690493F1 9FE1 450A 8E3E 34E2CEABC53F

ดร. มหิศร ว่องผาติ กับภารกิจส่งหุ่นยนต์เซฟคุณหมอของ CU-RoboCovid

ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องหุ่นยนต์และ AI จะแย่งงานมนุษย์เป็นที่ถกเถียงกันแพร่หลาย และสร้างความกังวลให้กับทุกวิชาชีพ แต่กลายเป็นว่าเมื่อทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากโรคระบาดโควิด-19 เราได้เห็นการระดมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ “ด่านหน้า” ของการปะทะกับโรคอุบัติใหม่นี้ 

F08FB396 0D36 44F9 BD03 CA1664FD3C14

 ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Obodroid และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท HG Robotics พาเราย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของโครงการ CU-RoboCovid ที่กลุ่มนิสิตเก่าและทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท HG Robotics และ Obodriod ได้ตั้งเป้าที่จะผลิตหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์จำนวน 200 ตัว เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ผ่านการเปิดรับบริจาค นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยยังไร้มาตรการล็อกดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีจำกัด

จุดเริ่มต้นของโครงการ CU-RoboCovid คืออะไร  
โครงการนี้เริ่มต้นประมาณวันที่ 12-13 มีนาคม รุ่นพี่คณะเราเห็นตัวเลขของผู้ติดเชื้อโรคระบาดกำลังพุ่งสูงขึ้น เราทำงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์และได้พูดคุยกับคุณหมอว่าเราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง วันที่ 15 คุณหมอได้กรุณาให้เราไปที่โรงพยาบาล ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะพาเข้าไปในวอร์ดของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนแรก ๆ ที่อยู่ในห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) เราได้เห็นว่าผู้ป่วยยังช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ แต่หมอและพยาบาลที่เข้าไปตรวจจะต้องใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) และเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง ถ้าลืมหรือต้องการอุปกรณ์เพิ่ม คนที่ต้องเข้าไปก็ต้องใส่ชุดใหม่ ซึ่งเป็นความยุ่งยาก เรื่องที่สองคือ จะทำอย่างไรให้คุณหมอสามารถเดินตรวจคนไข้ที่ติดเชื้อค่อนข้างรุนแรงได้ โดยไม่ต้องเข้าไปเอง เพื่อลดความเสี่ยงของคุณหมอด้วย และสามารถจัดส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับคนไข้ได้ในระหว่างการตรวจ เลยกลายเป็น 2 โจทย์หลัก คือ อุปกรณ์ส่งข้าวส่งน้ำให้กับคนไข้ และอุปกรณ์ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์พูดคุยกับคนไข้ได้ หรือระบบการสื่อสารทางไกล (Telepresence) 

พอได้โจทย์แล้ว เราก็กลับมาที่คณะ เอาของในห้องแล็บมาทำต้นแบบอันแรก ใช้เวลาประมาณ 2 วัน แล้วเอาไปทดสอบที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้พยาบาลลองบังคับหุ่นยนต์ส่งของ แล้วนำฟีดแบ็กมาปรับปรุง หลังจากนั้นเราได้นำหุ่นยนต์ไปทดสอบในโรงพยาบาลอีก 2-3 แห่ง และแก้ไขจนเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ในตอนนี้ 

8E0C0183 9F91 4F29 81E3 6A630BBF0034

ใช้เวลาพัฒนาหุ่นยนต์แต่ละตัวนานแค่ไหน 
“ปิ่นโต” เป็นหุ่นยนต์ส่งของที่ค่อนข้างเรียบง่าย เหมือนกับถาดสแตนเลสที่บังคับได้ มีฟังก์ชันที่ค่อนข้างชัดเจน ใช้เวลาพัฒนาต้นแบบประมาณ 3 วัน เพราะเราไม่ได้ทำโครงสร้างเหล็กขึ้นมาเอง แต่ซื้อรถเข็นสำเร็จรูปสำหรับใช้ในโรงพยาบาลมาดัดแปลง และนำไปทดสอบทันที เรามีวงจรต้นแบบที่ใช้ในการแข่งขันหุ่นยนต์อยู่แล้ว และมีอุปกรณ์บางอย่างที่บริษัท HG Robotics ใช้ในการผลิตโดรน ก็นำมาใช้เป็นอุปกรณ์ตั้งต้น แล้วเลือกว่าจะเอาส่วนไหนมาเป็นอุปกรณ์ในการผลิตจริง แล้วออกมาเป็นหุ่นยนต์ขนาดไม่ใหญ่เกินไป สามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ค่อนข้างแคบได้ เพราะพื้นที่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีความวุ่นวายระดับหนึ่ง ถ้าหุ่นตัวใหญ่มาก น้ำหนักมาก ก็จะใช้งานลำบาก ส่วนซอฟต์แวร์กับหุ่นยนต์กระจกที่เป็นระบบสื่อสารทางไกลผ่านแท็บเล็ต (Telepresence) เราก็พัฒนาคู่ขนานกันมา เวอร์ชันแรกใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตอนนี้ระบบของเราค่อนข้างเสถียรแล้ว และใช้งานหลักในโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

ฟังก์ชันหลักของหุ่นยนต์กระจกคืออะไร 
เหมือนกับ VDO Intercom ครับ คุณหมอโทรคุยกับคนไข้ได้เลย โดยที่คนไข้ไม่ต้องรับสาย และไม่สามารถใช้งานหน้าจอได้ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลว่าอยากให้คนไข้โทรเข้ามาได้หรือเปล่า ซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นสามารถออกแบบเฉพาะแยกตามวอร์ดของโรงพยาบาลได้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล เช่น สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เริ่มจากติดตั้งในวอร์ด แล้วย้ายไปห้องฉุกเฉิน (ER) ตอนนี้ใช้ในห้องผ่าตัด และดัดแปลงการใช้งานไปเรื่อย ๆ ถามว่าทำไมไม่ใช้ LINE, Zoom หรือ Google Meet เหตุผลง่าย ๆ คือการเซ็ตอัพมันไม่สะดวก และเราตั้งใจให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงและชัดมากพอ เพื่อให้โรงพยาบาลใช้งานได้สะดวก เราเลือกแท็บเล็ตรุ่นที่ทนทาน กันน้ำได้ ตกไม่แตก และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ค่อนข้างแรงได้ 

หัวใจสำคัญของการออกแบบหุ่นยนต์สำหรับช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับโรคระบาดคืออะไร 
เราตั้งใจออกแบบให้คุณหมอและพยาบาลสามารถใช้งานได้ง่ายมาก ๆ ภายใน 5 นาที ก็เลยใช้ระบบบังคับด้วยมือซึ่งควบคุมค่อนข้างง่าย ตอนทำหุ่นยนต์ตัวแรก เราคิดว่าแบตเตอรีต้องอยู่ได้นานไหม ชาร์จได้ไหม คุณพยาบาลบอกว่าอย่าให้เขาต้องเปลี่ยนแบตเตอรีเองเลย เพราะมันจะเสีย เราเลยใช้แบตเตอรีที่ใหญ่ขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยน จากนั้นก็คิดต่อว่าเขาจะล้างอย่างไร ทีนี้เราจะทำให้สวยๆ ใส่ไฟเบอร์กลาสไม่ได้แล้ว เราเลยใช้สแตนเลส เพราะมันฉีดล้างน้ำได้เลย ไม่เสีย สาเหตุที่มันไม่สวย เพราะว่ามันกันน้ำได้ ทั้งแท็บเล็ตและตัวหุ่นยนต์ 

สาเหตุที่เราไม่ได้สร้างหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติก็คือ พื้นที่ในโรงพยาบาลค่อนข้างซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ย้ายโต๊ะ การทำหุ่นยนต์อัตโนมัติจึงค่อนข้างยากและไม่สะดวก การพัฒนาระบบอัตโนมัติโดยที่คนไม่ต้องเข้าไปยุ่งเลย แปลว่า AI ต้องก้าวหน้ามาก ๆ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนทำได้ หุ่นยนต์อัตโนมัติในตอนนี้ทำได้แต่งานที่เฉพาะเจาะจงมาก ๆ เพราะฉะนั้นการสร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับใช้ในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ เราต้องออกแบบทุกอย่าง ซึ่งพรุ่งนี้สภาพแวดล้อมอาจเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นมันจะต้องไม่สร้างภาระให้กับคนควบคุม และคุณหมอและพยาบาลยังต้องได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ หุ่นยนต์ปิ่นโตจึงถูกใช้ให้ส่งข้าวส่งน้ำเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้หมอหรือพยาบาลต้องคอยใส่ชุด PPE ซึ่งใช้เวลาเปลี่ยนชุดหนึ่ง 15-20 นาที

