Banner 184

กว่าจะยืนหนึ่งได้ในเอเชีย : ความสำเร็จวันนี้ที่จุฬาฯ

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยคงต้องบอกว่าเรามีมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคม ในยุคที่ความต้องการของสังคมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามาเร่งกระบวนการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภาคเอกชนจึงมีความต้องการที่จะไม่เหมือนเดิม บทบาทของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนจากการเป็นเพียงผู้สอน เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย หรือการบริการทางวิชาการ ขยายสู่การเป็นผู้เชื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ  สร้างนวัตกร และเป็นผู้ริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น เหตุนี้จึงนำมาสู่วิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือการเป็น Innovations for Society มหาวิทยาลัยผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

เป้าหมายของมหาวิทยาลัยระดับโลกในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงการผลิตคนให้ตอบโจทย์กับตลาดอุตสาหกรรม แต่เป็นการปั้นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคม (Community Engagement) โดยตัวชี้วัดที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำตอบโจทย์สังคมหรือไม่ คือดูว่าประชาชนหรือสังคมนั้นกินดีอยู่ดีขึ้นหรือไม่ การดำรงชีวิตดีขึ้นไหม ยกตัวอย่างโครงการที่จุฬาลงกรณ์ฯ ทำ เช่นโครงการข้าวแสนกล่องเป็นหนึ่งในโครงการดี ๆ ที่เราเข้าไปช่วยตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในเรื่องของความเหลื่อมล้ำและเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน 

S 5718086

4 ปัจจัยที่หนุนส่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง
ความยั่งยืนอันดับ 1 ของเอเชียและอันดับที่ 23 ของโลก มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จประกอบไปด้วย

เรื่องแรกก็คือยุทธศาสตร์ (Strategy) เรามีวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมภายใต้วิสัยทัศน์นี้ มีกลยุทธ์ยุทธศาสตร์ทั้งหมด 3 ด้านคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างวิจัยนวัตกรรมที่มีความหมายมีผลกระทบสูงต่อสังคม (Impactful Research and Innovation) ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความยั่งยืน (Sustainability) ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้เรามีการตั้งเป้าตาม SDGs Goal17 ข้อ 

เรามีการเลือกว่าเป้าหมายไหนเป็นเป้าหมายที่คิดว่าภายใน 1-2 ปีจะมีผลงานที่ทำออกมาได้ดี สิ่งที่เราเลือก SDGs ข้อ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายสุขภาพใจสุขภาพที่ดี มีหลายโครงการเลยที่ดูแลทั้งบุคลากร คณาจารย์ นิสิตหรือแม้แต่ชุมชนรอบข้างให้มีสุขภาพกายใจแข็งแรง ข้อต่อมาที่เราเลือกคือ SDGs ข้อ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

การศึกษาปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะมาก มหาวิทยาลัยไหนไม่ทำนวัตกรรมไม่น่าจะอยู่รอดได้ในเรื่องของนวัตกรรมเรามีการสร้าง CU innovation Hub และ CU Enterprise เป็นแพลตฟอร์มกลางของมหาวิทยาลัยในการสร้างนวัตกรรม อีกหนึ่งข้อที่เรามุ่งเป้าคือ SDGs ข้อ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยมีการเกษตรกรรมและทำปศุสัตว์เป็นหลัก เราผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตรจำนวนมาก ไม่ว่าจะของคณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร  อีกข้อที่เราทำได้ดีคือข้อที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 104 ปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรามีพันธมิตรมากมายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราโดดเด่นมาก นอกจาก 4 ข้อที่กล่าวมา ยังมีข้อที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เรามีอุตสาหกรรมที่สำคัญคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญก็คือการท่องเที่ยวชายทะเล งานวิจัยของอาจารย์จุฬาฯมีเรื่องเยอะมาก ข้อนี้เราเป็นที่หนึ่งของเอเชีย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างผลงานที่ขับเคลื่อนสังคมในวงกว้าง (Impactful Content) เรามีงานวิจัยของอาจารย์การเรียนการสอนของคณะต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นรวมถึงสิ่งที่เราทำเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ และสังคมได้รับประโยชน์ 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การผนึกกำลังกันของจุฬาฯ (Synergy) ร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างคณะ จะเห็นได้ว่า SDGs Goal แต่ละข้อทำคณะเดียวลำพังไม่น่าจะสำเร็จ ต้องร่วมมือกันในคณะ ยกตัวอย่างเช่น SDGs ข้อ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ข้อนี้ข้อเดียวก็ไม่ได้มีเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ แต่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทางด้านสาธารณสุข วิทยาลัยสาธารณสุขหรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน จากซ้ายไปขวา เป็นภาพของความร่วมมือร่วมใจกันที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ต้องขอบคุณทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) รวมทั้งคุณแมค อธิศีล ณ ป้อมเพชร และทีมงานที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างการรับรู้ผ่านการเล่าเรื่อง (Storytelling) แม้ว่าเราจะมีผลงานดีแค่ไหนแต่ถ้าเราไม่สามารถเล่าเรื่องให้คนอื่นเขาเข้าใจว่าเราทำอะไร ประโยชน์อาจจะน้อยหน่อยเพราะไม่มีคนรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ การเขียนเรื่องราวให้สั้นกระชับโดนใจและเข้าใจได้ ช่วยทำให้สังคมได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำอะไรอยู่ สรุปองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้มีทั้งหมด 4 ด้านด้วยกันก็คือเรื่องของยุทธศาสตร์ (Strategy) การสร้างผลงานที่ขับเคลื่อนสังคมในวงกว้าง (Impactful Content) การผนึกกำลังกันของจุฬาฯ (Synergy) และการสร้างการรับรู้ผ่านการเล่าเรื่อง (Storytelling)

เป้าหมายสูงสุดของมหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงการจัดอันดับ (Ranking) การจัดอันดับเป็นกระจกบานเล็ก ๆ บานหนึ่งที่สะท้อนบอกเราว่าเราสวยระดับไหนแล้ว เป้าหมายของจุฬาลงกรณ์ฯ คือเราต้องการเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของประชาชน หมายความว่าประชาชนคนไทยต้องบอกได้ว่าจุฬาฯ ได้สร้างผลงานดี ๆ รวมถึงมีหลักสูตรที่ตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบัน สร้างบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพ เผยแพร่งานวิจัยที่มีความหมายและที่สำคัญที่สุดคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เคยลืมประชาชน

Nuttapon Kijjathanakorn
Nuttapon Kijjathanakorn

Core Team
TedxYouth@Bangkok

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner