Banner 226 01 02

จุฬาฯ ชวน “หวานน้อยลงหน่อย” ห่วงคนไทย เสี่ยงภัยเบาหวาน จับมือสตาร์ทอัพสร้างแพลตฟอร์มคุมอาหาร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ ปล่อยแคมเปญ “หวานน้อยลงหน่อย” ชวนคุมอาหารทันที ห่วงคนไทยกว่า 4 ล้านคนป่วยเบาหวาน ระดมภาคีเครือข่ายสตาร์ทอัพเร่งสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำ เสริมภารกิจกรมควบคุมโรค

6VIT8421

เมื่อวันที่ 14  กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 16 เปิดโครงการรณรงค์หวานน้อยลงหน่อย โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน พร้อมด้วย ทันตแพทย์หญิง ดร.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วรกันต์ บูรพาธนะ Head of Technology & Innovation บริษัท อินโนบิค เอเชีย จำกัด รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี  อินโนฟูด จำกัด ให้เกียรติร่วมเสวนา

6VIT8546

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมฟังเสวนาใจความตอนหนึ่งว่า “ทุกท่านล้วนเป็นภาคีเครือข่ายที่ผนึกกำลังทำภารกิจสำคัญ ๆ ระดับชาติและนานาชาติกับจุฬาฯ ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องป่วยไข้ไม่สบายของพี่น้องคนไทยที่เมื่อทราบตัวเลขหลักล้านแล้วก็ชวนหวั่นใจให้เราชาวจุฬาฯ และภาคีเครือข่ายต้องมาขบคิดกันหาทางแบ่งเบาภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของพวกเราคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขออาสาเป็นอีกแรงหนึ่งในภารกิจนี้ได้เพราะเรามีศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ที่กำลังทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้าน Biomedical Engineering อย่างขะมักเขม้น ซึ่งผนึกกำลังกันข้ามคณะ ทำงานแบบสหศาสตร์หลายสาขา มุ่งสร้างภาคีเครือข่ายชวนกันเข้ามาคนละไม้คนละมือ ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญของพวกเขาที่ผมอยากชวนให้ทุกท่านติดตามและเป็นกำลังใจให้คณาจารย์และนักวิจัยกลุ่มนี้ ซึ่งนับว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ คล่องตัว และพร้อมพัฒนางานที่มีความหมายตอบโจทย์ความต้องการของสังคม อย่างที่เรามักพูดกันจนติดปากว่า “เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ ซึ่งเราคงตอบท่านเป็น “Innovations” และเป็น “Innovations for Society”

6VIT8517

รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช กล่าวว่า “เรามีพันธกิจสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์นำออกมารับใช้สังคมด้วยงานวิจัยหลากหลายสาขา ทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อวัยวะเทียม ระบบนำส่งยา และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เพื่อให้การรักษาและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเราให้ความสนใจกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่คุกคามสุขภาวะคนทั่วโลก คือโรคเบาหวานที่เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นอีกมาก เราจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวานที่ครอบคลุมระบบ Telemedicine, Non-invasive optical fiber sensor ตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากสารบ่งชี้ในลมหายใจ Bioinformatics and AI รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมและการรักษาผู้ป่วย และนวัตกรรมรักษาโรคทั้งระบบนำส่งอินซูลิน แผ่นปิดแผล และแผ่นรองรองเท้าลดแผลกดทับที่จะนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำเฉพาะบุคคลและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและกลุ่มเสี่ยงเสริมภารกิจกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาได้เต็มรูปแบบแล้วเสร็จภายในปี 2570”

6VIT8869

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด กล่าวว่า แนวทางการใช้ โภชนบำบัดมาบูรณาการเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญโดยนักกำหนดอาหารจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์จำแนกลุ่มผู้ป่วยตามการแปลผลระดับน้ำตาลในเลือด และจะจัดสรรวัตถุดิบนำนวัตกรรมอาหารเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง Eggyday (เอ้กกี้เดย์) ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นโซลูชั่นออกแบบเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วย มากกว่า 30 เมนู ตามหลัก 3 ใช่ ห่างไกล “เบาหวาน” ได้แก่ ปริมาณที่ใช่ เมนูที่ใช่ และส่วนผสมที่ใช่ โดยนำมาใช้บนระบบ LINE Official “หวานน้อยลงหน่อย” เพื่อดูแล ติดตาม และเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถแอดไลน์เข้าสู่ระบบได้เพียงสแกนที่ QR Code หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/scwioDB

6VIT9008

จากนั้น เวลา 11.30 น. ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย บริษัท ทานดีอินโนฟูด จำกัด บริษัท เดอะชาร์พเพ็นเนอร์ จำกัด บริษัท พานาคูรา คลินิก จำกัด และ บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน” โดยมี รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ,​นพ.ดร.สาครินทร์ บุญบรรเจิดสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด ดร.ธีรธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด คุณกิตติศักดิ์ เพ็ชรหาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะชาร์พเพ็นเนอร์ จำกัด, ดร.บารมี นวนพรัตน์สกุล กรรมการบริษัท พานาคูรา จำกัด  ผศ.ดร.สถาพร. งามอุโฆษ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ร่วมลงนามฯ ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้นเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคเบาหวานและสร้างสุขภาวะที่ดีของประชากรไทย และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยในสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยจะร่วมกันจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป 

1VIT0691

โอกาสนี้ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมเเละธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีและเป็นสักขีพยานด้วย

1VIT0607
1VIT0659
1VIT0732
6VIT8374
6VIT8428
6VIT8438
6VIT8635
6VIT8734
6VIT9069
6VIT9164
1VIT0820
6VIT8486
หวานน้อยลงหน่อย1
Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner