“ชลน่าน” ดึงจุฬาฯ สร้างหลักสูตร “ญาติเฉพาะกิจ Care D+” อบรมออนไลน์คน สธ. กว่าหมื่น พร้อมให้บริการประชาชนด้วยใจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดโครงการอบรมบุคลากรสาธารณสุขยกระดับเป็น “ทีมเชื่อมประสานใจ Care D+'” ช่วยสื่อสารดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าอกเข้าใจให้เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” สร้างความเข้าใจในกระบวนการรักษา จัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ล่าสุดมีบุคลากร สธ. ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเกินเป้า 1 หมื่นคนแล้ว ประเดิมอบรมชุดแรก 1 พันคนภายใน ธ.ค.นี้ เป็นของขวัญปีใหม่คนไทย คาดครบหมื่น เม.ย. 2567
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ประจำปีงบประมาณ 2667 พร้อมรับมอบรหัสเข้าเรียน หนังสือสำคัญและเสื้อ Care D+ เป็นสัญลักษณ์ของผู้เข้ารับการอบรม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขทุกคน ทุกวิชาชีพ ต่างมีความมุ่งมั่นดูแลประชาชนให้พ้นจากความเจ็บป่วย แต่จากสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าทำให้การสื่อสารรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ หลายครั้งจึงพบว่าเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ปรากฏในสื่อออนไลน์ นโยบายยกระดับ 30 บาท ของกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดประเด็นการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ไว้ด้วย โดยมี Quick Win 100 วัน เรื่องการสร้างทีมประสานใจ หรือ Care D+ ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ให้เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ที่ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ และญาติผู้ป่วยที่ใจเจ็บจากความกลัวและวิตกกังวลกับการที่บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยให้ได้รับทราบถึงขั้นตอนแนวทางการรักษาพยาบาล ลดความไม่เข้าใจระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้น
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการอบรม Care D+ กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องการสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เพื่อยกระดับคุณภาพการสื่อสารในภาคการดูแลสุขภาพ อบรมบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสาร (Crisis Communication Management) และการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกัน (Emphatic Communication) ซึ่งจะทำให้ทีม Care D+ สามารถรับฟังผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ สามารถวิเคราะห์และประมวลได้ว่ามีอารมณ์ความรู้สึก ความประสงค์ หรือมีข้อติดขัดติดใจอย่างไร เพื่อจะได้บริหารจัดการหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งระหว่างกันลงได้
ทางด้าน ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มีส่วนสำคัญสนับสนุนโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคมหรือว่า Care D+ โครงการนี้เป็นการตอบยุทธศาสตร์สำคัญของจุฬาฯ ในเรื่องของการสร้างผู้นำแห่งอนาคต โดยเน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่จำกัดช่วงวัยและสาขาวิชาชีพ ซึ่งเรามองว่าปัญหาใหญ่ของการให้บริการด้านสาธารณสุขไทยคือการสื่อสารกับคนไข้และญาติ ปัญหาร้อยละ 90 จะมาจากการสื่อสารที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและยังขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โครงการจึงได้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาช่วยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเกิดข้อดีหลายอย่าง เราได้นำผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารมาปูพื้นทางทฤษฎีก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่การปฏิบัติจริงรวมทั้งยังได้ยกกรณีศึกษาที่ผมมั่นใจว่ายังมีหลายกรณีไม่เคยถูกบรรจุไว้ในตำราและเป็นปัญหาหน้างานจริงจากบริการสาธารณสุขของบ้านเรา การหยิบยกตัวอย่างเช่นนี้เองขึ้นมาจะทำให้บุคลากรสาธารณสุขซึ่งต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้เข้าใจแนวทางและวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นซึ่งจะเป็นโอกาสดีให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฟีดแบคทางโครงการให้ปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น
การอบรม Care D+ มีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม cug.academy โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยาจากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ มาเป็นวิทยากร สามารถประเมินผลการอบรมและปรับปรุงหลักสูตรการอบรมได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สามารถสื่อสารประสานใจ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี เริ่มเปิดหลักสูตรแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ารับการอบรมแล้วมากถึง 10,550 คน โดยคาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2566 จะมีผู้สำเร็จการอบรมเป็นทีม Care D+ ถึง 1 พันคน เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่กับพี่น้องประชาชน และจะครบ 1 หมื่นคนตามเป้าหมายได้ภายในเดือนเมษายน 2567