ถอดบทเรียน “ไฟป่าฮาวาย” เซ่นโลกเดือด คร่าชีวิต 115 ศพ ฉุดเศรษฐกิจวูบเฉียด 2 แสนล้าน
จากอุณหภูมิโลกในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ร้อนปรอทแตกจนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกต้องขอจดบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่โลกเราเคยเผชิญมา ร้อนไปถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ฤกษ์ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้โลกเราได้อัพเวลเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” (Global Boiling) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันชาวโลกก็ต้องอกสั่นขวัญแขวนกันอีกครั้ง เมื่อมลรัฐฮาวายแห่งสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับหายนะไฟป่าที่แผดเผาเกาะเมาวีให้มอดไหม้แทบทั้งเกาะนานนับสัปดาห์จนคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 115 ศพ และยังสูญหายอีกถึง 110 ราย
เกาะเมาวี ถือเป็นที่ตั้งของ “ลาไฮนา” เมืองหลวงเดิมของฮาวาย เป็นเกาะใหญ่อันดับ 2 ในบรรดาหมู่เกาะฮาวาย และนับได้ว่ามีชายหาดสวยงาม ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวมากมายต่างเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจกัน แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมาไฟป่าได้โหมกระหน่ำทำให้ที่นี่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อย่างเข้าบ่ายคล้อยของวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ชาวเมืองลาไฮนาต้องเผชิญกับไฟป่าหลายจุดผนวกกับกระแสลมกรรโชกแรงส่งผลให้ไฟป่าปะทุลุกลามอย่างรวดเร็วจนทั้งเมืองกลายเป็นทะเลเพลิง ประชาชนนับหมื่นต่างต้องหนีตายอย่างอลม่าน ซึ่งกว่ารัฐจะเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จรวมถึงค้นหาผู้เสียชีวิตตามซากปรักหักพัง ก็ใช้เวลานานถึง 4 สัปดาห์ ทำให้พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองหรือประมาณ 5,300 ไร่ กลายเป็นเถ้าธุลี สิ่งปลูกสร้างกว่า 2,200 หลังพังราบเป็นหน้ากลอง โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ของรัฐเมาวีได้เปิดเผยว่าเหตุการณ์นี้พบผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 115 ศพ และข้อมูลจากกรมตำรวจรัฐเมาวียังระบุอีกว่าขณะนี้ยังคงมีผู้สูญหายไม่ทราบชะตากรรมอยู่อีกถึง 110 ราย โดยสำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินสหรัฐคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณฟื้นฟูเมืองหลวงเก่าแห่งนี้สูงถึง 5,500 ล้านเหรียญ หรือกว่า 190,000 ล้านบาทเลยทีเดียว และจากหายนะไฟป่าฮาวายครั้งนี้ก็ได้ถูกจดบันทึกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุด รุนแรงเป็นอันดับที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา และยังนับเป็นไฟป่ารุนแรงที่สุดแห่งศตวรรษนี้ที่ทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติจนกลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ให้มวลมนุษยชาติต้องหาทางฟื้นฟูให้กลับมาได้ดังเดิมต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ประธานมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น และอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและตั้งข้อสังเกตกับ The Sharpener ว่า “เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งที่ตั้ง สภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศของหมู่เกาะฮาวายซึ่งรายล้อมไปด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกและมีอากาศร้อนชื้นเช่นนี้ การเกิดไฟป่ารุนแรงระดับนี้จึงนับเป็นเรื่องแปลกที่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อลองได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เจาะลึกลงไปจึงทำให้เราพบหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้ไฟลุกโหมไปทั้งเมือง โดยวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เราพบข้อมูลสำคัญจาก US Drought Monitor รายงานสภาพภัยแล้งระดับรุนแรงในเขตพื้นที่เมาวีเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึงร้อยละ 16 ผนวกกับเฮอริเคนดอราที่ขยับเข้าใกล้หมู่เกาะฮาวาย ส่งผลให้เกิดลมกรรโชกแรงและความชื้นต่ำ รวมไปถึงการแพร่กระจายของหญ้าต่างถิ่นที่เกษตรกรนำมาปลูกเพื่อเป็นอาหารของปศุสัตว์นั้นได้กลายมาเป็นเชื้อไฟอย่างดี เมื่อมีทั้งสองปัจจัยนี้มาประกอบกันจึงทำให้ไฟป่ายากจะควบคุม และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกเดือด และต้องจับตากันว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดได้ในพื้นที่ที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นรุนแรงได้อย่างบนหมู่เกาะกลางมหาสมุทร รวมถึงยังมีโอกาสที่อาจจะเกิดได้ถี่ครั้งขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ด้วยเช่นกัน”
นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ โดยหลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่ระบบการแจ้งเตือนภัย ดร.ปวราย์ ปาจิตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยพิเศษ บริษัท มาริโอ้ คาโนปี้ จำกัด สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “แม้ว่าฮาวายจะได้ชื่อว่ามีระบบสัญญานเตือนภัยสึนามิที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเครือข่ายสัญญาณไซเรนมากกว่า 400 เสา กระจายไปทั่วทุกเกาะรวมถึงเกาะเมาวี เพื่อใช้แจ้งเตือนภัยสึนามิ แต่เมื่อเกิดทะเลเพลิงครั้งใหญ่ในเมืองลาไฮนา เป็นที่น่าสังเกตว่ากลับไม่มีการแจ้งเตือนใดใดเนื่องจากสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินของเมาวีเกรงว่าการแจ้งเตือนจะทำให้ประชาชนโดยรอบบริเวณเกิดความสับสนกับการแจ้งเตือนภัยสึนามิ รวมไปถึงไฟป่ายังทำให้ระบบสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่าง ๆ ล่ม จึงทำให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยไฟป่าทางโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้การอพยพออกจากบ้านเรือนเป็นไปอย่างล้าช้า ไม่ทันการ นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินครั้งใหญ่ในที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องจำนวนนักผจญเพลิงและอุปกรณ์ควบคุมเพลิงที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับภัยพิบัติไฟป่ารุนแรงระดับนี้ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ถูกตัดขาดจากแผ่นดินโดยมีทะเลล้อมอยู่จึงทำให้ความช่วยเหลือด้านการส่งกำลังเสริมและกำลังบำรุงต่าง ๆ จากหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ข้างเคียงเป็นไปอย่างยากลำบาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ปฏิบัติการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้รวดเร็วทันท่วงที”
นอกจากการแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียและการส่งกำลังใจให้ฮาวายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์ได้อีกครั้ง ไทยเองคงต้องย้อนกลับมาถอดบทเรียนพิจารณาดูพื้นที่เกาะน้อยใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเมาวีของฮาวาย ทั้งเกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง เกาะเสม็ด รวมถึงเกาะแก่งอีกนับร้อยที่แม้จะยังไม่เคยเกิดภัยพิบัติไฟป่ารุนแรงลุกลามเข้าคลอกเมือง แต่ในสภาวะโลกเดือดเช่นนี้ก็มิอาจจะนิ่งนอนใจได้ รัฐบาลโดยกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจึงควรผนึกกำลังกันลงมาให้ความสนใจใช้เหตุที่เกิดขึ้นนี้ที่ฮาวายนี้เป็นกรณีศึกษาหามาตรการซักซ้อมเตรียมรับมือล้อมคอกไว้ก่อนที่วัวจะหายจนสายเกินเพลเพื่อลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติต่อไป
ที่มา :
www.russh.com/global-boiling-explainer/
www.bbc.com/news/world-us-canada-66465570
www.edition.cnn.com/us/live-news/hawaii-maui-wildfires-08-14-23/index.html
www.thaipbs.or.th/news/content/330540
www.washingtonpost.com/climate-environment/2023/08/25/maui-fires-hawaii-unaccounted-for-missing/
www.hawaiinewsnow.com/2023/09/04/latest-lahaina-fire-now-100-contained-death-toll-remains-115/