Banner 211

ซาฮาราก็แค่ปากซอย วิกฤตอีสานดินเค็ม เสี่ยงเป็นทะเลทราย

ประเทศไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่ มีประชากรประมาณ 70 ล้านคน และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในปี 2564 มีที่ดินซึ่งใช้ในการเกษตรมากถึง 149 ล้านไร่ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยจะเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรมากมายมาเป็นเวลานาน อีกทั้งอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีดิน ไม่มีเรา” แต่ดินอันเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศไทยนั้น นับวันกลับยิ่งเสื่อมโทรมลง ปัญหาเกิดจากอะไรและใหญ่แค่ไหน The Sharpener มีคำตอบครับ

shutterstock 320371778 Large

ภาคการเกษตรถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย จากข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด นับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ที่สุด ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางการเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง  เช่น ในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยถือเป็นแชมป์โลกส่งออกยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน และ มังคุด (ข้อมูล worldtopexport ของ กระทรวงพาณิชย์) นอกจากนี้ยังมีสินค้าส่งออกอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับ Top 3 ได้แก่ ข้าว น้ำตาล และ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพผู้ผลิตอาหารที่สำคัญ มุ่งไปสู่เป้าหมาย “ครัวไทยไปครัวโลก” (Kitchen of the World) นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้ปี 2566 นี้เป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรไทย พร้อมจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ในอำเภอและตำบลทุกจังหวัด เพื่อเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรและปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่

shutterstock 380217019 Large

แต่ในทางกลับกัน การจะสร้างผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรถูกใช้งานอย่างหนัก ผสมรวมกับการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบำรุงดิน นำมาซึ่งปัญหาดินเสื่อมสภาพจากสาเหตุต่าง ๆ  เช่น การถูกแรงกดทับจากเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ ส่งผลให้โครงสร้างดินถูกทำลาย ช่องว่างในดินเล็กลงจนไม่ปล่อยให้น้ำและอากาศไหลผ่าน ไหนจะปัญหาดินขาดแร่ธาตุ เนื่องจากถูกพืชที่ปลูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าดูดไปไว้ในส่วนของลำต้น ใบ ดอก และผล ซึ่งจะถูกเก็บเกี่ยวและนำส่วนต่าง ๆ ออกไปจนหมด ทำให้ต้องหันมาพึ่งปุ๋ยเคมี แต่การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ก็นำไปสู่โครงสร้างดินเสื่อมสภาพ พืชไม่สามารถนำแร่ธาตุจากปุ๋ยไปใช้ได้เต็มที่ และส่งผลสะท้อนกลับมาในรูปของผลผลิตที่น้อยลง แม้จะใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

shutterstock 2200040981 Large

ไม่เพียงแต่คนที่ทำให้ดินเกิดปัญหา ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว ดินในหลายพื้นที่ก็มีปัญหาของดินเองตามธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งดินเปรี้ยวจัด ดินทราย ดินอินทรีย์ ดินตื้น แต่ปัญหาที่แก้ยากและเกิดในหลายพื้นที่ ได้แก่ ดินเค็ม โดยในพื้นที่ดินเค็มจะมีเกลือละลายอยู่ในปริมาณมากมาจากการสะสมได้หลายรูปแบบ เช่น การละลายของชั้นหินเกลือใต้ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ในพื้นที่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อนอย่างภาคกลาง จะมีตะกอนน้ำกร่อยอยู่ใต้ตะกอนน้ำจืด และเมื่อใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม เช่น นําน้ำใต้ดินที่เค็มมาใช้ในการเกษตร และการชลประทานมากเกินไปอย่างไม่เหมาะสม ทําให้เกลือเคลื่อนย้ายมาสู่ผิวดิน เกิดการสะสม สังเกตได้โดยง่ายจากคราบเกลือสีขาวโพลนบริเวณหน้าดินโดยเฉพาะในฤดูแล้ง หากเราปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็ม พืชจะแสดงอาการใบไหม้ ลำต้นแคระแกร็น ขาดน้ำ เพราะความเข้มข้นของเกลือในดินมีมากกว่าในพืช พืชจึงไม่สามารถดูดน้ำได้ดีพอ อีกทั้งพืชจะดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดได้น้อยลง เช่น โพแทสเซียม เพราะพืชจะดูดซึมโซเดียมในเกลือเข้าไปด้วย ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร อีกทั้งยังเป็นพิษจากธาตุโซเดียมและคลอไรด์ที่มากเกินไป จึงเป็นที่แน่นอนว่าเราไม่สามารถปลูกพืชและให้ผลผลิตที่ดีได้ในพื้นที่ดินเค็ม

Soil salinity potential map Northeast Thailand
แผนที่พื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
messageImage 1688481808412
ตัวอย่าง ภาพดินเค็ม

จากปัญหาเกลือ ๆ ดังกล่าว ทำให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปมากถึง 11.5 ล้านไร่ กระจายตัวอยู่เกือบทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดหนองบัวลําภู มุกดาหาร และเลย) คิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนในภาคกลางและดินเค็มชายทะเลอีกประมาณ 2 ล้านไร่ จึงมีความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มให้กลับมาปลูกพืชได้ในหลายวิธี เช่น การชะล้างดินร่วมกับการสร้างบ่อเก็บกักน้ำเค็ม การปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุปรับปรุง รวมไปถึงการปรับปรุงพันธุ์พืชทนเค็ม อีกทั้งในปัจจุบันทางกรมพัฒนาที่ดินได้สร้างบริการ E-Service ตรวจสอบคุณภาพดินเพื่อการเกษตรฟรี โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงเก็บตัวอย่างดินตามข้อกำหนด พร้อมทั้งรายละเอียดของตัวอย่างดิน นำส่งกรมพัฒนาที่ดินด้วยตัวเองหรือทางไปรษณีย์ก็ทำได้ เลือกรายการที่ต้องการวิเคราะห์ กรอกข้อมูลผู้จัดส่ง เลือกที่อยู่ของแปลงจากแผนที่ และ รายละเอียดการเพาะปลูก รอรับผลวิเคราะห์ภายใน 60 วัน เท่านี้เราก็ทราบว่าดินขาดแร่ธาตุใด เหมาะสมแก่การปลูกพืชชนิดไหน รวมทั้งมีแผนการปลูกระยะยาวมานำเสนออีกต่างหาก โดยถ้าใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://osd101.ldd.go.th/osdlab/register.php

แม้ว่าจะพอมีแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องดินเค็มอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามไทยคงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาใหม่ที่เรียกได้ว่าไม่น่าเป็นไปได้แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น อย่าง การกลายเป็นทะเลทราย (Desertification) เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ประกอบกับการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ สิ่งปกคลุมผิวดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท จึงเสี่ยงเกิดแล้งถาวรและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะการกลายเป็นทะเลทรายในหลายพื้นที่ ดังการวิเคราะห์แบบจำลองของกรมพัฒนาที่ดินได้ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่เสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายถึง 6.93 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.17 ของประเทศ กระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่า ประเทศจะสูญเสียเงินไม่น้อยกว่า 3,800 ล้านบาท 

Screenshot 2566 07 04 at 21.47.19 1

ยังถือเป็นเรื่องโชคดี ที่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่อย่าลืมว่าในขณะนี้เรากำลังอยู่ภายใต้ภาวะโลกรวนที่ภูมิอากาศแปรปรวนตลอดเวลา หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตร ยังแกล้งมองไม่เห็น และยังไม่ช่วยแก้ปัญหาสภาพดินอย่างจริงจัง ก็ไม่แน่ว่าอนาคตกันใกล้ ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็อาจกลายเป็น ทะเลทรายซาฮาราได้เช่นกัน

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner