Banner 208 012

กล้าไม้ฟรี…แจกแล้ว…ไปไหน 

นอกจากวันโปรโมชั่นแห่งเดือนอย่าง 6.6 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปแล้ว ช่วงต้นเดือนมิถุนายนยังมีวันสำคัญที่ทำให้เราได้แช่มชื่นฉ่ำเย็นใจกับวันวิสาขบูชาที่นอกจากจะได้หยุดพาครอบครัวไปเวียนเทียนที่วัดกันแล้ว ความสำคัญของวันนี้ยังถือเป็น “วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ” อีกด้วย ซึ่งปีนี้ที่ไล่เลี่ยตามติดกันมาเลยคือวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นทั้งทางภาครัฐและเอกชนออกแคมเปญรณรงค์ชวนรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากมายอย่างกิจกรรมของเครือเซ็นทรัล รีเทล ที่จัดร่วมกับกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “CENTRAL / ROBINSON LOVE THE EARTH 2023” ชวนคนไทยร่วมกันปลูกต้นไม้ 100,000 ต้นทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าภารกิจผลิตและแจกจ่ายกล้าไม้ฟรีให้กับประชาชนตลอดทั้งปีย่อมตกเป็นของส่วนผลิตกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ที่มีศูนย์เพาะชำกล้าไม้ 18 ศูนย์ และสถานีเพาะชำกล้าไม้ทั่วประเทศอีก 112 แห่ง

messageImage 1686299114702
แผนที่

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา เพียงปีเดียว กรมป่าไม้สามารถผลิตกล้าไม้และแจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และโรงเรียน รวมถึงประชาชนที่สนใจไปแล้วมากถึง 34 ล้านกล้า นับเป็นตัวเลขเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศ แต่หลายคนก็อาจตั้งข้อสังเกตว่า ปลายทางของน้องกล้าไม้นับล้านเหล่านี้ได้ถูกนำไปปลูก ณ แห่งหนตำบลใดกันบ้าง และวันนี้เติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้แสดงแสนยานุภาพช่วยชาติดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ไหนแล้ว

ที่มา สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้

Mario Canopy จึงได้พยายามติดตามหาคำตอบให้กับชุดคำถามนี้ โดยพบตารางสรุปผลการติดตามและประเมินผลการแจกจ่ายกล้าไม้ ประจำปี 2565 ของส่วนการผลิตกล้า กรมป่าไม้ เผยว่า ผู้ขอรับกล้าไม้ส่วนใหญ่ได้นำกล้าไม้ไปปลูกในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้สอยรวมกันถึงร้อยละ 93.16 ในขณะที่การปลูกเพื่อการค้ามีเพียงร้อยละ 4.56 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนภาพความสำเร็จของกิจกรรม CSR รักษ์โลกที่ทุกภาคส่วนขยันขันแข็งชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีอีกตัวชี้วัดหนึ่ง แต่ดูเหมือนอีกฟากหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนให้หันมาพัฒนาธุรกิจสร้างสวนป่าเศรษฐกิจยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

shutterstock 108893414

สำหรับเจ้าตลาดผู้ผลิตไม้จากสวนป่ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซี่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งสร้างสรรค์สวนป่าเศรฐษกิจเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันมีสวนป่าในการดูแลทั้งสิ้น 236 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นสวนป่าเศรษฐกิจมากกว่า 1.1 ล้านไร่ แม้ในแต่ละปี อ.อ.ป. จะผลิตไม้ป้อนตลาดได้จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศจึงทำให้ไทยยังต้องนำเข้าไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2564 กรมป่าไม้รายงานว่าประเทศไทยนำเข้าไม้สักมูลค่ากว่า 190 ล้านบาท และไม้ในกลุ่มยางนาอีกกว่า 111 ล้านบาท  นี่เองจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ทำไมรัฐจึงหันมาส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำที่ดินในครอบครองมาทำสวนป่าเศรษฐกิจกันเพราะในน่านน้ำนี้ดูท่าจะยังมีโอกาสที่สดใสรออยู่นั่นเอง 

shutterstock 2263883635

และที่ช่วยปลุกให้สวนป่าเศรษฐกิจกำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่สดใสสุด Happening ท่ามกลางกระแสอุณหภูมิโลกที่ร้อนระอุ นั่นคือ การประกาศตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของไทยบนเวที COP27 เมื่อปีกลาย ปักธงกันไว้แล้วว่าในปี ค.ศ. 2050 ทั้งการปล่อยและการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยต้องสมดุลกันให้ได้ในสมการ “ปล่อย = ดูด” โดยมีหมุดหมายเป็นจำนวน 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังต้องการพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกถึง 15.87 ล้านไร่ ภายในปี 2580 ในขณะที่ปี 2564 ยังมีพื้นที่สวนป่าเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 76,791 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 เท่านั้น

messageImage 1686298937508
Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner