Banner 207

กระทรวงพาณิชย์ ปิ๊งไอเดียผนึกกำลัง จุฬาฯ หนุนสตาร์ทอัพสร้างเศรษฐกิจใหม่โต 5 หมื่นล้านบาท ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา พาคนไทยหนีกับดักรายได้ปานกลาง

21 เม.ย.65 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างงานวิจัยขายได้ หนุนสตาร์ทอัพไทยสร้างธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท

S 74907704

นายสินิตย์ เลิศไกร เปิดเผยว่า “การนำทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน โดยการลงนาม MOU ในวันนี้เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความมุ่งหมายเดียวกันขับเคลื่อนประเทศด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย”

S 74907698

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับสถาบันการศึกษาของไทย โดยเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อีกทั้งมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็งกว่า 300 บริษัท ด้วยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ ผ่านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท และสามารถนำผลงานวิจัยที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยมาสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีขนาดตลาดมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน”

S 74907697

ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเราผลักดันให้นิสิต คณาจารย์ และนักวิจัย ก้าวเข้ามาร่วมเดินบนวิถีใหม่ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ร่วมกันนำงานวิจัยที่มีความหมายต่อการพัฒนาประเทศลงจากหิ้งและนำไปสู่ห้างหรือภาคธุรกิจ (Research to Commercial) โดยเฉพาะกลุ่ม Deep Tech Startups กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ซึ่งเราทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านแพลตฟอร์มการพัฒนาการนำส่งยาเข้าร่างกายมนุษย์วิธีใหม่ ๆ การทดสอบยาและวัคซีนในระดับสัตว์ทดลองและมนุษย์ รวมไปถึงการผลิตให้ได้มาตรฐานระดับสากล ต่อยอดให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาและธุรกิจใหม่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีมูลค่าโตได้อีกมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท”

S 74907699

ความสำเร็จภายใต้ MOU ฉบับนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ นิสิต และผู้ประกอบการไทยในเครือข่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น อาทิ สารสกัดโปรตีนพืช จากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สารละลายไฟโบรอินจากไหมสร้างระบบนำส่งยาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จากบริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด นวัตกรรมคาร์บอนนาโนผลิตแบตเตอรี่รถ EV จากบริษัท คริสตัลไลต์ จำกัด นวัตกรรมแผ่นแปะเข็มระดับไมโครนีดละลายได้ จากบริษัท ไมนีด เทคโนโลยี จำกัด นวัตกรรมสเปรย์แอนติบอดี้พ่นจมูกยับยั้งและรักษาโควิด-19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นวัตกรรมเคลือบพื้นผิวต้านทานการกัดกร่อน จากบริษัท เนกซัส เซแร์เฟส อินโนเวชั่น จำกัด การพัฒนาคุณภาพน้ำบาดาลให้ดื่มได้ จากบริษัท ไอโฟลว์เทค จำกัด เท้าเทียมช่วยเหลือคนพิการ จากบริษัท มุทา จำกัด นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตในกลุ่มเครื่องสำอางปกป้องผิว จากบริษัท ทีดีเอช เพรสทีจเจียส เดอร์มาโทโลจิ จำกัด และและสารเคลือบผักและผลไม้ยืดอายุความสด จากบริษัท อีเด็น อะกริเทค จำกัด รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรู้แนวโน้มเทคโนโลยีโลก

S 74907703
S 74907702
S 74907700
S 74907701

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner