“อาร์ม – ปาณพล จันทรสุกรี” เจ้าของ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ที่ปังไม่หยุดในโลกออนไลน์
กลายเป็นกระแสดังที่ปังไม่หยุด! สำหรับตลาด E-Market Place ประจำรั้วมหาวิทยาลัยที่ไล่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกโซเชียลขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ที่ใช้เวลาเพียงสัปดาห์กว่า ๆ ก็สร้างสถิติใหม่เหนือกลุ่ม E-Market Place ด้วยยอดสมาชิกทะลุ 2 แสนรายไปแล้ว โดยที่นี่มีสินค้าและบริการให้เลือกสรรมากมายไล่ตั้งแต่ของกิน ของใช้ ไปจนถึงดีลซื้อขายอสังหาริมทรัยพ์ คอนโด บ้านจัดสรร รถยนต์ และที่ดินแปลงหรูมูลค่านับพันล้าน ก็มาฝากร้านขายออนไลน์กันใน “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” และที่มากไปกว่านั้น ก็มีบรรดานิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ต่างพากันเข้ามาฝากผลงานทิ้งโปรไฟล์ไว้กันอย่างคับคั่งทั้ง เชฟป้อม – ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล, บีม – กวี ตันจรารักษ์, พรีม – รณิดา เตชสิทธิ์, พีช –พชร จิราธิวัฒน์ รวมเหล่าดาราเซเลบชื่อก้องไว้อย่างมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานการรังสรรค์ชั่วข้ามคืนของนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากรั้วจามจุรีคนนี้ “อาร์ม – ปาณพล จันทรสุกรี” ที่เราดึงตัวมาพูดคุยกันใน THE SHARPENER คอลัมน์นี้
จุดเริ่มต้นของ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส”
อาร์ม ปาณพล เริ่มเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส “อาชีพปกติที่อาร์มทำอยู่เราเป็น Marketing Agency กับ Event Organizer ครับ ซึ่งเราได้รับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 เลยมองดูว่าเราทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์แบบนี้ เลยได้ไปเห็นรูปแบบการค้าขายง่าย ๆ โมเดลหนึ่งคือการมีกลุ่ม อย่างเช่น รุ่นพี่ในออฟฟิศของอาร์ม เขาก็มีกลุ่มในหมู่บ้านแล้วขายของกันเองในนั้น อาร์มเองยังเคยเอาของจากกิจการเล็ก ๆ ของเราไปฝากเขาขายเลย เราก็เห็นว่าการค้าขายก็อยู่กันแค่ในคอมมูนิตี้เล็ก ๆ แต่เราเองก็รู้สึกว่าเป็นโมเดลที่ดี เลยมานั่งวิเคราะห์ดูก็รู้สึกว่าเป็นการตลาดที่จริงใจและตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนซื้อ ใครเป็นคนขาย ซึ่งสินค้าและบริการส่วนใหญ่ค่อนข้างมีคุณภาพครับ ก็เลยมีความคิดอยากจะมีกลุ่มแบบนี้ขึ้นมาบ้าง ประกอบกับทางฝั่งธรรมศาสตร์ก็มีกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ขึ้นมาก่อนแล้ว อาร์มก็เลยย้อนกลับมาถามในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าแล้วมหาวิทยาลัยเรามีแบบนี้บ้างไหม จริง ๆ อยากเป็นแค่ผู้เข้าร่วม ถ้ามีคนตั้งแล้วก็จะเข้าไปขายของของตัวเอง แต่พบว่ายังไม่มี ก็เลยลองสร้างกลุ่มขึ้นมาครับ”
อาร์ม – ปาณพล จันทรสุกรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 51
ผู้สร้างกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส
เข้ากลุ่มนี้ ฝากร้านก็ได้ ฝากโปรไฟล์ก็ดี
“ในกลุ่มของเรานะครับ หลัก ๆ คือ ขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ เครื่องเขียน รับบริการ ฯลฯ ได้หมดครับ จริง ๆ แล้วสิ่งที่ได้รับความสนใจในช่วงนี้ก็จะเป็น สิ่งที่ป้องกันเชื้อ COVID-19 จำพวกแอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย ที่ดูขายดี และคนให้ความสนใจ นอกนั้นก็จะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ซึ่งหลาย ๆ ร้านก็จะมีโปรโมชั่น เช่น ใครที่ตามมาจากกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส คนขายเขาก็จะมีส่วนลดหรือของแถมให้ด้วย ของใช้ที่จำเป็นในสถานการณ์แบบนี้ก็จะขายดีหน่อย และตอนนี้ก็มีการเข้ามาโปรโมทโปรไฟล์ เพจ บริษัท ห้างร้าน ต่าง ๆ ด้วยครับ ทางกลุ่มของเราจะมีทีมคอยช่วยจัดให้ว่าร้านประเภทไหนมีมากน้อยแค่ไหน ทำเป็นหมวดหมู่ยอดนิยมไว้ให้ค้นหากันง่าย ๆ ถ้าใครมาโพสต์อะไรก็จะต้องมีหมวดหมู่ครับ อย่างหมวดหมู่ยอดนิยมตอนนี้ก็จะเป็น อุปกรณ์รับมือ COVID-19 ที่มีทั้งหมด 252 โพสต์ อาหารคาวกับข้าว 231 โพสต์ รองลงมาจะเป็นขนม ของหวาน เบเกอรี่ ขนมไทย ผักผลไม้ อสังหาริมทรัพย์ครับ ” อาร์มกล่าว
กระแสสินค้าแปลก แหวกแนว ปังไม่ไหว
อาร์มกล่าวถึงประเภทสินค้าที่กำลังเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสที่ทำให้คนรู้จักในชั่วข้ามคืน “สินค้าแปลกที่มาฝากขายในจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสของเรา อาร์มคิดว่าเป็นอาวุธ ที่กระแสแรงมากก็คือง้าว ที่เขาบอกว่าผ่านการใช้งานมาแล้วจริง ๆ ร้านขายปืนก็มีนะครับ เป็นลูกสาวร้านขายปืนแถวดิโอลด์สยามก็มาโพสต์ขายเช่นกัน ก็มีปืน มีง้าว นี่แหละครับที่อาร์มรู้สึกว่าแบบพีค ๆ วันก่อนก็มีเคสน่าประทับใจ คือมีน้องหรือพี่นี่แหละครับที่มาโพสต์ขายหมูแดดเดียวและเขาเป็นแฟนคลับ “พี่บีม D2B” ซึ่งพี่บีมเองก็เข้ามาในวันเดียวกันพอดี เขาก็เลยเขียนถึงพี่บีมครับ และอยู่ ๆ ปรากฏว่าก็เป็นพี่บีมตัวจริงนั่นเองที่มาตอบใต้โพสต์เขา ก็เกิดเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงเมื่อบ่ายวันก่อน คืนวันก่อนก็เป็น “เชฟป้อมเตือนแล้วนะ” เข้ามาขายข้าวแช่ ซึ่งเป็นของที่พิถีพิถันหาทานยากและไม่มีใครเหมือน เป็นที่ฮือฮากันพอสมควรเหมือนกันครับ” อาร์มกล่าวถึงความประทับใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่เข้ามาในกลุ่มของเขา
จัดแนวทางหลากหลายสนับสนุนร้านในกลุ่ม
เมื่อมีคนเข้ามาฝากร้านในกลุ่มเป็นจำนวนมาก อาร์มจึงเตรียมการสนับสนุนร้านต่าง ๆ ที่เข้ามาในกลุ่ม เพื่อช่วยกระตุ้นการขายให้ได้มากขึ้น “อาร์มคิดว่าจะมีการโปรโมทให้ร้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นโปรเจคในอีกสเต็ปที่อาร์มคิดว่ากำลังจะมีครับ ตอนนี้เราก็มีทีมงานที่จะมาทำในส่วนนี้ คิดไว้ว่าจะเลือกร้านขึ้นมาบางร้านจากแต่ละหมวดหมู่เพื่อช่วยเขาโปรโมทในกลุ่มเรา แต่ก็กำลังคิดกันว่าเราควรใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกดี ตอนนี้ก็มีการรวมทีมกันอยู่ซึ่งก็เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ กันหมดเลย แต่ว่าสิ่งที่ทีมงานของเราได้ทำไปแล้ว ก็จะมีการจัดหมวดประจำวัน เช่น หมวดเย็นนี้กินอะไร หมวดอาหารว่างยามบ่ายพร้อมส่ง แล้วก็ให้ร้านมาโพสต์ใต้คอมเม้น ก็รู้สึกเป็นอีกไฮไลท์หนึ่งที่ทำให้กลุ่มดูคึกคักขึ้น อาร์มคิดว่าต่อไปก็อาจจะมีไลฟ์รีวิวสินค้าและบริการที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาครับ” อาร์มกล่าวถึงแนวทางสนับสนุนช่วยร้านต่าง ๆ ที่มาฝากร้านไว้ในจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส
กระแสตอบรับดีเกินคาด มาแรงชั่วข้ามคืน
อาร์ม บอกกับเราถึงกระแสของกลุ่มที่มาแรงในชั่วข้ามคืน “ตอนนี้อาร์มเปิดกลุ่มมาได้สัปดาห์กว่า ๆ แล้วครับ ต้องบอกเลยว่ากระแสดีเกินจากที่อาร์มคาดไว้มาก มันดีมากจนน่าตกใจ ยอดจำนวนสมาชิกพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ วันเลยครับ เริ่มจากหลักหมื่นขยับขึ้นเป็นหลักแสน ขณะนี้มีสมาชิกในกลุ่มของเราเกิน 2 แสนคนแล้วครับ ต้องขอขอบคุณจริง ๆ ที่เข้ามากันเรื่อย ๆ เลย มีคนจากหลากหลายวงการ รวมไปถึงลูกค้าที่ร่วมธุรกิจประจำวันของอาร์มเอง ที่ก่อนหน้านี้อาร์มเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นรุ่นพี่จุฬาฯ ด้วยกัน ก็ได้มาเจอกันในนี้แหละครับ นอกจากนี้ยังมีพี่ ๆ ศิลปิน และ พี่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จในแทบทุกวงการ ทั้งวงการบันเทิง วงการธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการต่าง ๆ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่และหลากหลายอย่างรวดเร็วพอสมควรเลยครับ”
ก้าวต่อไปของ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส”
กระแสของกลุ่มนี้ยังแรงดีไม่มีตก สำหรับก้าวต่อไปของกลุ่มจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนจากกลุ่มขึ้นไปเป็นแฟนเพจเลยหรือไม่ อาร์มได้แย้มถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “อาร์มยังชื่นชอบรูปแบบการดำเนินไปของกลุ่มในเฟซบุ๊คลักษณะนี้อยู่ครับ เพราะคนที่เข้ามาที่นี่จะต้องใช้บัญชีส่วนตัว ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ พิสูจน์ได้ รวมถึงสมาชิกเองก็จะเห็นหน้าว่าใครคือแอดมินของกลุ่มนี้ครับ เพราะเราใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวในการรันกิจกรรมของกลุ่มด้วยเช่นกัน อีกทั้งจะมีความจริงใจและมีความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควร ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มแล้วเรายังพอบริหารจัดการได้ก็ปล่อยให้ไปแบบนี้ก่อนครับ แต่หลังจบสถานการณ์ COVID-19 อาจขยับออกมาทำเป็นมาร์เก็ตเพลสจริง ๆ ให้คนได้มาเดินจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบของตลาดจริง ๆ ที่อบอุ่น ซึ่งไอเดียนี้อาร์มว่ามันโดนมาก ๆ เลยครับ เพราะทีมงานเราก็มีศักยภาพพอที่จะทำได้จริงด้วย ทีมงานของเราเคยจัดงานแฟร์ งานมาร์เก็ต งานอีเว้นท์ต่าง ๆ จัดงานทำนองนี้อยู่แล้ว เลยรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะทำเป็นแพลตฟอร์มแบบออฟไลน์หรือออนกราวด์ให้คนมาเปิดร้านขายกันจริง ๆ ครับ” อาร์มกล่าวถึงก้าวต่อไปสำหรับกลุ่มของเขา
ฝากอะไรถึงคนไทยในยามนี้
“อาร์มเชื่อว่ามีหลาย ๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จะมากจะน้อยแตกต่างกันไป บางคนที่ช่วงนี้ยังทำธุรกิจได้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ยังมีอีกหลายคนที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่หนักมาก อาร์มอยากให้ลองหาช่องทางอื่นขยับขยายกันดู ตั้งใจทำมาหากินครับ คือก็จะต้องดิ้นกันให้สุด อย่างตัวอาร์มก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ในยามนี้ อาร์มเป็นคนที่ประสบกับวิกฤติตรงนี้ แต่อาร์มก็พยายามหาวิธีดิ้นรนของเรา ลองลงมือทำนั้นทำนี่เพื่อให้เกิดเป็นโมเมนตั้มขึ้นมา ธุรกิจและเศรษฐกิจมันจะได้ดำเนินต่อไปได้ครับ อาร์มอยากให้ทุกคน ไม่หยุดที่จะคิด ไม่หยุดที่จะทำ หาอะไรทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถเติบโตได้ เพราะโอกาสเป็นของคนที่ไม่หยุดพัฒนาตนเองครับ ทุกโอกาสเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่เราด้วยว่ากล้าลุกขึ้นมาทำได้เร็วแค่ไหนครับด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤติไปด้วยกันครับ ” เจ้าของจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสกล่าวให้กำลังใจทิ้งท้าย
ติดตาม “จุฬามาร์เก็ตเพลส” ตลาดออนไลน์แห่งใหม่ที่ปังไม่ไหวในยามนี้ ขนาดง้าวก็มีขาย อยากได้ที่ดินก็ต้องได้ แล้วคุณจะมัวรออะไรกันอยู่ กดเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ที่ Facebook group: จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส แล้วคุณจะรู้ว่าความปังมีอยู่จริง