37AB4B78 53A2 4DF6 838E CFBBEE3EE0FF

เปิดใจ ดร.ลักขณา อุปนายก สนจ. หญิงแกร่ง แนะน้องเถ้าแก่น้อยยึดหลัก Touchless, Cashless และ Selfless สู้โควิด-19

เมื่อเอ่ยนาม “ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน” มั่นใจว่าคนในแวดวงธุรกิจทั่วฟ้าเมืองไทยไม่มีใครไม่รู้จัก “พี่ยิ้ง” ซึ่งในช่วงขวบปีที่ผ่านมาขันอาสาเข้ามาบริหารสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ในตำแหน่งอุปนายกหญิงแกร่ง ด้วยความโลดโผนโจนทะยานเจนจัดในโลกการตลาดมากว่า 40 ปี และฝากผลงานไว้กับบริษัทน้อยใหญ่มานับไม่ถ้วน ทำให้วันนี้แม้ชีวิตจะก้าวผ่านหลักชัยวัยเกษียณไปแล้ว แต่ความแอคทีฟและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของ ดร.ลักขณา ยังคงเป็นประโยชน์ส่งต่อมาถึงน้องจุฬาฯ รุ่นต่อมา แปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าผู้ประกอบการรุ่นหลังให้ยังคงยืนหนึ่งฝ่าวิกฤติสู้โควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ Touchless, Cashless และ Selfless

The Sharpener นำบทสัมภาษณ์กลางรายการ Live Talk “ตั้งวงเล่า เหลาความคิด” เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.63 ที่พี่ยิ้งให้เกียรติมาแชร์ประสบการณ์ร่วมเหลาความคิดให้กับ “ครูกรีน AF” เจ้าของ The Modern Melody สถาบันสอนดนตรีและพัฒนาบุคลิกภาพ มาฝากกัน

โควิด-19 ช่วยให้ค้นพบความเก่งในโลกออนไลน์

ดร.ลักขณา เปิดฉากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ช่วงกักตัวที่ผ่านมา ย้ำว่าโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตและรูปแบบการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงจากการประชุมกรรมการบริษัทหลายแห่งจากที่เคยต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ จำต้องเปลี่ยนมาประชุมออนไลน์แทน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ Social Distancing ทำให้ค้นพบว่าหลายกิจกรรมในโลกออนไลน์คือความแปลกใหม่ที่น่าเรียนรู้ ช่วยเปลี่ยนโลกของคนรุ่นเก่าให้ต่างไปจากเดิม และเป็นโอกาสให้ผู้อาวุโสค้นพบความสามารถใหม่ของตนเองได้โดยใช้เทคโนโลยี

“ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มาก่อน แต่ไม่เคยได้ใช้จริง พอถูกบังคับให้ประชุมออนไลน์ ก็เลยต้องเรียนรู้ไปทีละโปรแกรม ก็สนุกดี บอร์ดบางคนก็ติดใจและคิดว่าแม้สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติแล้ว ก็ยังควรใช้การประชุมออนไลน์ เพราะสะดวกดี แล้วยังมีเรื่องการสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี ซึ่งคนรุ่นพี่มักเคยกลัวการจ่ายเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ที่ไม่เห็นตัวตนจับต้องไม่ได้ ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ใช้กันเก่งหมดเลย จ่ายออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง สะดวกมาก กลายเป็นว่าช้อปทั้งวัน ซื้อของเกินความจำเป็นด้วยซ้ำ เพราะมันง่าย กดสั่งปุ๊บ จ่ายเงินปั๊บ เดี๋ยวได้ของ” ดร.ลักขณาแชร์ประสบการณ์ชีวิตติดออนไลน์อย่างอารมณ์ดี

มองให้เป็น “โอกาส” ใน “วิกฤติ”

แม้โควิด-19 จะสร้างความเสียหายในหลายด้าน แต่ ดร.ลักขณา เน้นย้ำเรื่องการมองหาโอกาสท่ามกลางกองไฟแห่งวิกฤติ “ถ้าเรามองมันให้ถูกต้อง เราจะพบว่าการที่ไม่ต้องทำทุกอย่างให้เป็น physical ทำให้เราสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น ฐานลูกค้าจะใหญ่ขึ้น” ดร.ลักขณากล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ Lady Gaga นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน ที่ตัดสินใจปฏิวัติการขายเพลงของตนเอง จากรูปแบบซีดีที่พบปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ถูกก๊อปปี้ได้ง่าย เปลี่ยนเป็นเอาเพลงอัพขึ้นเว็บไซต์ให้คนดาวน์โหลดแทน จนสร้างรายได้มหาศาลจากวิธีการนี้ ดร.ลักขณากล่าวเสริมว่า “จากสถานการณ์โควิด จะพบว่าหลายคนเปลี่ยนมุมมอง เพราะว่าชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถยึดติดกับวิถีเดิม ๆ ที่เคยทำ เราต้องกลับมาดูว่าแล้วเราจะใช้ New Normal กับการมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

คลาสออนไลน์ช่วยขยายฐานลูกค้า ลดปัญหาระยะทาง

เมื่อถามถึงมุมมองที่มีต่อการเรียนการสอนออนไลน์ ดร.ลักขณากล่าวว่า “การเปิดสอนคลาสออนไลน์จะทำให้ scope ลูกค้ากว้างขึ้น การเปิดกว้างจะช่วยลดข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เรื่องระยะทาง ที่ทำให้หลายคนไม่มีโอกาสได้เรียน พอเปิดเป็นออนไลน์ปุ๊บ กลุ่มเหล่านี้ที่มีอยู่จำนวนมากก็จะมีโอกาสได้เรียน เช่นตัวพี่เรียนภาษาจีน ปกติไม่มีเวลาไปที่ศูนย์วัฒนธรรมจีน แต่พออาจารย์ยอมสอนออนไลน์ช่วงโควิด ทำให้สามารถนั่งเรียนที่บ้าน อาจารย์จะเขียนภาษาจีน อาจจะส่งมาทางไลน์ หรือเขียนบนกระดานแล้วซูมให้เห็น ก็ไม่แตกต่างจากที่เรียนในคลาสเลย” ทั้งนี้ ดร.ลักขณาเสริมว่าการเรียนที่ดีไม่ว่าอยู่ในรูปแบบไหนก็ต้องเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้เช่นกัน

ใช้ Touchless, Cashless และ Selfless สร้าง Trust Economy เอาชนะโควิด-19

ในการดำเนินธุรกิจยุคโควิด-19 หรือแม้กระทั่งหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้วก็ตามให้สำเร็จได้นั้น ดร.ลักขณาแนะนำว่าผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ ปรับตัว เปิดใจ และเปิดตาให้กว้าง รู้จักมองหาลู่ทางเพื่อให้สามารถอยู่รอดในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังประสบพบเจออยู่

“เราต้องยอมรับว่าโควิด-19 ยังจะอยู่กับเราอีกนาน แล้ว New Normal จะไม่หายไปไหนเพียงชั่วข้ามคืน หน้าที่ของเราคืออยู่กับมัน ในสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริการ หรือจะเป็นขายสินค้า การจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนและอยู่รอดในระยะยาว ต้องทำ 3 อย่างเพื่อให้เกิด Trust Economy นั่นคือ
1) Touchless ต้องพยายามทำให้มีการแตะต้องตัวกันให้น้อยที่สุด 2) Cashless ลดการจับจ่ายด้วยเงินสด
3) Selfless อะไรก็ตามที่ทำ ต้องพร้อมเสียสละเพื่อสังคม ไม่ใช่มุ่งทำเพื่อตัวเอง”
อุปนายกหญิง สนจ. แนะนำน้อง ๆ ผู้ประกอบการรุ่นหลัง

บทสนทนาล่วงมาถึงช่วงท้าย ดร.ลักขณายังแนะต่อว่า แต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยตนเอง นอกจากหลัก Touchless, Cashless และ Selfless แล้ว ยังต้องมองให้หลากหลาย และดูว่าธุรกิจแบบเดียวกันปรับตัวอย่างไร นอกจากนี้ควรเรียนรู้การปรับตัวของธุรกิจอื่นที่ต่างออกไปจากที่เราทำอยู่ด้วยเช่นกัน ยิ่งทำให้เราเห็นแนวคิดและนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราได้

นี่จึงนับเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับการทำธุรกิจในยุคที่โควิด-19 มาเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ แน่นอนว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอด และนี่คือคำแนะนำดีดีจากกูรูมากประสบการณ์ผ่านมาแล้วทุกวิกฤติ “ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน” อุปนายกหญิงแกร่งแห่ง สนจ.

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner