Banner 150

กู้วิกฤตหลังม่านแรงงานไทย จุฬาฯ จับมือ ก.แรงงาน จัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ยกระดับแรงงานไทยเทศทุกมิติ

ปัญหาแรงงานที่เรื้อรังมานับสิบปี เป็นปฐมเหตุให้เกิดความพยายามจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันสางปัญหานี้ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาคือหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่นำองค์ความรู้ ทักษะ และงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนในหลายประเด็น อาทิ การดูแลสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เปรียบดั่งเป็นวาระแห่งชาตินี้ โดยทำหน้าที่เป็นเข็มทิศนำทางบ่งชี้แก่นแท้ของปัญหา บอกเล่าความท้าทาย และพยากรณ์แนวโน้มที่ทั้งอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยอันมีปัจจัยมาจากแรงงาน โดย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Collaborating Centre for Labour Research, Chulalongkorn University ; CU-ColLaR) ซึ่งมีภาคีศูนย์ประสานงานกว่า 45 องค์กร จึงได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานใน 16 หัวข้อ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลรวม 2,473 ครั้ง ทั้งเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตแรงงาน ค่าจ้างและรายได้ การจ้างงาน ว่างงาน เลิกจ้าง และอื่นๆ

86182950 125707998968411 5214074182626705408 o

นอกจากนี้ CU-ColLaR ยังได้ดำเนินงานในกรอบงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานร่วม 10 กิจกรรม เช่น รูปแบบการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับงานในอนาคต: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทย ศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการจ้างงานและแนวทางการพัฒนาทักษะบุคลากรระดับองค์กรและระดับอุตสาหกรรม เก็บข้อมูลเชิงลึกจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ ณ สถาบันเทคโนโลยีสุมิพล (SIMTEC) แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวัน: แนวโน้มตลาดแรงงาน สภาพการทำงาน การคุ้มครองแรงงาน สุขอนามัย หนี้สิน และการนำทักษะฝีมือมาใช้ในประเทศไทย เก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยแบบสอบถามพร้อมลงพื้นที่ของแรงงานคืนถิ่น แนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการใช้ “การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue)” เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนากฎเกณฑ์ทางแรงงาน ทบทวนบทกฎหมายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเจรจาทางสังคมในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลทุติยภาพจากเอกสารที่เกี่ยวข้องเชิงกฎหมายและข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาและข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลและวิจัยจะผ่านการวิเคราะห์ผล พร้อมบูรณาการสหสาขาและการสัมมนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบประเด็นและโจทย์การวิจัยด้านแรงงานนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐ นักวิจัยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

2019 1.3.62m1 3 1

จากการดำเนินงานที่เข้มแข็ง เข้าใจปัญหาแรงงานหลากหลายมิติ และศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และแรงงานไทยในต่างแดน ของ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562 จึงเกิดความร่วมมือสำคัญ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ กระทรวงแรงงาน โดยพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ  เป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือเชิงวิชาการ พัฒนาการวิจัยและศักยภาพด้านแรงงานของสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมพัฒนาแรงงานกว่า 40 ล้านคน สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีขอบเขตร่วมมือ 4 ส่วน ได้แก่
1) พัฒนาศักยภาพการวิจัยและการใช้ข้อมูล
2) พัฒนานโยบายด้านแรงงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านจัดหางาน พัฒนาฝีมือแรงงาน การคุ้มครองและจัดสวัสดิการแรงงาน สิทธิประโยชน์ประกันสังคม โครงการในระยะต้น
3) พัฒนาความร่วมมือเชิงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
4) พัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานและมีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เพื่อวางรากฐานกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาแรงงานที่ถูกทางในทุกมิติให้ประเทศไทย

นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR: Collaborating Centre for labour research, Chulalongkorn University) ยังมีความร่วมเพื่อวิจัยแรงงานกับอีกหลายหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคเอกชน ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยโตเกียว สถาบันแรงงานของเกาหลีใต้ (Korea Labor Institute ; KLI) และ Institute for Labor Studies, Philippines ผนึกกำลังกันเกิดเป็นภาคีเครือข่ายศูนย์ประสานงานมากถึง 45 องค์กร

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner