Banner 155

‘CROWDFUNDING’ โมเดลระดมทุน ดันงานสตาร์ทอัพจากหิ้ง สู่ ห้าง

ท่ามกลางการแข่งขัน และเติบโตของโลกธุรกิจ “Startups” ที่ต่างประชันไอเดีย และนวัตกรรมของตนเอง เพื่อดึงดูดเหล่านักลงทุนทำให้ Startups เหล่านั้นมีเงินทุนดำเนิน กิจการและเติบโตขึ้น การเฟ้นหาแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่เหล่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพต้องวางแผนและเลือกเครื่องมือหรือแนวทางเพื่อให้ได้ทุนตามเป้าที่ตั้งไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการประกวดแข่งขันนำเสนอไอเดีย, การกู้ยืมจากธนาคาร, การแลกหุ้นบริษัทกับเงินลงทุน หรือในหลายปีนี้ที่เราจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ “การระดมทุนจากสาธารณะ” หรือ “Crowdfuding” นั่นเอง

Crowdfunding เป็นเครื่องมือของสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินลงทุนมาดำเนินธุรกิจ และโปรโมทโครงการหรือธุรกิจให้สาธารณชนได้รู้จักไปในตัว โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีไอเดียดี แต่ขาดเงินลงทุนและต้องการความรวดเร็วในการได้รับเงินทุนเพื่อดำเนินกิจการต่อไป โดย Crowdfunding นั้นสามารถทำได้ด้วยกัน​ 4 รูปแบบ ได้แก่

Reward-based Crowdfunding 

เป็นการระดมทุนที่เปิดโอกาสให้สาธารณะได้ลงทุนและสตาร์ทอัพหรือบริษัทนั้นจะให้ผลตอบแทนเป็นสิทธิประโยชน์หรือผลิตภัณฑ์กลับไปเมื่อโครงการนั้นสำเร็จถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้

Donation-based Crowdfunding 

การระดมทุนแบบบริจาคตามความศรัทธาของสาธารณชน เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยผู้ที่บริจาคจะไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน

Equity-based Crowdfunding 

การระดมทุนโดยการเสนอหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ให้แก่สาธารณชนเพื่อนำเงินมาลงทุน โดยผู้ให้ทุนจะได้ถือครองหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนพร้อมกับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากกิจการในอนาคต

Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending การระดมทุนโดยการกู้ยืมเงินจากผู้สนับสนุนซึ่งต้องกำหนดระยะเวลาการชำระเงินคืน และจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ลงทุนที่ให้การสนับสนุน

Crowdfunding แบบไหนนิยมใช้กันบ้าง? 

จากงานวิจัยเพื่อสำรวจประเภทของการระดมทุนจากสาธารณะในประเทศอิตาลีของ Roberto และคณะ ในปี 2015 ที่ศึกษาหน้าที่และความสัมพันธ์ของ Crowdfunding โดยเฉพาะกับธรุกิจสตาร์ทอัพประเภท Spin-off จากมหาวิทยาลัยหรือในสถานศึกษาทั่วประเทศอิตาลี โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่ออกมาตั้งบริษเอกชนหลากหลายประเภท อาทิ สตาร์ทอัพประเภท IT เปิดเผยว่า โมเดลของการระดมทุนสาธารณะที่นิยมใช้มากที่สุดคือ Reward-based Crowdfunding สูงถึงร้อยละ 63 ตามมาด้วย Equity-based Crowdfunding ร้อยละ 31 และ Donation-based Crowdfunding ร้อยละ 6

จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการทำโครงการประเภท Crowdfunding อย่างแพร่หลาย โดยความสำเร็จไม่ใช่แค่เป้าหมายของเงินทุนที่ขอระดมมา แต่ยังต้องคิดให้รอบ เช่น การระดมทุนประเภท  Reward-based Crowdfunding ที่ทำกันนั้น มูลค่าของรางวัลหรือสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับกลับไปเหมาะสมหรือไม่ 

สำหรับในประเทศไทยก็มีโมเดล Crowdfunding ปรากฏให้ผู้ที่สนใจร่วมระดมทุนกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปลายปี2020 ที่ผ่านมาอย่าง “โครงการวัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอนเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นการระดมทุนประเภท Reward-based Crowdfunding ออกแคมเปญชวนคนไทยบริจาค 500 บาท ให้ถึงหนึ่งล้านคน นำมาเป็นทุนต่อยอดงานวิจัยของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใช้ได้เองภายในประเทศ หากสำเร็จ ผู้ร่วมบริจาคในโครงการจะได้สิทธิจองซื้อวัคซีนตัวนี้ก่อนใคร  ซึ่งความคืบหน้าโครงการหลังเปิดแคมเปญนี้ผ่านมาแล้วหลายเดือน การระดมทุนยังคงดำเนินต่อไปควบคู่กับการเร่งวันเร่งคืนทำงานกันอย่างหนักของคณะนักวิจัยในสตาร์ทอัพทีมนี้แข่งกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสที่แพร่กระจายไวขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า ผู้ที่สนใจสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุน โดยบริจาคได้ที่ www.cuenterprise.co.th เพียง 500 บาท หรือมากกว่านั้นก็ย่อมทำได้ นับเป็นอีกหนึ่งแคมเปญระดมทุนแบบ Crowdfunding ที่คนไทยทั้งประเทศเอาใจช่วย

อ้างอิง: งานวิจัย Financing the Academic Spin-off companies: the role of Crowdfunding (Roberto et al., 2015)

โครงการวัคซีนเพื่อคนไทย www.cuenterprise.co.th

Tags:
Business Development Manager บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner