่แล้ว) เพื่อใส่ของขายให้ลูกค้า ปรากฏว่า ถูกใจช่างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาปีนขึ้นไปทำงานที่สูงก็ใส่น็อต ตะปู แล้วแขวนไว้ใกล้ตัว เพิ่มความสะดวกหยิบใช้งาน แถมยังยืดอายุการใช้งานของขวด PET ใบนั้นออกไปได้อีก 

แยกประเภทถุงใช้ซ้ำ เป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม กลุ่มสะอาดมากไว้ใส่สินค้าใหม่เอี่ยมอ่อง กลุ่มเลอะนิดหน่อยไว้ใส่ตะปู และกลุ่มถุงค่อนข้างเขรอะสำหรับใส่น็อตกิโลซึ่งชุ่มน้ำมันหรือจารบี

แยกขยะพลาสติกและกระดาษ การแยกประเภทของพลาสติกและกระดาษที่เดินทางมาถึงร้าน นอกจากช่วยให้ส่งขายโรงรับซื้อขยะรีไซเคลได้ง่าย มันยังสะดวกสำหรับการหยิบมาดัดแปลงเพื่อใช้ซ้ำอีกด้วย

plasticdiary 01

ที่ผ่านมาเราเขียน Plastic Diary โดยเน้นเรื่องราวพลาสติกในมุมของผู้ซื้อหรือผู้บริโภค นี่เป็นตอนแรกที่อยากสื่อสารถึงร้านค้าทั้งหลายมากเป็นพิเศษ ด้วยหวังว่าตัวอย่างดีๆ เช่นนี้น่าจะจุดประกายให้ผู้ขายได้ย้อนกลับมาพิจารณาศักยภาพของตัวเองในการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือได้เห็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับกิจการของตัวเองบ้าง 

เพราะสถานการณ์มลพิษพลาสติกมิใช่ภาระของใครคนเดียว แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งมือแก้ไขไปพร้อมๆ กัน และคุณก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญด้วยสิ ขยับนิดเดียวส่งแรงกระเพื่อมต่อได้อีกเยอะเลย

ที่มา:https://themomentum.co/plastic-diary-ep12/

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner