ภารกิจพิชิตฝุ่นเพื่อคนไทย “ดร.โอ – ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” ผู้ปลุกปั้น Sensor For All นวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน
25 ปี คือ เวลาที่ “ศ.ดร.โอ พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเป็นนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ในปี 2538 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ปัญหามลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง คือประเด็นใหญ่ที่สังคมไทยพูดถึง และเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชายหนุ่มผู้นี้หมุนเข็มทิศชีวิตสู่เส้นทางการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
หลังจากเรียนจบที่ฝรั่งเศส ดร.พิสุทธิ์ กลับมาเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาที่ตัวเองร่ำเรียนมาที่จุฬาฯ นอกจากนี้ยังจัดรายการวิทยุ เขียนหนังสือ และในปี 2560 ยังมีโอกาสร่วมเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ Sensor For All นวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่วันแรกที่ ดร. โอ เรียนด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยแย่ลงขนาดไหนครับ
ถ้าแสดงด้วยกราฟ แกน Y คือเหตุการณ์สำคัญทางสิ่งแวดล้อม แกน X คือเวลา ก็ต้องบอกว่า เส้นกราฟพุ่งสูงปรี๊ดอย่างรวดเร็วครับ และถ้าถามว่า ในวันนี้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ถ้าดูในโซเชียลมีเดียจะเห็นว่า นี่คือเรื่องหนึ่งที่คนชอบแชร์ แต่มันไปหยุดแค่ความตระหนักรู้ แถมบางคนมาพร้อมความตระหนกบ่นกร่นด่าไปทุกอย่าง ซึ่งหลายครั้งก็เขียนด้วยความเข้าใจผิด เช่น ถ้าไม่อยากให้มีมลพิษก็ปิดโรงงานนี้สิ ซึ่งการทำแบบนั้นอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในด้านอื่นมากกว่าก็ได้
ผมเรียกขั้นตอนการรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อมว่า 4 Level of Engagement ซึ่งคนไทยยังอยู่ในเฟสแรกคือ การรับรู้ ยังไม่ขยับมาขั้นที่ 2 การมีข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากประเทศเรายังขาดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร ถ้าได้รับการเติมเต็มในส่วนนี้จึงจะเข้าสู่ขั้นที่ 3 การทดลองและลงมือทำ และสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งแวดล้อม
ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เราจ่ายค่าน้ำประปา แต่ไม่เคยจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย ทุกคนเห็นด้วยว่า ประเทศมีปัญหาเรื่องขยะ แต่เราจ่ายเงินเฉพาะค่าขนขยะออกจากหน้าบ้าน นอกนั้นได้ทุกอย่างมาฟรี เพราะคิดว่า สิ่งที่เป็นเจ้าของมีแค่บ้านของตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้ว ทุกคนล้วนได้รับประโยชน์ และต้องพึ่งพาธรรมชาติมหาศาล
เหมือน “อากาศ” ใช่ไหมครับ พอมองไม่เห็น ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ
ใช่ครับ ทั้งที่มนุษย์ต้องการอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ 7 – 14 ลิตรต่อนาที แต่ประชากรโลกกว่า 90% ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 10 ล้านคน แต่อาจเป็นเพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาปัจจุบันทันด่วน เราไม่ได้หายใจฝุ่นเข้าไปในปอดแล้วตายทันที คนจึงยังไม่ค่อยสนใจ
อย่างเรื่อง PM2.5 จริง ๆ มีมานานแล้ว เพียงแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน ยังไม่มีกฎหมายควบคุมฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เมื่อมีการระบุค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แล้วปรากฏว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีค่าสูงกว่านั้น คนจึงเริ่มสนใจ แต่ถามว่า เราทำอะไรกับเรื่องนี้บ้าง… คนดูแลตัวเองมากขึ้น ซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ที่บ้าน เปิดแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ดูว่า ถ้าวันนี้ค่า PM2.5 สูงก็งดออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่น้อยคนจะขยับไปหาสาเหตุ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
นี่คือเหตุผลที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ คุยกันถึงเรื่องนี้เมื่อ 3-4 ปีก่อน โดยชูเรื่อง PM 2.5 เป็นประเด็นหลัก ซึ่งต้องบอกว่า เราเกาะกระแส เพราะถ้าอยากให้คนรู้สึกตื่นตัวก็ต้องหาเรื่องที่เป็นกระแส จึงเป็นที่มาของโครงการ Sensor For All ซึ่งจริง ๆ เซนเซอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ แต่ความสำคัญคือ จะเปลี่ยนคำที่คนมักพูดว่า งานวิจัยขึ้นหิ้งให้เป็นนวัตกรรมที่คนอยากใช้ได้อย่างไร
Sensor For All คือเครื่องมืออะไรครับ
Sensor For All เป็นนวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืนครับ ต้องบอกว่า ตัวเด่นไม่ใช่เซนเซอร์ ไม่ใช่การวัดค่า แต่อยู่ที่คำว่า For All หรือการติดเซ็นเซอร์ทั่วประเทศไทย ถ้ามี big data หรือข้อมูลด้านคุณภาพอากาศที่แม่นยำและมากพอ จะช่วยให้รัฐบาลออกนโยบายในการจัดการที่ถูกต้อง และสำคัญที่สุดคือ ทุกคนจะรู้สึกว่า ฉันอยากเป็นเจ้าของอากาศสะอาด
โครงการนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ที่ผ่านมาใช้งบประมาณของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ทั้งหมด ในปีแรกติดกล่องเซนเซอร์รอบจุฬาฯ เพื่อทดสอบว่า เครื่องแข็งแรงไหม วัดคุณภาพอากาศได้แม่นยำหรือเปล่า โดยนำไปติดใกล้กับเซนเซอร์ของกรมควบคุมมลพิษ จะได้เทียบข้อมูลกันแบบเรียลไทม์ พอปีที่ 2 ติดในชุมชนการเคหะแห่งชาติรอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อตรวจสอบว่า ด้วยระยะทางที่ไกลขึ้น ระบบส่งข้อมูลได้ไหม พอมั่นใจว่าทำงานกับชุมชนได้ ในปีที่ 3 นี้จึงวางแผนติดตั้งทั่วประเทศให้ได้ 500 – 1,000 จุด
นั่นหมายถึงงบงบประมาณที่มากขึ้น
ใช่ครับ คราวนี้ใช้เงิน 5-10 ล้านบาท ซึ่งพูดตรง ๆ ว่า ทำเองไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) เราจึงจัดโครงการระดมทุน เซ็นเซอร์ 1 จุดต่อ 1 box set ราคา 10,000 บาท ซึ่งถึงตอนนี้ได้เงินบริจาคมา 3 ล้านบาทจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) และผู้มีจิตศรัทธา รวมทั้งยังมีภาคีเครือข่ายหลายบริษัทที่ร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าใครสนใจสามารถเข้าไปที่เฟซบุ๊กคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะมี QR Code ให้สแกนบริจาคผ่านกองทุนนวัตกรรมครับ
ทีนี้… มีคนถามผมเยอะว่า ราคาเซ็นเซอร์ในตลาดแค่ 3,000 – 4,000 บาท แล้ว 10,000 บาทมาจากไหน ก็ต้องอธิบายว่า มีงบอีก 4 ส่วนที่ต้องใช้ ส่วนที่ 1 ถ้าเครื่องเสียต้องมีค่าซ่อมแซม ส่วนที่ 2 ค่าเชื่อมต่อสัญญาณและข้อมูล ส่วนที่ 3 ประเทศไทยไม่มีแอปพลิเคชันด้านคุณภาพอากาศแบบเต็มรูปแบบเหมือนต่างประเทศ บางทีเซ็นเซอร์ที่ซื้อมาจะส่งข้อมูลกลับไปที่ประเทศต้นทาง ทีมงานจึงใช้งบส่วนหนึ่งในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และระบบหลังบ้านเพื่อเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ส่วนสุดท้ายคือเรื่องการทำองค์ความรู้ ซึ่งเราวางแผนทำหนังสือยุทธการดับฝุ่น เพื่อให้คนได้ศึกษาเรื่องนี้
กล่องเซ็นเซอร์จะถูกติดตั้งที่ไหนบ้างครับ
กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยครับ โดยเป็นพื้นที่ที่มีคนช่วยดูแลอุปกรณ์ เราจึงคุยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่มีเครือข่ายโรงเรียนสีเขียวประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตอบโจทย์สองเรื่องพร้อมกันคือ มีคนช่วยดูแลอุปกรณ์ และเด็กก็ได้รับความรู้ไปด้วย เช่น ถ้ามีการเผาขยะในชุมชน ตัวเลขจะขึ้นแบบนี้ โดยก้าวต่อไปจะคุยกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำไปติดตั้งในวัด ซึ่งตอบโจทย์ทั้งสองเรื่องเช่นกัน
หากมีคนถามว่า จำเป็นต้องลงทุนเรื่องอากาศแค่ไหน คำตอบคือ…
ผมอยากชวนคิด 2 เรื่องครับ หนึ่งคือ ชีวิตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากสถานการณ์เรื่องคุณภาพอากาศมีแต่จะแย่ลง ประเทศไทยเคยขึ้นอันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกนะครับ ถ้าคุณลงทุนกับรถยนต์ หรือทีวีจอใหญ่ที่บ้านได้ ทำไมไม่ลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง และครอบครัวดูบ้างล่ะครับ ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเห็นเด็กเกิดใหม่ ซึ่งมีปอดที่เล็ก และสะอาด แต่พอเปิดหน้าต่างปุ๊บแล้วไอทันที
เรื่องที่สอง การที่บอกว่า อยากขยับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจาก 50 ให้เป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป้าหมายนี้ต้องใช้เงินลงทุน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการมีส่วนร่วมแบบมหาศาล การพูดว่า ทำไมอากาศไม่ดีขึ้นสักที โดยที่เรายังไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกัน ประเทศไทยจะเดินวนอยู่ที่เดิมคือ ข้อมูลไม่พอ จากนั้นภาครัฐก็ออกนโยบายไม่ถูกต้อง สำคัญที่สุดคือ ตราบใดที่เราไม่รู้สึกว่า เป็นเจ้าของอากาศ และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะไม่มีทางเกิดขึ้นผมมักพูดเปรียบเทียบเรื่องนี้ว่า เวลาชี้นิ้วไปที่กองขยะ นิ้วชี้อาจพุ่งไปหากองขยะ แต่อีก 3-4 นิ้ว จะชี้กลับมาที่ตัวเรา
อยากให้สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร “ทุกคน” คือ คำตอบนั้นครับ ติดตามโครงการ Sensor For All และข้อมูลคุณภาพอากาศได้ที่ http://sensorforall.eng.chula.ac.th และ เฟซบุ๊ก Sensor For All