จับตา “พิษสไตรีน” กิ่งแก้วระเบิด ซ้ำเติมวิกฤตสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ
เสียงระเบิดกลางดึกจากโรงงานผลิคสารเคมีหมิงตี้ เคมิคอล ย่านกิ่งแก้ว สมุทรปราการ กลางดึกคืนวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ปลุกทุกความสนใจให้กลับมาพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองกันอีกครั้ง แม้ทะเลเพลิงได้เผาผลาญสิ่งปลูกสร้างอาคารโรงงานวอดวายเหลือทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพัง แต่ความเสียหายไม่ได้ส่งผลกระทบจำกัดอยู่เพียงชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเท่านั้น เมื่อสาร “สไตรีน” (Styrene) ปริมาณ 1,600 ตัน ที่ถูกเก็บไว้ในโรงงานแห่งนี้ถูกเผาวอดข้ามวันข้ามคืนนานกว่า 26 ชั่วโมง ความเสียหายจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นลูกโซ่ไปยังน้ำและอากาศ
“สไตรีน” เป็นสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตเม็ดพลาสติก จัดอยู่ในกลุ่ม Flammable Hydrocarbon มีสถานะเป็นของเหลว ระเหยและสามารถลุกติดไฟได้ง่าย โดยมีจุดติดไฟ (Flash Point) อยู่ที่อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส เหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ในครั้งนี้นอกจากจะก่อให้เกิดหมอกควันพวยพุ่งกระจายตัวเป็นวงกว้างในชั้นบรรยากาศลอยไปไกลนับสิบกิโลเมตรและแน่นอนว่าไม่ใช่หมอกควันธรรมดาเหมือนการเผาฟาง เผาหญ้า อย่างแน่นอน หากแต่เทียบได้กับการนำขวดน้ำพลาสติกความจุ 100 กรัม จำนวนมากถึง 16 ล้านขวดมาเผาพร้อมกันในคราวเดียว การดับเพลิงที่เผาไหม้สารชนิดนี้จึงไม่อาจทำได้โดยง่ายด้วยน้ำเปล่า เพราะตัวสารสไตรีนมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำอยู่ที่ประมาณ 0.909 g/CM3 ยิ่งนักผจญเพลิงระดมฉีดน้ำเข้าไปในกองเพลิงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้น้ำตกลงไปอยู่ชั้นล่างใต้สารนี้ เราจึงได้เห็นภาพทะเลเพลิงโหมไฟลุกโชนโชติช่วงขึ้นสูงสุดลูกหูลูกตาดั่งปรากฏในข่าวทุกสำนัก นั่นเพราะสไตรีนยังคงสัมผัสกับก๊าซออกซิเจนในอากาศอยู่อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
การเข้าควบคุมเพลิงไหม้ให้ได้ผลดีในสถานการณ์เช่นนี้จึงจำเป็นต้องใช้โฟมชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า “Alcohol Resistant Aqueous Film Forming Foam (AR-AFFF)” ซึ่งเป็นสารที่ใช้ป้องกันการประจันของสารเคมีในกลุ่ม Flammable Hydrocarbon หรือสารทำละลายที่มีขั้วกับก๊าซออกซิเจนในอากาศ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็น Fluoroalkyl Surfactant Polysaccharide และสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยปกคลุมผิวหน้าของสารที่ติดไฟกับอากาศ แต่อย่างไรก็ตามในปฏิบัติการนี้จำเป็นต้องให้โฟมนั้นปิดผิวหน้าของสารติดไฟซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดระเบิดครั้งนี้ไม่ให้สัมผัสกับอากาศได้นานที่สุดจนกว่าอุณหภูมิจะลดน้อยลงกว่าอุณหภูมิที่เป็นจุดติดไฟ นี่เองจึงเป็นเหตุและผลที่ทำให้การดับเพลิงในมหาอัคคีภัยนี้ยืดเยื้อยาวนานข้าววันข้ามคืน
แม้ว่าเพลิงจะสงบลงในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.ค. หากแต่สารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นยังคงตกค้างอยู่ในอากาศและแหล่งน้ำทอดเวลาออกไปอีกสักระยะหนึ่งจนเป็นที่กังวลใจกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดของแหล่งน้ำตามธรรมชาติทั้ง ห้วย หนอง คลอง บึง ในเขตพื้นที่โซนกรุงเทพฯ ตะวันออกอาจได้รับการปนเปื้อน และยังคาดการณ์กันว่าผลกระทบแรกที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่สารสไตรีนยังถูกเผาไหม้อยู่นั้น จะถูกสันดาปหรือถูกเผาด้วยก๊าซออกซิเจนในกลไกทั้ง 2 รูปแบบ กล่าวคือ “เผาไหม้สมบูรณ์” ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำซึ่งไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เพราะสามารถกำจัดได้ง่ายผ่านการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ แต่หากเป็นกรณีที่เกิดการ “เผาไหม้ไม่สมบูรณ์” สารผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเผานั้นจะกลายเป็น “ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์” ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยตรงผ่านการแย่งจับเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงกับก๊าซออกซิเจน จนทำให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ (Hypoxymia) เลือดเป็นกรด (Acidosis) ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจน ซึ่งมีรายงานว่าในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดเหตุนั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะได้รับสารพิษนี้โดยตรง ส่วนผลกระทบต่อมานั้นคือ สารระเหยของ Styrene Monomer ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเบื้องต้นนั้นสามารถซึมผ่านผิวหนังและระบบทางเดินหายใจได้ อาจเป็นสาเหตุให้ผู้คนนับล้านเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ยิ่งหากรับเข้าไปในร่างกายปริมาณมากก็จะยิ่งส่งผลต่อดวงตาและระบบประสาทส่วนกลางทำให้ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย จนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ ประเด็นที่นักวิชาการออกมาให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดฝนกรดและฝนพิษขึ้นหากเกิดฝนตกในช่วงที่ควันพิษยังลอยอยู่ในอากาศได้ เพราะน้ำฝนที่ชะล้างสารพิษลงมาหากมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงจะยิ่งทำให้เกิดกรดคาร์บอนิก ทำให้ pH ของน้ำที่ปกติอยู่ที่ประมาณ 5.6 อาจลดลงเหลือเพียง 4.2 – 4.4 เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนอีกด้วยเพราะปูนหรือวัสดุก่อสร้างที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตต่างๆ อาจถูกกัดกร่อน รวมไปถึงยวดยานพาหนะรถราของเราที่ทำจากเหล็กกล้าก็อาจได้รับผลกระทบให้ผุกร่อนรวดเร็วกว่าอายุไขปกติ ส่วนการเกิดฝนพิษนั้นอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันจากสารผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาไหม้ในครั้งนี้ทั้ง Styrene Monomer และ Poly Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารก่อมะเร็งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระดับสารพันธุกรรม ซึ่งแน่นอนว่าหากฝนพิษนี้ตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจทำให้สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ในระยะยาวหรืออาจตายไปในที่สุด ส่วนมนุษย์ที่นำน้ำมาอุปโภคบริโภคย่อมส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน
แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาแล้วหลายวัน เพลิงสงบ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์จนคลี่คลายได้ใน 1 วันเศษ แต่ความสูญเสียต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมยังประเมินค่าไม่ได้ และยังต้องเฝ้าจับตาดูผลกระทบระยะยาวอีกหลายมิติที่กำลังจะตามมา เพราะสารเคมีในกลุ่ม Styrene Monomer นี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 50 ปี เลยทีเดียว
ภาพโดย
https://www.prachachat.net/general/news-706209
https://www.sanook.com/news/8407718/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000064925