ไทย-สหรัฐ ลงนาม MOU ประวัติศาสตร์ เชื่อมระบบนิเวศสตาร์ทอัพ Montgomery County ผนึกกำลัง FTI และ NIA หนุนผู้ประกอบการไทยบุกตลาดอเมริกา
ในโอกาสครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ณ งาน Startup Innovation Thailand Event (SITE2024) ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในวงการสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ เมื่อ Montgomery County รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงระบบนิเวศสตาร์ทอัพระหว่างไทยและสหรัฐ การลงนามครั้งประวัติศาสตร์นี้นำโดยผู้นำองค์กรสำคัญจากทั้งสองประเทศ ได้แก่ นายมาร์ค เอลริช (Mr. Marc Elrich) ผู้บริหารเขต Montgomery County นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ต่างเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมร่วมกัน โดยมี นางจูดี้ คอนเทลโล่ (Ms.Judy Costello) ผู้แทนจาก Montgomery County และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน
Montgomery County ตั้งอยู่ในรัฐ Maryland ใกล้กับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมอันดับ 3 ของสหรัฐฯ รองจาก San Francisco และ Boston โดดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม Biotech & Life Science และ Advanced Computing รวมถึง AI และ Quantum Computing นายมาร์ค เอลริช กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ FTI และ NIA ในครั้งนี้ Montgomery County พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการไทยในตลาดสหรัฐ”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ FTI กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่า “FTI มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในด้าน Biotech, BCG Industry และ AI Automation Manufacturing การจับมือกับ Montgomery County จะช่วยเปิดประตูเชื่อมโอกาสใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงตลาดสหรัฐและตลาดโลก พร้อมเปิดรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสหรัฐเข้ามาทำงานร่วมกับประเทศไทย ใช้ไทยเป็นฐานเพื่อ scale up ธุรกิจให้เติบโตได้ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”
ขณะที่ ดร.กริชผกา บุญเฟื่องผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ของหน่วยงานว่า “NIA มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจฐานนวัตกรรมไทยเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ผ่านแนวคิด ‘Gloom, Grant, Growth, & Global’ ความร่วมมือกับ Montgomery County จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลในระดับสากล”
MOU ฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ฉบับนี้ครอบคลุมความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ International Soft-landing ของ Montgomery County ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกขยายธุรกิจสู่ตลาดสหรัฐ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี การสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน ตลอดจนการจัดกิจกรรมและโครงการร่วมกันเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการสตาร์ทอัพไทย ก่อนหน้านี้ได้มีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ประสบความสำเร็จได้ขยายธุรกิจสู่สหรัฐแล้ว อาทิ Baiya Phytopharm Co., Ltd. ผู้ชนะ Global Health Innovation Challenge by CAI, Nabsolute ผู้ชนะการแข่งขัน Select USA Tech APAC Summit Pitching Competition 2023, CANS Communication Company ผู้ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอเมริกัน มูลค่ากว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Osselolab ผู้ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอธุรกิจในงาน SelectUSA Tech 2024
ความสำเร็จของความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของหลายฝ่าย รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา นำโดยเอกอัครราชทูต สุริยา จินดาวงษ์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขัน Select USA งานลงทุนที่ใหญ่ที่สุดประจำปีของสหรัฐ เครือข่าย Global Innovation Club นำโดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในอนาคต โดยคาดหวังว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี การสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างสองประเทศ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติ
ทั้งสามฝ่ายยืนยันว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ MOU ฉบับนี้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อติดตามความคืบหน้าและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศน์นวัตกรรมของทั้งสองประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต