เมื่อแบงก์ชาติออกสกุลดิจิทัล “อินทนนท์”
ถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการการเงินประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรการเงินในประเทศของเรา ที่เล็งเห็นความน่าสนใจและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชน หากนำสิ่งนี้มาปรับใช้กับวงการการเงินและระบบธนาคารจะโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมและจัดทำระบบอีกมากมาย เรียกได้ว่ามีความตื่นตัวกับกระแสโลกไม่แพ้เมืองนอก
สำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ นั้น ได้มีการเล็งเห็นถึงความน่าสนใจของระบบการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) จึงได้มีการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ทำระบบการชำระเงินระหว่างธนาคาร 8 แห่ง ซึ่งโครงการนี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทดลองและพัฒนาระบบการชำระเงินรวมไปถึงการออกเหรียญดิจิทัลที่ใช้เฉพาะภายในสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ชื่อว่าเหรียญ CBDC (Central Bank Digital Currency)
โดยโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์” โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 3 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง และ บริษัท R3 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม DLT ที่ทำระบบให้ธนาคารชื่อดังหลายแห่ง
จุดเริ่มต้นของโครงการอินทนนท์ มาจากระบบการทำงานของธนาคารต่างๆ ในไทยที่หากมีการโอนเงินระหว่างธนาคาร ธนาคารในเครือเหล่านี้จะไม่ได้เป็นผู้โอนเงินออกจากบัญชีต้นทางไปที่ปลายทางโดยตรง แต่ละที่จะมีบัญชีของตัวเองที่เปิดไว้ที่แบงก์ชาติอยู่แล้ว การโอนจ่ายระหว่างธนาคารจึงเป็นเหมือนการ ทำระบบสั่งจ่าย และยื่นให้แบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์ชาติโอนเงินในคลังให้กับปลายทางอีกที (แบงก์ชาติทำหน้าที่เป็นผู้ถือเงินสำหรับสถาบันเหล่านั้นไว้) โดยแบงก์ชาติจะรับคำร้องการโอนเงิน เช็กยอดเงิน และโอนให้ตามยอด
แต่ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ว่าข้อมูลอะไรหรือธุรกรรมอะไร ยอดเท่าไหร่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบจะถูกเก็บบันทึกไว้เป็นเสมือนบัญชีเงินฝาก ทุกธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ต่อๆ กันตั้งแต่ธุรกรรมแรกที่เกิดขึ้น และทุกคนในเครือข่ายยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างอิสระ ระบบนี้หากถูกนำมาปรับใช้ภายในองค์กรโดยเฉพาะในโลกการเงิน ทางทีมงานเล็งเห็นว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินในเครือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของ ความโปร่งใส
กำเนิดเงินบาทออนไลน์
โครงการอินทนนท์ได้มีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน แทนที่จะโอนด้วยเงินบาทจริงๆ เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC)
ซึ่งแตกต่างจากปกติที่หากธนาคารต่างๆ ในเครือจะโอนเงินระหว่างกันต้องมีการทำคำเรื่องโอนเงินไปยังธนาคารกลาง – แล้วธนาคารกลาง (ซึ่งเป็นผู้ถือเงินบาทในบัญชีของธนาคารย่อยทุกที่) แต่จะเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมโอนเงินให้ปลายทาง
แต่ทีนี้หากมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้ในอนาคตระบบจะเปลี่ยนเป็นการที่ “ธนาคารกลางเปิดรับให้ธนาคารในเครือนำเงินบาทมาแลก Token โดยมีมูลค่า 1:1” หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือ “การ Tokenized เงินบาท” นั่นเอง ซึ่งรูปแบบการแลกเปลี่ยนในรูปแบบบาทคอยน์นี้จะยังถูกใช้เฉพาะในระดับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่มีการโอนย้ายเงินทีละมากๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือระบบ Smart Contract ของบล็อกเชน ที่ทางผู้โอนจะสามารถตั้งเงื่อนไขหรือแม้แต่ช่วงเวลาที่จะทำการโอนนั้นๆ ได้ เรียกได้ว่าหากโมเดลนี้สำเร็จก็จะพลิกโฉมให้ระบบการเงินระดับสถาบันไปได้อย่างมาก (ไม่ต้องรอแบงก์ชาติเป็นตัวกลางตลอดเวลา) โดยทางโปรเจ็กต์มีการนำระบบของทาง Corda R3 มาช่วยในการพัฒนาตรงส่วนนี้ด้วย
ความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้ในระดับครัวเรือน
ปัจจุบันโปรเจ็กต์อินทนนท์ “ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา” ระบบยังต้องการเวลาอีกสักระยะในการปรับปรุงให้สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ ความรวดเร็ว ความโปร่งใส ประสิทธิภาพโดยรวมเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งข้อคือ เรื่องของกฎหมาย ทั้งความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเสถียร ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นทางหน่วยงานต้องมีการรับผิดชอบอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมออกมาเฉพาะเจาะจง หากแก้โจทย์เหล่านี้ได้ครบทุกข้อ อนาคตก็เป็นไปได้ที่โครงการนี้จะถูกนำมาใช้กับระบบของแบงค์ชาติจริงๆ แต่ต้องเป็นหลังจากทดสอบระบบอย่างเข้มข้น ว่ามีความพร้อมจริงๆ
นอกจากนี้ หากพูดถึง “ความเป็นไปได้หากนำมาปรับใช้กับระบบการชำระเงินกับประชาชนทั่วไป” ก็อาจเป็นไปได้ในอนาคตถ้าตัวระบบสมบูรณ์มากพอ แต่ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีบล็อกเชนกับแนวคิด Tokenization อาจมีอะไรให้ปรับและพัฒนาอีกมาก อย่างน้อยก็ 3-5 ปีนับจากนี้
เรียกได้ว่าน่าสนใจมากที่เดียวที่หน่วยงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยได้มีการตื่นตัวและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดและความโปร่งใสภายในระบบการเงินระดับประเทศ ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปในอนาคตว่าโปรเจ็กต์ตัวนี้จะถูกนำไปพัฒนาทิศทางไหน
หากประสบความสำเร็จและถูกนำไปต่อยอดและผลักดันประเทศไทยสู่ยุค “สังคมไร้เงินสด” ได้จริงๆ นอกจากความโปร่งใสในการซื้อขายและเปลี่ยนและความเป็นระเบียบ สะดวกสบายต่อประชาชนที่ใช้แล้วยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะนำระบบตัวนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างความโปร่งใสให้องค์กรอื่นๆ ของภาครัฐก็เป็นได้
ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/article/topjirayus11052563