สางระบบเครดิตบูโรแก้หนี้ท่วม ปลดล๊อคช่วยคนไทยเข้าถึงสินเชื่อ
จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) พบว่าหนี้ครัวเรือนไทยได้พุ่งสูงถึง 16.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของ GDP ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากข้อมูลของเครดิตบูโรระบุว่า ในจำนวนหนี้ทั้งหมด 13.6 ล้านล้านบาทที่อยู่ในระบบ มีสัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึงร้อยละ 8 หรือราว 1.09 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “สถานการณ์หนี้เสียของไทยในขณะนี้อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยหนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงถึง ร้อยละ 32 อยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท ในขณะที่หนี้เสียของสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.2 อยู่ที่ 1.99 แสนล้านบาท หากภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวเช่นนี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้จำนวนมากกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงในระบบการเงินของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะกลายเป็นหนี้เสียก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดของลูกหนี้จำนวนมากที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรือตกงาน ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว กลายเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมากขึ้นเรื่อย ๆ
ระบบเครดิตบูโรที่มุ่งเน้นการจัดเก็บประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ แม้จะมีข้อดีในการคัดกรองลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในทางกลับกันก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้ที่เคยมีปัญหาในอดีตไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคาร หรือแม้แต่ครัวเรือนที่ต้องการกู้ยืมเงินมาประคองชีวิต ล้วนถูกปิดกั้นโอกาสทางการเงินไปโดยปริยาย ระบบเครดิตบูโรจึงกลายเป็นเสมือนคุกขังคนไทยไม่ให้กลับมาลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มุ่งสร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม
นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้กล่าวในวันเข้ารับตำแหน่งว่า “การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่งเป็นวาระเร่งด่วนสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องปลดล็อกปัญหาหนี้สินของประชาชนควบคู่ไปกับการสร้างรายได้” โดยนายพิชัยระบุว่าจะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างครอบคลุมและตรงจุด
ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นายพิชัยและทีมเศรษฐกิจต้องเร่งแก้ไข คือการผลักดันโครงการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐอย่างดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังคงมีความล่าช้าในการดำเนินงาน โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายให้ประชาชนถึง 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า และรวดเร็วทันการณ์ อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ หากปราศจากการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างระบบเครดิตบูโรที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อ
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้กล่าวย้ำว่า พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การดำเนินนโยบายการเงินใด ๆ จะต้องคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน
จากข้อมูลของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มียอดคดีฟ้องร้องลูกหนี้รวมแล้วสูงถึง 6.43 แสนคดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 4.58 แสนคดี และคดีอาญา 1.84 แสนคดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่มาจากการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ คาดว่าคดีฟ้องร้องในปี 2567 จะทะลุเกิน 1 ล้านคดีอย่างแน่นอน ส่งผลเสียอย่างมากต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและครอบครัว ความยากจนและหนี้สินที่รุมเร้าจะยิ่งผลักให้ครัวเรือนเปราะบางลงไปอีก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายการขจัดความยากจนทุกรูปแบบตามวาระ SDGs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งปฏิรูประบบเครดิตบูโรครั้งใหญ่ อาทิ การจัดตั้งกองทุนค้ำประกันสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ติดบูโร การปรับเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงให้ยืดหยุ่น หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตใหญ่ในครั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการสร้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมอีกด้วย
การปล่อยให้ระบบเครดิตบูโรเป็นตราบาปติดตัวลูกหนี้ไปตลอดกาล โดยไม่มีโอกาสแก้ตัว ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เสมือนการจองจำคนไทยนับล้านให้ติดคุกแห่งหนี้ โดยไม่มีวันได้ออกมาสู้ชีวิตใหม่ได้อีก ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเรายังจำต้องยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิม ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อ เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน ในทางกลับกันหากรัฐบาลคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือกันกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เชื่อว่าโอกาสที่คนไทยและธุรกิจไทยจะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอีกต่อไป