แปลกแต่จริง ไม้อายุน้อยกลับได้คาร์บอนเครดิตมาก…..
“ทำไมไม้อายุน้อยกลับได้คาร์บอนเครดิตมากกว่าไม้อายุมาก?” คำถามนี้เกิดขึ้นทันทีเมื่อหลายคนได้เห็นการเปิดเผยข้อมูลการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยางพาราแต่ละช่วงอายุของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (https://www.raot.co.th/ewt_news.php?nid=91127&filename=index)
ยางพาราสามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเมื่ออายุ 6-10 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ย 1.34 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี แต่หลังจากนั้นการกักเก็บจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อยางพาราอายุมากขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของเราที่มักคิดกันว่าต้นไม้ยิ่งโตก็น่าจะได้คาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นด้วย แต่แท้จริงแล้วยังมีสิ่งที่เราต้องกลับมาทำความเข้าใจในเรื่องของการเจริญเติบโตของต้นไม้กันก่อน ถ้าพูดกันให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็จะเทียบการเจริญเติบโตของต้นไม้เปรียบได้กับมนุษย์เรา ที่มีวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยเกษียณ โดยช่วงวัยทำงานจะเริ่มเมื่อไม้มีอายุโตได้ประมาณ 3-5 ปี จะเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าในช่วงระยะอื่นเพราะจะนำไปใช้สร้างเนื้อไม้ให้หนาและสูงใหญ่ตั้งตรงได้ แต่ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ต้นไม้จะมีอัตราการเจริญเติบโตค่อย ๆ ลดลง เหมือนคนสูงวัยที่กินอะไรไม่ค่อยลง บางคนหนักข้อถึงขั้นเบื่ออาหารเลยก็มี
แน่นอนว่า กรมป่าไม้ก็ได้แบ่งประเภทไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ใช้ปลูกสร้างสวนป่าไว้ตามการเจริญเติบโตของไม้นั้น ๆ ไว้เช่นกัน มีทั้งไม้โตเร็ว ไม้โตปานกลาง และไม้โตช้า โดยไม้โตเร็วจะมีอายุรอบตัดฟันไม้ 5-15 ปี ช่วงที่ไม้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดอยู่ที่ 5-10 ปี จากนั้นอัตราการเจริญเติบโตจะเริ่มช้าลง ในขณะที่ไม้โตปานกลางและไม้โตช้า มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อผ่านช่วง 5 ปีแรกไปแล้ว จนถึงอายุ 20-30 ปี ทำให้ไม้ทั้ง 2 ประเภทมีรอบการตัดฟัน 15-20 ปี และ 20-30 ปีตามลำดับ ซึ่งหากอยากทราบปริมาณคาร์บอนเครดิตก็ต้องไปดูหลักเกณฑ์ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กำหนดไว้ในโครงการ T-VER ที่จะคิดค่าการเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากปีฐานหรือปีเริ่มต้น โดยวัดจากความโตของลำต้นและความสูงของต้นไม้ ในช่วงที่ไม้เริ่มโต ค่าการเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ในปีตั้งต้นจะมีค่าน้อย จากนั้นต้นไม้จะเพิ่มความโตและความสูงขึ้นเป็นอย่างมากจึงทำให้คาร์บอนเครดิตในปีนั้นก็จะได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่หากเป็นต้นไม้ในช่วงอายุมากและต้นใหญ่แล้ว ความสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในลำต้นมีมากอยู่แล้ว คาร์บอนเครดิตในปีนั้นก็จะต้องมีน้อยลงแปรผันตามอัตราการเติบโตนั่นเอง นี่จึงเป็นคำตอบของข้อสงสัยข้างต้นนี้ที่ว่าทำไมต้นไม้อายุน้อยจึงเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อต้นไม้โตเต็มที่แล้ว จึงต้องตัดเพื่อให้ได้ทั้งเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และปลูกใหม่หมุนเวียนไปตาม BCG Model เทรนด์ใหม่มาแรงแห่ง พ.ศ.นี้ ปลูกใหม่ในพื้นที่เดิมเพื่อให้เกิดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในช่วงที่ต้นไม้รุ่นใหม่กำลังเจริญเติบโตขึ้นใหม่
และนี่เองน่าจะเป็นที่มาของการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาทำสวนป่าเศรษฐกิจเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตนั่นเอง