ปัญหาที่พบบ่อยในโปรเจ็กต์นี้คืออะไร 
เราอยากพัฒนาของที่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยเวลาจำกัด มันจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เราต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจุดนี้โอเคแล้ว และก็ตัดจบเลย เพื่อไปพัฒนาอย่างอื่นต่อ ตอนนี้เราพยายามแก้ไขและทำตัวต้นแบบให้ได้เร็ว ๆ เนื่องจากยอดรับบริจาคเข้ามาค่อนข้างเยอะ เรามีเป้าหมายว่าจะทำหุ่นยนต์ประมาณ 200 ตัว ปัญหาต่อมาคือ การผลิตของอย่างเดียวกัน 200 ชิ้น แปลว่าต้องใช้มอเตอร์ 400 ตัว ล้อ 400 ล้อ รีโมต 200 อัน ทุกอย่างคูณ 200 หมด แต่เรามีซัพพลายในประเทศไม่พอ เราจะเอาซัพพลายจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างไร นี่ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง แต่เนื่องจากบริษัท HG Robotics มีซัพพลายเออร์ที่พร้อมจะช่วยเต็มที่ พร้อมเร่งการผลิตเพื่อจัดส่งมาให้ทันเวลา ตอนนี้เราจึงได้ของสำหรับทำหุ่นยนต์ 100 ตัวแรกมาแล้ว และกำลังจะเตรียมของสำหรับการผลิตอีก 100 ตัว 

ทำไมเรามีซัพพลายเออร์ในประเทศไม่เพียงพอ 
ของที่เราใช้กันอยู่ มันไม่มีอะไรผลิตในประเทศไทยเลย พอเกิดวิกฤต เราไม่มีอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีมอเตอร์ เรามีแบตเตอรีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่แบตเตอรี่ที่ใช้งานทั่วไป ส่วนใหญ่สินค้าที่ใช้ก็ผลิตจากจีนเกือบหมด การสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ เราผลิตโครงสร้างในไทยได้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และวงจรบางส่วนทำขึ้นในประเทศ แต่ถ้าเราล้วงลึกลงไปจริง ๆ จะพบว่าไอทีมาจากเมืองนอก ซึ่งมันเป็นเหมือนกันหมดแทบทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย

เอกชนและภาครัฐควรลงทุนสนับสนุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้นหลังจากนี้ 
จริง ๆ แล้วหุ่นยนต์ออกแบบมาสำหรับงานประเภท 3D ตั้งแต่แรก คือ งานที่น่าเบื่อ (Dull) สกปรก (Dirty) และอันตราย (Dangerous) ซึ่งโควิด-19 มันมีครบทั้งสามอย่าง หุ่นยนต์เลยตอบโจทย์และลงตัว แต่จะทำอย่างไรให้ผลิตออกมาได้เร็ว ถ้าดูงบการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัทหรือหน่วยงานไทย จะเห็นว่าตัวเลขมันต่ำมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะสร้างเทคโนโลยีได้เอง แต่ตัวเลขไม่ขยับขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ถ้าเราไม่มีงบประมาณจากคณะและเงินบริจาคมาสนับสนุน เราจะไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์ด้วยมือได้เยอะขนาดนี้ และบริษัทเราก็ลองผิดลองถูกมาเยอะมากจนรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ ทำให้เราพัฒนาหุ่นยนต์ได้เร็ว แต่มันก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ เราก็ต้องยอมรับความผิดพลาด นำมาแก้ไข แล้วไปต่อ 

มีแผนจะพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือ AI ที่ใช้ในการแพทย์ด้านอื่นบ้างไหม ถ้าเกิดโรคระบาดใหญ่อีกในอนาคต 
ทางจุฬาฯ มีหุ่นยนต์ทางการแพทย์หลายตัว เช่น น้องนินจา ซึ่งมีเครื่องวัดอุณหภูมิด้วย มีหลายคนพยายามทำอยู่แล้ว ฝั่ง CU-Robocovid โฟกัสกับการพัฒนา “ปิ่นโต” ที่ใช้รับส่งยา อาหาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ กับระบบการพูดคุยกับคนไข้เป็นหลัก ส่วนฟีเจอร์อื่นสามารถเพิ่มได้ในอนาคต เพราะเรามีแท็บเล็ตที่มีกำลังสูงพอ ซึ่งคงเป็นหลังจากที่เราเคลียร์ในส่วนของเงินบริจาคและกระจายหุ่นยนต์ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว และหวังว่าหุ่นยนต์เหล่านี้จะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณหมอและพยาบาลเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยทั้งการรักษาและช่วยปกป้องตัวคุณหมอ คนไข้ และคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ที่ผ่านมาคนกังวลว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน แต่ตอนนี้หุ่นยนต์กลายเป็นฮีโร่ที่ช่วยเหลือมนุษย์แทน คิดว่ามุมมองเกี่ยวกับหุ่นยนต์จะเปลี่ยนไปอย่างไร 
มันก็ชัดเจนว่าเราไม่สามารถทนเชื้อโรคได้ คนที่ทำอาชีพที่อันตราย น่าเบื่อ และสกปรก เขาควรได้รับโอกาสที่ดีขึ้น เรามีบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ และไม่ควรเข้าไปเสี่ยง ก็เอาหุ่นยนต์เข้าไปจัดการแทน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจะ “แย่งงาน” หรือ “ช่วยให้ทุกอย่างมันดีขึ้น” มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนมากกว่า ถ้าวันนี้หุ่นยนต์ไปทดแทนคนที่ต้องทำความสะอาดถนนที่รถวิ่งเร็วมาก ๆ แล้วให้เขาเปลี่ยนมาควบคุมหุ่นยนต์หรือเป็นคนดูแลหุ่นยนต์ ได้ทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัยกว่านี้ โดยไม่ต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยง ถ้ามองในมุมนั้นได้ ผมว่าทุกคนจะเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะตอบโจทย์เรื่องนั้น ไม่มีใครอยากทำงานที่สกปรก อันตราย น่าเบื่ออยู่แล้ว แต่เขาไม่มีทางเลือก  

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าโควิด-19 เป็นตัวปั่นป่วนโลกในทุกมิติ (Disruptor) หรือไม่ก็เป็นตัวเร่ง (Accelerator) ที่กระตุ้นให้คนต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น คุณคิดเห็นอย่างไร  
ผมมองว่าเป็นตัวเร่ง และเป็นตัวบังคับเลือกโดยปริยาย เพราะว่ามันไม่มีตัวเลือกอื่น ณ ตอนนี้ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้อยากให้เกิดโรคระบาด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว คนที่พร้อมจัดการกับมัน ก็คือคนที่ดูแลเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ ก่อนหน้านี้งานที่อันตราย สกปรก หรือน่าเบื่อ เราก็ฝืนทนทำไปในระดับหนึ่งใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราต้องไปยุ่งกับโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต กลายเป็นว่าเราไม่เหลือหนทางในการป้องกันตัวเอง การใช้หุ่นยนต์ก็จะดูเมกเซนส์ขึ้นทันที จากที่คนเคยมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ 

ระบบสาธารณสุขไทยยังมีส่วนไหนที่ต้องแก้ไขหรือเสริมด้วยเทคโนโลยีไหม หรือเราควรมีนวัตกรรมแบบไหนเป็นมาตรฐานของงานบริการสาธารณสุข 
ผมคิดว่าสาธารณสุขของบ้านเรา “ดีและอยู่สบายมากๆ เมื่อเทียบกับที่อื่น”  บุคลากรทางการแพทย์ของเรามีคุณภาพค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว ภาพที่เหลือคงเป็นเรื่องสิ่งที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้พวกเขาทำงานในสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งจากข้างบน ข้างล่าง และจากรอบข้าง ความมั่นคงด้านสาธารณสุขควรจะชัดเจน เพราะบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เขาทำงานกันเกิน 120% อยู่แล้ว ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องนวัตกรรม แต่เราต้องมีระบบการจัดการ และนโยบายรัฐอีก 

ถ้าอย่างนั้นเราจำเป็นต้องกระจายเทคโนโลยีไปให้ถึงคนทุกกลุ่มมากที่สุดใช่ไหม 
ใช่ครับ จริง ๆ โครงการหุ่นยนต์ของเราทำมาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ตั้งแต่วันแรกที่ผมกับคุณสุขุม สัตตรัตนามัย หนึ่งในทีมงานไปเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาล เราทำพรีเซนเตชันแล้วส่งให้กับกลุ่มคนที่ทำหุ่นยนต์เพื่อบอกเล่าว่าเราเจออะไรมาบ้าง สถานการณ์เป็นแบบไหน ดีไซน์ต้นแบบของเราเป็นอย่างไร ทดสอบแล้วมีผลตอบรับอย่างไร สิ่งที่เราทำจะต้องไม่เป็นภาระหมอและพยาบาล แต่ต้องไปช่วยเขานะ สิ่งที่ได้รับกลับมาก็ค่อนข้างน่าสนใจ ถ้าสังเกตในข่าวก็จะเห็นหุ่นยนต์แบบปิ่นโตออกมาหลายตัวมาก มีน้องถาดหลุมของทีมวิจัยกองทัพอากาศ และน้องตะกร้า ซึ่งไอเดียคล้าย ๆ กันคือ หุ่นยนต์ส่งของที่ใช้รีโมตบังคับเพื่อให้คนใช้งานง่าย เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก็จะกระจายไปสู่วงกว้าง การแชร์ข้อมูลอย่างเปิดเผยและจริงใจมันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เทคโนโลยีพัฒนาต่อไปได้ และการให้เครดิตอย่างถูกต้องก็จะเป็นกำลังใจให้กับคนทำ 

ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้  
ถ้าตัดเรื่องเงื่อนไขด้านเวลาและทรัพยากรที่จำกัด สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เราเตรียมพร้อมมาก่อนโดยที่เราไม่รู้ว่าต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ เรามีทั้งอาจารย์และบุคลากรที่พร้อมจะช่วยเหลือ มีซัพพลายเออร์ มีคุณหมอที่พร้อมให้ข้อมูล มันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การนำเทคโนโลยีไปใช้ดำเนินงานเป็นไปได้จริง ถ้าเราจะต้องรับมือกับสิ่งที่รุนแรงมากกว่านี้ในอนาคต โดยที่ไม่มีความพร้อมมากกว่านี้ เราอาจจะรับมือไม่ได้เช่นกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้มันควรจะสื่อไปถึงคนที่รับผิดชอบในการวางนโยบายประเทศว่าความมั่นคงในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่ควรจะ Quick Win (ทำแบบเร่งด่วน เห็นผลเร็ว) ด้วยการไปซื้อเทคโนโลยีบางอย่างมา แล้วบอกว่าเราทำได้ โดยที่มันยังผลิตจากที่อื่น โดยคนอื่น และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาทำขึ้นมาได้อย่างไร ผมว่ามันไม่ใช่คำตอบสำหรับอนาคตที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นแน่ ๆ

ตอนนี้เราได้งบประมาณที่ค่อนข้างจะเพียงพอสำหรับการสร้างหุ่นยนต์ 200 ตัวและแท็บเล็ตประมาณ 700 ชุดที่จะส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น โรงพยาบาลก็จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในการรับมือกับโรคติดต่อทางการหายใจอื่นๆ เช่น วัณโรค ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อทางอากาศได้ 100% เพื่อให้บุคลากรไม่ต้องสัมผัสคนไข้โดยตรง หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ก็ยังต้องการอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ เพราะฉะนั้นสาธารณสุขไทยไม่ได้จบแค่โควิด-19 แต่มีโจทย์อื่นที่เราต้องช่วยเหลือกัน หรือแม้แต่การช่วยประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นจริงๆ ก็ต้องดูว่าเราควรจะไปทางไหนกันต่อ แต่เราหวังว่ามันจะจบลงและทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่งั้นเราอาจจะอดข้าวกันก่อนที่จะหายจากโรค 

เรื่อง : ปิยพร อรุณเกรียงไกร
ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก

ที่มา : https://www.creativethailand.org/article/people/32427/th#CU-RoboCovid
https://www.sanook.com/hitech/1498627/

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner