จุฬาฯ นำร่องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนเปิดเมือง ชู “ปัตตานีโมเดล” ต้นแบบป้องกันโควิดระลอกใหม่
วันนี้ (1 มิ.ย. 63) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังพันธมิตรปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกให้ชาวปัตตานีนับหมื่นด้วยชุดตรวจว่องไว ยก “ปัตตานีโมเดล” ต้นแบบจัดการชุมชนควบคุม โควิด-19 หนุนรัฐทำ Big Data รับมือระยะยาว
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัตตานีโมเดลเป็นโครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจังหวัดปัตตานีร่วมกันพัฒนาขึ้น เราได้เรียนรู้จากงานระบาดวิทยาชุมชนของปัตตานีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้นวัตกรรมชุดตรวจแบบว่องไว Baiya Rapid Covid-19 IgM IgG Test Kit ผลงานของคณะเภสัชศาสตร์และบริษัทสตาร์ทอัพจุฬาฯ ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ นำร่องตรวจภูมิคุ้มกันให้ชาวปัตตานีเป้าหมายจำนวนหมื่นรายก่อนเปิดเมือง เพื่อเก็บข้อมูลจัดทำระบบ Big Data ระดับชุมชน นำมาใช้วางแนวทางสร้างนวัตกรรมเชิงป้องกันให้คนไทยตรวจทั้งประเทศเพื่อให้ทราบสภาวะการติดเชื้อโควิด-19 รองรับการระบาดระลอกต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้ทัน และเป็นข้อมูลในระยะยาวให้รัฐใช้วางแนวทางการบริหารจัดการ เช่น กลุ่มใดควรได้รับวัคซีนก่อน กลุ่มใดควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อมา กลุ่มใดมีภูมิแล้ว กลุ่มใดควรตรวจก่อน เป็นต้น ซึ่งนี่ถือเป็นการนำนวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สู้กับวิกฤติโควิด-19 มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับคนไทย ตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่จุฬาฯ พร้อมเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานีวางระบบคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยและกักกันที่เข้มข้น นับว่าครอบคลุมที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะพื้นที่ของเรามีความเสี่ยงสูง มีการเดินทางเข้า-ออกจากต่างประเทศทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้ที่ผ่านมาเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน 92 ราย เสียชีวิต 1 ราย เราจึงออกนโยบายค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแบบเข้มข้น เอ็กซเรย์เต็มพื้นที่เสี่ยง และมีความพยายามแสวงหาวิธีการทางแล็บที่ยืนยันผลที่เป็นไปได้ในการคัดกรองคนจำนวนมาก ภายใต้ความคุ้มค่า ประหยัด และปลอดภัย จึงได้ประสานงานกับจุฬาฯ ขอใช้นวัตกรรมชุดตรวจว่องไวนี้นำมาใช้ตรวจร่วมกับ RT-PCR คัดกรองผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาภูมิคุ้มกันในชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และมีหลักฐานทางชีวภาพ จากปัตตานีโมเดลจะทำให้เราได้รูปแบบการดูแลชุมชนให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างมั่นใจ และจะขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดของเราต่อไป”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “ปัตตานีโมเดล เป็นการพัฒนานวัตกรรมการจัดการความไม่แน่นอน (Uncertainty Management) อันเกิดจากโรคระบาดโควิด-19 แห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ผลการศึกษาที่เราได้จากปัตตานีโมเดลทำให้เราทราบว่า เราสามารถใช้ Rapid Test เสริมความมั่นใจในช่วงที่สังคมยังมีความไม่แน่นอน ควบคู่ไปกับ RT-PCR ได้ โดยเฉพาะกับการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ Rapid Test ยังช่วยลดระยะเวลากักตัวใน Local Quarantine จากเดิม14 วัน ให้สามารถกลับไปกักตัวที่บ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใน Local Quarantine ทั้งหมดนี้ที่เราทำก็เพื่อเสริมความมั่นใจให้กระบวนการการทำงานของ State Quarantine และ Local Quarantine ที่เป็นด่านหน้าต้องรับกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย”
รายนามผู้ร่วมแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายแพทย์ วิพุธ พูลเจริญ
เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
นายแพทย์ ชัยรัตน์ ลำโป
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี
นายแพทย์ อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์
นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกัน
นายแพทย์ อรัญ รอกา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งยางแดง
ดำเนินรายการโดย
นายอธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร
กรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
ทันตแพทย์สมฤทธิ์ จิโรจน์วณิชชากร
ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ โฆษกศูนย์สื่อสารสถานการณ์โควิด19 จังหวัดปัตตานี