Banner 209 01 1

ติดเส้นศูนย์สูตรแล้วไง เมื่อลอดช่องจะดับร้อนด้วย “Cooling Singapore”

สิงคโปร์” ประเทศขนาดจิ๋วที่มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่กลับอัดแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ส่งผลให้ความหนาแน่นของประชากรบนเกาะเล็ก ๆ ปลายแหลมมลายูแห่งนี้จัดอยู่ใน top 3 เป็นรองเพียงแค่มาเก๊าและโมนาโกเท่านั้น อีกทั้งชัยภูมิของประเทศนี้ก็ไม่ธรรมดา ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาเพียง 1 องศา ด้วยสภาพอากาศแบบร้อนชื้นศูนย์สูตรจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนจัด จนอาจส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทุ่มเทเวลาตลอด 6 ทศวรรษเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากความมุ่งมั่นของประเทศเล็กพริกขี้หนูที่หวังจะสร้างเมืองในฝันเพื่อทุกคน พวกเขาทำอย่างไร และทำไมต้องทำ The Sharpener มีเรื่องราวดี ๆ มาฝากกัน

shutterstock 535051699

หลังจากที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี ค.ศ. 1965 คนสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรม และการอพยพเข้ามาของแรงงานต่างชาติ นำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเมือง ซึ่งถือเป็นแหล่งที่อยู่ของประชากรเหล่านี้ ผนวกกับความเปราะบางของประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนอาจทำให้เกาะสวรรค์แห่งนี้จมหายลับไปในทะเล และที่มากไปกว่านั้นสิงคโปร์ยังเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” หรือ “Urban Heat Island” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เมืองสัมผัสได้ถึงความร้อนมากกว่าบริเวณโดยรอบจากการดูดกลืนความร้อนของวัตถุต่าง ๆ เช่น คอนกรีต ยางมะตอย เป็นต้น ล้วนส่งผลโดยตรงกับผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในเขตเมืองเฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ตามข้อมูลของ Barcelona Institute for Global Health หรือ ISGlobal ระบุว่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีสถิติผู้เสียชีวิตในเขตเมืองจากอาการ Heat Stroke มากถึงร้อยละ 4 ซึ่งเป็นผลพวงจาก “Urban Heat Island” สำหรับสิงคโปร์เองก็กำลังประสบกับสภาวะนี้ด้วยเช่นกันจากร่องรอยที่พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเขตเมืองกับชนบทกำลังต่างกันถึง 7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

The effect of Urban Heat Island UHI
ภาพจาก : https://blog.forumias.com/urban-heat-island-and-its-impact/

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงมีดำริจัดตั้งโครงการ “Cooling Singapore” รวบรวมนักวิจัยระดับแนวหน้ามาเพื่อศึกษาแนวทางบรรเทาปรากฏการณ์นี้ให้กับเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเริ่มจากสิงคโปร์ก่อนเป็นที่แรก และแน่นอนว่าหนึ่งในแนวทางคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองซึ่งถือเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ทำมาโดยตลอด นับแต่ปี ค.ศ.1967 ตามวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู  เพราะต้นไม้เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิ เนื่องจากกระบวนการระเหยของน้ำช่วยให้อากาศโดยรอบเย็นลงได้ อีกทั้งร่มเงาจากต้นไม้ยังช่วยดูดซับความร้อนของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้ลดลงได้ ตัวอย่างของพื้นที่สีเขียวในเมืองอันโด่งดังของสิงคโปร์คงไม่พ้น “สวนพฤกษศาสตร์ การ์เด้น บายเดอะเบย์” ไม่เพียงแค่ต้นไม้เท่านั้น ภายในอาคารที่เชื่อมต่อไปยังอาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า หอประชุม โรงแรม หรือคาสิโน ยังประกอบด้วยระบบทำความเย็นด้วยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกซ่อนตัวอยู่ การทำความเย็นด้วยวิธีนี้ช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึงร้อยละ 40 หากเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานของเครื่องทำความเย็นอื่น ๆ เทียบเท่ากับการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนไปได้ถึง 10,000 คัน อีกทั้งสิงคโปร์ยังมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้มากขึ้นอีก 1 ล้านต้น ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ

messageImage 1686388109391
ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ปลูกต้นติ้วขาว เมื่อปี ค.ศ.1963

ในประเทศที่มีความหนาแน่นเขตเมืองสูงอย่างสิงคโปร์ยังจําเป็นต้องอาศัยการออกแบบผังเมืองที่มีคุณภาพ “Cooling Singapore” ได้ออกแบบเมืองและอาคารใหม่เพื่อลดผลกระทบจากความร้อนให้ได้มากที่สุด ทั้งการสร้างหน้าต่างให้มีลมถ่ายเทได้ดี การออกแบบให้อาคารมีรูปทรงเรขาคณิตเพิ่มพื้นที่ร่มเงา และการกำหนดให้มีแหล่งน้ำลดการปลดปล่อยความร้อนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพยายามลดการเผาไหม้ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตเมือง ดังจะเห็นได้จากความพยายามผลักดันให้ระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งย้ายโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปให้ห่างจากตัวเมือง รวมถึงเปลี่ยนพื้นที่หลังคาของทุกอาคารให้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ถึงแม้ปัจจุบันวิธีนี้ยังจะมีข้อจำกัดแต่หากทำได้สำเร็จก็คาดว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมได้ถึงร้อยละ 20 – 25 เลยทีเดียว 

20210409230050OuRkW
Cooling Singapore

และด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ของสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนที่ดีในการก่อสร้างโครงการน้อยใหญ่เพื่อหลีกความผิดพลาดที่อาจส่งผลเสียร้ายแรงกับประเทศได้ “Cooling Singapore” จึงสร้าง “Digital Urban Climate Twin” หรือ DUCT โมเดลวิเคราะห์ผลกระทบจากการก่อสร้างโดยจำลองสภาพแวดล้อมจริงซึ่งรวมถึงสภาพอากาศ โครงสร้างทางกายภาพ ความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ บรรจุเข้าไว้ในโมเดลนี้ด้วย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทดสอบสร้างความมั่นใจก่อนที่พวกเขาจะนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างจริง ซึ่งแน่นอนว่าโมเดลเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหา Urban Heat Island อยู่ด้วยเช่นกัน

image.imageformat.930.1175314959

แม้จะยังไม่สามารถจัดการกับ Urban Heat Island ได้อย่างสมบูรณ์ แต่คนสิงคโปร์กว่าเจ็ดล้านก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่าพวกเขายังพอมีหนทางรับมือกับความเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ในโครงการเมกะโปรเจคอย่าง Cooling Singapore โดยสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ไม่ใช่แค่ “เงินเท่านั้นที่น๊อคเอฟรี่ติง” แต่ต้องอาศัยความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นของคนในชาติร่วมด้วยจึงจะช่วยให้ประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ น่าเสียดายที่หลายประเทศรวมถึงพี่ไทย​ ธนบัตรยังไม่หนาพอที่จะดับร้อนสู้โลกรวนได้เหมือนอย่างที่สิงคโปร์ทํา

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner