Banner 109 2

Innovations for Society เคล็ดลับจุฬาฯ ส่งสตาร์ทอัพช่วยชาติ

“Innovations for Society” คือ วิสัยทัศน์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นเข็มทิศนำทาง ภายใต้การนำของ “ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดี 2 สมัย ซึ่งเริ่มปรากฏผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนไทยเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

6C354A1E AD20 426F 9E68 3CC34021917B

ล่าสุดในงาน “HEALTHCARE 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” เมื่อวันที่ 3-6 ก.ย. 63 จัดโดยเครือมติชนและพันธมิตร ได้นำนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ในยุคโควิด-19 มาอัพเดทให้คนไทยได้อุ่นใจ ซึ่งแน่นอนว่า นวัตกรรมจุฬาฯ นั้นโดดเด่นสมกับที่เป็นมหาวิทยาลัยติดอันดับ TOP100 ของโลก เราจึงได้ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับท่านอธิการบดีจุฬาฯ ติดตามความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายใต้แนวคิด “CHULA FUTURE HEALTH” ซึ่งสอดรับกับสาระสำคัญของงานที่มุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพของคนไทยเป็นหลัก เราจึงได้เห็นนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพคนไทยในยุคที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่พัฒนาโดยทีมสตาร์ทอัพจุฬาฯ ได้แก่ BAIYA Phytopharm, Nabsolute, Haxter, CU RoboCOVID และ TANN D กันอย่างใกล้ชิด

Innovations for Society เป็นจริงได้ด้วยการผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตร

ศ.ดร.บัณฑิต เริ่มพูดคุยกับเราถึงนวัตกรรมจุฬาฯ ตามวิสัยทัศน์ ‘Innovations for Society’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “นี่เป็นคอนเซ็ปต์ของจุฬาฯ เราอยากเห็นประชาชนไม่เพียงแต่เฉพาะคนไทย แต่หมายรวมเป็นประชาคมโลก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วยนวัตกรรมของจุฬาฯ เพราะฉะนั้นในส่วนของจุฬาฯ ในงานนี้แน่นอนว่าหากเป็นเรื่องสุขภาพก็ต้องเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้าน Biochemistry และ Biotechnology เราจะเห็นว่าวันนี้เรื่อง Health แต่เดิมจากที่เป็นเรื่องของ Bio เป็นหลัก แต่วันนี้ได้มีเรื่อง Information Technology และ Food Technology เข้ามาผนวกด้วย ดังนั้น Health จะไม่ได้อยู่เฉพาะในบริบทของการแพทย์เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ได้ครอบคลุมไปอีกหลายวงการที่ต้องดึงเข้ามาร่วมด้วย เราจึงได้เห็นนวัตกรรมด้านสุขภาพอยู่ 5-6 ตัวที่นำมาอัพเดทกัน ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เรามีเรื่องของชุดตรวจว่องไวของทีม BAIYA Phytopharm เป็นชุด Stript Test เพื่อตรวจหาภูมิว่าเราติดเชื้อโควิดแล้วหรือไม่ เป็นชุดตรวจแอนติบอดี้นะครับ เรามี Nabsolute เป็นสเปรย์ฉีดหน้ากากผ้า ทำให้หน้ากากผ้าสามารถกันเชื้อโควิดได้ และอีกรุ่นหนึ่งก็ใช้ป้องกัน PM 2.5 ได้ด้วย เรายังมีเรื่องของ Tele-Medicine พวกหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นตัวชี้บอกว่าจุฬาฯ มีทีม Startups ทำร่วมกับบริษัท Haxter ซึ่งเก่งทำ Robot รองรับระบบ Tele-Medicine ตอนนี้ก็ก้าวหน้าไปเยอะมาก ตรวจอาการคนไข้ได้มากมายทั้งวัดไข้ วัดชีพจร เรื่องสุขภาพทั่วไป เรามีนวัตกรรมน่าสนใจจากทีม TANN D เป็นเส้นโปรตีนจากไข่ขาว เหมาะสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ ทานแล้วจะหุ่นดีนะครับ นวัตกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นตามแนวทาง Innovations for Society ซึ่งไม่ได้ทำคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรเครือข่าย อยากจะชี้บอกว่าการที่เราจะเดินหน้าไปได้ ถ้าเราไปคนเดียวเราก็คงไปได้เร็วหน่อย แต่ถ้าเราจะไปได้ไกลเราต้องไปกับพรรคพวก ทำเองคิดเองคนเดียวไม่มีใครใช้ เราจึงให้ความสำคัญกับการทำออกมาต้องมีคนใช้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เครือมติชน เราก็ร่วมมือกันมานานพอสมควรในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพนะครับ เราจะเห็นได้ว่าเวลาร่วมมือกับภาคเอกชน คณาจารย์จุฬาฯ จะถนัดนำองค์ความรู้มาใช้ แล้วมีภาคเอกชนมาช่วยผลิต ผลิตเสร็จก็นำออกสู่ตลาด ที่เราทำได้เพราะเรามี CU Innovation Hub (CUI) เป็นแพลตฟอร์มบ่มเพาะนวัตกรรมภายในมหาวิทยาลัย เรามี Siam Innovation District (SID) เป็น Open Platform ไม่ใช่เฉพาะคนจุฬาฯ อย่างเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้สังคมไทย เยาวชนคนไทย คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาไทย ที่มีความคิดดี ๆ มีไอเดียดี ๆ มาพบกับคนที่ทำได้จริงนั่นคือภาคเอกชน คนในภาคการผลิต คนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาร่วมมือกัน เมื่อพบกันก็คุยกันเลยสนใจไอเดียไหน อยากซื้อมั้ยไอเดียนี้ หรือผมอยากจะทำชิ้นนี้ออกมาแต่ว่าถ้าทำแค่นี้ ผมไม่ต้องการนะ ต้องบิดปรับหน่อย แทนที่จะทำวิจัยแล้วก็ผลิตมาตั้งแต่ต้นด้วยหลักคิดเองทำเอง แล้วคิดกันแบบเดิมว่าเดี๋ยวคนก็คงจะชอบเอง ปรากฏว่าวันนี้มันไม่ใช่ ถ้ามีคนมาให้ความคิดตั้งแต่ต้นว่า ถ้าเขาจะชอบต้องปรับเป็นแบบไหน จูนกันเสียตั้งแต่ต้น เริ่มต้นคิดมาก็ให้มีคนมาคอมเมนท์ ปรับปรุงกับพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน คุยกับคนที่เขามี Potential นำออกสู่ตลาด มาร่วมกันคิดพิจารณาให้ความเห็นแต่แรก แล้วจึงผลิตออกสู่ตลาด นี่จึงเรียกว่าเป็นกระบวนการนำความรู้ปรับออกสู่ตลาด เป็นส่วนหนึ่งของ Innovations for Society ครับ”

บ่มเพาะสตาร์ทอัพ สร้างประโยชน์ให้สังคม

ตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่า Innovations for Society นั้นช่วยสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร ศ.ดร.บัณฑิต เล่าให้เราฟังในประเด็นนี้ว่า “สังคมบ้านเรา พูดกันง่าย ๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่วนใหญ่เราซื้อเขาเป็นหลัก ยกเว้นข้าวที่เราปลูกเอง ของอะไรที่มาจากต่างประเทศ เรารู้สึกราคามันจะดีกว่าคนไทย เราจะเห็นตัวอย่าง สินค้าหลายตัวของคนไทยขายในเมืองไทยได้ 10 บาท พอส่งไปต่างประเทศขายได้ 100 บาท เดี๋ยวพอนำกลับมาขายเมืองไทยแล้วจะได้ราคา 100 บาทเอง อันนี้เป็นตัวอย่างที่เราต้องทำ Innovations for Society สิ่งที่เราอยากเห็นคือ นวัตกรรมอย่างแรกเลยต้องมีคนใช้ ในมุมของนวัตกรรมนั้นต่างจากสิ่งประดิษฐ์ ส่ิงประดิษฐ์คือคนประดิษฐ์ออกมาไม่รู้มีคนใช้รึเปล่า แต่นวัตกรรมคือสิ่งประดิษฐ์ที่มีคนใช้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีคนใช้ Value ก็จะเกิดขึ้น มีตลาดเกิดขึ้น ถ้ามีคนใช้ที่เห็นคุณประโยชน์มากเข้าเรื่อย ๆ Value ก็ยิ่งสูง เพราะฉะนั้น Value จะสูงขึ้นได้ก็ต้องมีคนใช้ และยิ่งถ้าเป็นภาคเอกชนรายใหญ่ท่ีเขามีตลาดอยู่ในมือเยอะ เราก็ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีตลาดเอง ไม่มีคนใช้อยู่แบบนี้ สินค้าทำออกไปก็ขายไม่ออก จนในที่สุดก็ต้องซื้อเขาอยู่ดี เพราะฉะนั้นวันนี้ อย่างเช่นชุดตรวจ BAIYA Stript Test หรือ Nabsolute เราก็มีบริษัทเอกชนเอาออกไปทำตลาด อาจารย์ถนัดสร้างองค์ความรู้ ไม่ถนัดขาย ก็ต้องมีคนเอาไปขายให้ เพราะฉะนั้นถามว่าคาดหวังอะไร เดิมเราคาดหวังว่าจะมีผู้ใช้จำนวนมาก วันนี้มีผู้ใช้เยอะแล้ว จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ทุกตัวมีคนใช้เยอะขึ้นไปอีก และที่สำคัญก้าวต่อไปคือ Value ต้องสูงขึ้นด้วย ราคาต้องดี เหมาะสม ไม่ใช่พอบอกเป็นของไทยเลยต้องราคาถูก เฉพาะของต่างประเทศเท่านั้นที่จะราคาแพง เราต้องทำให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในราคาที่เหมาะสม ดีกว่าต่างประเทศ คุณภาพเทียบเคียงได้ เราจะได้เห็นนวัตกรรมของจุฬาฯ มาในโทนนี้ CU Innovation Hub และ Siam Innovation District เรามี Startup อยู่ร้อยกว่าบริษัท และยังมีนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณาจารย์คณะต่าง ๆ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เข้ามาทำงานร่วมกันเยอะขึ้นมาก งานก็ทยอยมีออกมาให้ได้เห็นมากมาย ต้องบอกว่า Innovations เป็นเรื่องระหว่างศาสตร์ที่มารวมกัน อย่างหุ่นยนต์เราทั้งนินจาจากทีม Haxter และปิ่นโต กระจก จาก CU RoboCOVID นี่ไม่ใช่เฉพาะทีมวิศวะนะ มีทั้งคณะแพทย์ มีทั้งคณะวิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ เข้ามาร่วมมือกันทำไม่ใช่คณะเดียวจะทำเองหมดได้ งาน Innovations เป็นงานที่มีขอบเขตกว้าง ความรู้จากแขนงเดียวจบไม่ได้ ต้องเกิดการ Blended รวมกัน นี่คือเหตุที่เราจำเป็นต้องมี CU Innovation Hub และ Siam Innovation District ซึ่งเป็นที่รวมคนหลายศาสตร์ หลากอาชีพไว้ด้วยกัน”

4ED3063C 6562 4B4C A379 369BCAEEF964
059D2A19 94DC 42FB ADAC AAD1BC296CCC
B90C0376 1D1E 4C30 A23E 68D11441B227

ขับเคลื่อนเร็วด้วย CU Enterprise

อธิการบดีจุฬาฯ เผยเคล็ดลับช่วยชาติรับมือกับปัญหาใหญ่น้อยได้ทันท่วงทีด้วยนวัตกรรมจุฬาฯ ว่า “วันนี้ CU Innovations ทยอยออกมาช่วยสังคมเรื่อย ๆ แล้ว ถือเป็นผลผลิตจากสตาร์ทอัพที่เราบ่มเพาะไว้ได้ผลิดอกออกผลถูกที่ถูกเวลา มาในจังหวะที่คนไทยและคนทั่วโลกกำลังต้องการตัวช่วยในยามนี้ และเรายังมีนวัตกรรมอีกหลายตัวที่กำลังพัฒนาอยู่ใน Pipeline เมื่อแล้วเสร็จก็จะทยอยนำออกมาให้ได้ใช้กัน ต้องบอกว่าเราทำงานกันเป็นทีมครับ ลำพังคนจุฬาฯ เองต่อให้เราคิดและผลิตออกมาได้ ก็ยังขายไม่เก่ง ขายช้า ทำมาร์เกตติ้งสู้เอกชนไม่ได้ เพราะเราถนัดสอนหนังสือ จึงต้องมีพันธมิตรชวนกันเข้ามาทำ ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับกลุ่ม VC กองทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) ผนึกกำลังกันเข้ามาช่วยกันอย่างแข็งขัน ซึ่งอีกตัวหนึ่งที่เรามีนั่นคือ CU Enterprise เป็นตัวที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะมีเงินทุนไปลงทุนกับงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้รอพึ่งพาเพียงงบประมาณแผ่นดินจากรัฐเท่านั้น นี่ก็เป็นตัวอย่างว่าเราทำงานกับภาคเอกชนได้ผลเร็วเช่นกัน ได้ใช้กลไก CU Enterprise เป็นตัวขับเคลื่อนก็จะเห็นสิ่งที่เราฝัน โลกวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะทำงานอะไร แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเร็วด้วย คุณออกมาช้า ถึงทำได้แต่ช้า คนอื่นเอาไปกินหมด วันนี้ต้องเก่งและเร็วด้วย ผมอยากให้คนของเรา คนไทย องค์กรไทย มหาวิทยาลัยในไทย ได้รับรู้ว่าเมื่อเราจับมือกันพัฒนา ใครทำงานอะไรได้ดี ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ลดการแข่งขันกีดกันกันเอง มันจะยิ่งทำให้ผลผลิตจากประเทศไทยได้รับการยอมรับ ขยายขอบเขต ออกไปได้รวดเร็วขึ้น ไม่เฉพาะอยู่เพียงในเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งนี่คือแนวทางที่เราเดินอยู่นี้ พบว่าดี จึงอยากเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาทำด้วยกัน” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย

09F8F5F5 D29F 486D 9DE0 00225684976C
2C75BEFE 845F 4240 9727 D6872827AF89
4C1FABEF FF57 49EF BD12 C72FD2B8C1B4

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner