Banner 190 1

“เตือนแล้วนะ! อย่าซื้อ Ivermectin มากินเอง”

ร่วม 2 ปีแล้วที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นวิกฤติการณ์ใหญ่ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่มวลมนุษยชาติยังคงพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะเชื้อร้ายนี้ ทั้งคิดค้นวัคซีนเพื่อมาป้องกันและสรรหายาหลากชนิดมาใช้เพื่อลดการสูญเสียชีวิตผู้ป่วย เราจึงได้เห็นความพยายามของหลายประเทศมุ่งใช้ทุกสรรพกำลังที่มีอยู่ค้นคว้าวิจัยให้ได้วัคซีนและยา หรือนำยาที่เคยมีอยู่แล้วนำกลับมาศึกษาค้นคว้าใหม่ รวมถึงการเลือกใช้ยาที่ใช้ได้ผลดีในสัตว์มาใช้กับมนุษย์อย่าง “Ivermectin” 

“Ivermectin” เป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการสัตวแพทย์ โดยประโยชน์หลักของยาตัวนี้สามารถใช้กำจัดปรสิตได้ทั้งภายในและภายนอกตัวสัตว์ สัตวแพทย์จะมีวิธีใช้ยานี้ในขนาดที่แตกต่างกันออกไป อย่างการรักษาโรคติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจ สัตวแพทย์จะเลือกใช้ยาในขนาดที่ต่ำที่สุด ส่วนโรคไรขี้เรื้อนแห้ง ไรในหู โรคติดเชื้อพยาธิตัวกลมและการกำจัดเห็บปรสิตของสัตว์บางชนิดอย่างสุนัขและแมวมักใช้ยาขนาดกลาง แต่ถ้าสัตว์เป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียกนั้นก็ต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ยาควรทราบคือ Ivermectin เป็นยาที่ขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้กับปศุสัตว์ในพวกสุกร โค กระบือ จึงมีความข้นสูงมาก การนำมาใช้ในสัตว์เลี้ยงจึงจัดเป็นการใช้แบบ extra-label use คือนำมาใช้นอกเหนือจากที่ผู้ผลิตได้ขอขึ้นทะเบียนไว้นั่นเอง

shutterstock 725257096

ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ ลักษณะของยาที่ใช้กำจัดเห็บนั้นในบางยี่ห้อมีลักษณะหนืดข้นคล้ายน้ำมัน อาจทำให้สัตว์ที่ได้รับการฉีดยาที่ผิวหนังนั้นจะค่อนข้างแสบผิวมากโดยเฉพาะสุนัขนั้นอาจจะไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีของยานี้คือเหมาะกับสุนัขที่ป้อนยายาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับยาหยดหลังนั้น อีกทั้งยังช่วยครอบคลุมการถ่ายพยาธิตัวกลม และป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้

ด้วยข้อแนะนำที่สำคัญคือกรณีใช้ยาเพื่อกำจัดเห็บนี้ควรจะใช้ในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ในกรณีที่ใช้ยานี้เพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจไม่ควรนำมาใช้ในลูกสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสุนัขสายพันธุ์ที่มีความไวต่อยานี้ เช่น พันธุ์คอลลี่ พันธุ์เชทแลนด์ ชีพด็อก และพันธุ์โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในสุนัขขนาดเล็ก มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม เช่น พันธุ์ชิวาวา หรือ พันธุ์ปอมเมอราเนียน เพราะอาจจะทำให้ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตัวสั่น ยืนทรงตัวไม่ได้ รวมถึงหากมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้สุนัขถึงตายได้

shutterstock 1361660450 1

จากสรรพคุณของ Ivermectin ในข้างต้น รวมถึงข้อมูลการใช้ยานี้ในประเทศอินเดีย และ บางประเทศในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อกันว่าสามารถนำยานี้มาใช้ต้านเชื้อไวรัสโควิด19 ในมนุษย์ได้เช่นกัน จึงทำให้ยานี้เริ่มเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้ติดเชื้อโควิด จนอาจซื้อหายาตัวนี้มารับประทานกันเอง แต่เมื่อลองพิจารณาจากข้อเท็จจริงในประเด็นนี้แล้วกลับพบว่าปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยมารองรับการนำ Ivermectin มาใช้ในมนุษย์อย่างชัดแจ้ง และยังไม่ได้ถูกระบุให้เป็นแนวทางใช้รักษาผู้ติดเชื้อโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงยังไม่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองการเป็นยาต้านไวรัสโควิด19 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยด้วยเช่นกัน 

กล่องรอดตาย สัตว์ 04

แต่แม้จะยังไม่ปรากฏพบหลักฐานการขึ้นทะเบียนใด ๆ แต่สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้พบว่าสถาบันการศึกษา และ สถานพยาบาลบางแห่งเริ่มศึกษาวิจัยแนวทางการใช้และการบริหารยา Ivermectin รวมถึงยาอื่นๆอีกกว่า 10 ชนิดในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์กันแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ University of Oxford ที่กำลังทดลองในผู้ป่วยอาการเล็กน้อย รักษาตัวที่บ้าน หากผลการทดลองออกมาดีและเป็นที่ยอมรับ ในอนาคตองค์การที่กำกับดูแลด้านการใช้ยาของแต่ละประเทศ รวมถึง องค์การอนามัยโลกก็มีโอกาสที่จะเพิ่มยานี้ในแนวทางการรักษา อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยเวลาทดสอบและสรุปผลความเป็นไปได้ที่จะนำยาชนิดนี้มาใช้เป็นยาหลักรักษาผู้ติดเชื้อโควิดอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงขอเตือนผู้ป่วยโควิดทำ Home Isolation ว่าไม่ควรหาทำซื้อหายานี้มารับประทานเองหรือเชื่อ fake news เด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ยิ่งหากรับประทานเกินขนาดจะระคายเคืองผิว เกิดอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง ตาบอด ตับอักเสบ จนถึงแก่ชีวิตได้

ที่มา 

  • ชุมชนคนรักสุนัข dogclub.in.th https://www.bangkokbiznews.com/news/det
  • ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
69455634 3017732238269265 4555061590503718912 n 2
Pawana Chuesiri

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner