Banner 142 03

จุฬาฯ อวดนวัตกรรม ชูเครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างปะการังเทียม

ปัญหาระบบนิเวศใต้ท้องทะเลเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วกำลังเป็นวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยพลัน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศใต้ท้องทะเลที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความผิดปกติทางสภาพภูมิอากาศและการกระทำของมนุษย์ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดหลากสายพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนบางชนิดเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์ และหนึ่งในนั้นคือ “ปะการัง” 

จากรายงานของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ประเมินว่าท้องทะเลหลายแห่งทั่วโลกกำลังประสบภาวะความตึงเครียดจากสภาพแวดล้อมแปรปรวนส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว ปะการังทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบไปแล้วถึงร้อยละ 38 คิดเป็นพื้นที่กว่า 1.2 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งแน่นอนว่าห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลย่อมได้รับผลกระทบสืบเนื่องกันไปด้วย สอดคล้องกันกับรายงานของ Scientific Reports ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2558 คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2588 หรือในอีก 25 ปี ข้างหน้า ปะการังสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เกือบถึงขีดสุด โดยอาจเหลือปะการังทั่วโลกอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น 

รูปภาพประกอบด้วย ถือ, นั่ง, ผู้ชาย, กระดาน

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

หากย้อนกลับมาติดตามสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย พบว่าระบบนิเวศทางทะเลไทยกำลังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขึ้น โดยช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเปิดเผยว่า บริเวณแนวปะการังน้ำตื้นมีปะการังสีจางลงกว่าร้อยละ 5-30 และกลายเป็นปะการังฟอกขาวแล้วถึงร้อยละ 5-15 ซึ่งหากปล่อยไว้ยังไม่รีบแก้ไขอาจส่งผลกระทบลุกลามบานปลายทำให้ปะการังอาจสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทยเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยตัวเร่งให้สถานการณ์นี้ทวีความรุนแรงขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น แม้เพียง 1-2 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ก็สามารถคร่าชีวิตปะการังและหญ้าทะเลได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้แนวปะการังในท้องทะเลไทยเสื่อมโทรมและถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ ที่ไม่เพียงสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่ก็ได้สร้างมลภาวะและทิ้งปัญหาขยะจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปล่อยตรงลงสู่ทะเลด้วยเช่นกัน โดยนับเฉพาะปี พ.ศ. 2562 เพียงปีเดียว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วราว 39.7 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวปะการังถูกทำลายแตกหักเสียหายเป็นแนวยาวจากการทิ้งสมอเรือนำเที่ยวให้ครูดกระแทกแนวปะการัง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนที่เคยอาศัยแนวปะการังเป็นที่พักพิงขาดแหล่งอนุบาลช่วงเจริญพันธุ์และไร้ปราการหลบภัยตามธรรมชาติอีกด้วย

รูปภาพประกอบด้วย นั่ง, ขนาดเล็ก, หมี, บรรจุ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนเร่งศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลด้วยการนำวัสดุที่ปลดระวางแล้วหรือวัตถุพลอยได้ในภาคอุตสาหกรรมทั้งโครงสร้างเหล็ก ยางรถยนต์ แท่งปูน ท่อพีวีซี หรือฉนวนลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มาใช้สร้างบ้านปะการังเทียมหลังใหม่ให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลซึ่งก็เริ่มมีปะการังงอกเกาะโครงสร้างเหล่านี้บ้างแล้ว แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของวัตถุข้างต้นที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเดิมตามธรรมชาติของแนวปะการังในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกลับส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพใต้ท้องทะเลให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้กลับมายังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของไทยได้ดังเดิม 

แม้ว่าการผสมเทียมปะการังจะช่วยเพิ่มอัตรารอดให้ปะการังได้มากถึงร้อยละ 50 แต่เพื่อขยายขีดความสามารถการขยายพันธุ์ปะการังให้ท้องทะเลไทย จึงนำไปสู่การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พัฒนา โครงการนวัตปะการังเพื่อการพัฒนาและการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมปะการังเทียมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การนำโครงสร้างวัตถุพลอยได้หย่อนลงไปในทะเลโดยตรง โดยใช้วิธีออกแบบโครงสร้างแข็งปะการังให้สวยงามเสมือนจริงตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิมในระบบนิเวศ ประกอบกับใช้วัสดุนวัตปะการังที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ซีเมนต์คอนกรีตแบบสามมิติจึงแข็งแรง ทนทาน และเก็บรายละเอียดความซับซ้อนของโครงสร้างปะการังเทียมได้ดี นอกจากนี้ ยังขนย้ายสะดวกเพราะมีน้ำหนักเบา ถอดประกอบได้ และยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและแรงงานที่ใช้ติดตั้งได้ 

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner