Banner 2132

จุฬาฯ เปิดพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต แหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์สู้โลกเดือด ชูนวัตกรรมกล้าไม้อัตรารอดสูง

วันนี้โลกเราก้าวข้าม “ภาวะโลกร้อน” เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด”  จากการที่อุณหภูมิไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศไทยและโลกไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มีความพร้อมทางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสาขาต่างๆ รวมทั้งมีคณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อม ในการนำความรู้มามี ส่วนร่วมแก้ปัญหาสถานการณ์ภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต (Living Plant Museum) ณ อาคารเรือนกระจก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช พัทยา คุณนันทวรรณชยา ภาจิตประพันธ์ ประธานบริษัท เฮิร์บฟอร์ยู จำกัด บริษัท เวิร์ดกรีน พลัส จำกัด และ คุณธนาธิป ศิษย์ประเสริฐ ผู้แทนบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการครั้งนี้

BR6 5833

นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum เป็นนิทรรศการถาวรในอาคารเรือนกระจก (Glass house) ข้างอาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากจะเป็นสถานที่รวบรวมพรรณไม้สำคัญทางด้านพฤกษศาสตร์แล้ว ยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชสาขาต่าง ๆ กับประชาชนที่มีประสบการณ์และใกล้ชิดธรรมชาติในแต่ละท้องที่ มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและส่งต่อองค์ความรู้ และความเข้าใจไปยังคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภายในงานมีการนำ “นวัตกรรมกล้าไม้อัตรารอดสูง” โดยการใช้เชื้อไมคอร์ไรซ่านำมาเพาะร่วมกับต้นกล้ายางนา และต้นราชพฤกษ์อวกาศ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

BR6 5721
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศเจตนารมณ์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2040 และมีเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เราจึงต้องผลักดันให้ประชาคมจุฬาฯ มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังแปรปรวน  โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือการนำงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ มาสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้พร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ และภาคีเครือข่ายของเรากำลังเร่งขับเคลื่อนบ่มเพาะองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันรับมือกับสภาวะโลกเดือดตามที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ ซึ่งเราได้รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนี้ไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum ที่นับจากนี้ต่อไปจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย เป็น Living Lab ให้เราได้รู้เท่าทันโลก เพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และหาทางออกที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกได้ต่อไป”

BR6 5594 2
รศ.ดร.สีหนาท ประสงค์สุข หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

รศ.ดร.สีหนาท ประสงค์สุข หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิตแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เราใช้จัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตจุฬาฯ การวิจัยพืชในระบบควบคุมอุณหภูมิ (evaporative cooling system) และจัดแสดงนิทรรศการถาวรนําเสนอข้อมูลความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชในรูปแบบที่พืชยังมีชีวิต มีพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ตํ่ากว่า 200 ชนิด ภายในอาคารเรือนกระจก พื้นที่ 464 ตารางเมตร จัดแสดง 6 รูปแบบ ประกอบด้วย นิทรรศการความหลากหลายของพืชในป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน นิทรรศการพืชทนแล้ง นิทรรศการพืชน้ำ นิทรรศการพืชกลุ่มเทอริโดไฟต์ นิทรรศการกลุ่มพืชเมล็ดเปลือย และนิทรรศการวิวัฒนาการของพืชดอก โดยเรามุ่งหวังตั้งใจให้องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเกิดขึ้นที่นี่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ล่าสุดเรามีนวัตกรรมกล้าไม้อัตรารอดสูง พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีหัวเชื้อราไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal Inoculum Technology) เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.จิตรตรา เพียภูเขียว อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาด้านราไมคอร์ไรซามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยเริ่มจากวิจัยความหลากหลายของเห็ดราในพื้นที่ป่าน่าน นำมาต่อยอดผลิตหัวเชื้อราไมคอร์ไรซาผสมในดินปลูกกล้าไม้พื้นถิ่นวงศ์ยาง ช่วยเพิ่มอัตราการรอดให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้ในสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยจุฬาฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนและขยายผลไปยังพื้นที่ป่าชุมชนจังหวัดสระบุรีกว่า 3,000 ไร่ และในพื้นที่อีก 7 จังหวัด นอกจากนี้ เมื่อกล้าไม้อัตรารอดสูงเติบโตเป็นไม้ใหญ่แล้วยังทำให้เกิดเห็ดป่าที่รับประทานได้ผุดขึ้นอีกหลายชนิด อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดไคล เห็ดน้ำหมาก ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจให้คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าชุมชนไว้อย่างยั่งยืน”

AR6 6028
ผศ.จิตรตรา เพียภูเขียว อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากพิธีเปิดนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยังจัดกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน “โครงการปลูกต้นกล้าสู้โลกเดือด” ด้วยการจัดเตรียมต้นกล้าไม้ยางนาจากผลงานวิจัยและพัฒนากล้าไม้ที่มีอัตราการรอดสูงด้วยเทคโนโลยีเชื้อไมคอร์ไรซ่า เพื่อนำไปปลูกในชุมชนจำนวน 107 ต้น รวมทั้งยังจัดกิจกรรมปลูก “ต้นราชพฤกษ์อวกาศ” ในโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง

AR6 5797

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ ชวนคนไทยเปิดยุทธการ #สู้โลกเดือด…#ให้โลกได้ไปต่อ

เพียงสแกน QR Code หรือคลิก https://forms.gle/WoreutYF8FLuQC3k9 เพื่อร่วมบริจาคสมทบทุนดำเนินงาน “พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต” (Living Plant Museum) และสนับสนุนการเรียนการสอนของภาควิชาพฤกษศาสตร์ ตามกำลังศรัทธาโดยยอดบริจาคทุก 1,000 บาท จะได้รับ “ต้นกล้าสู้โลกเดือด” 1 ต้น จากผลงานวิจัยและพัฒนากล้าไม้อัตรารอดสูงด้วย Mycorrhizal Inoculum Technology พิเศษสำหรับผู้บริจาค 1,000 ท่านแรก รับกระเป๋ารักษ์โลกสู้โลกเดือด 1 ใบ

messageImage 1695368475415
AR6 5808
AR6 5840
AR6 5908
AR6 5934
AR6 5579
AR6 5589
AR6 5609
AR6 5557
AR6 5551
AR6 5561
AR6 5572
AR6 5594
vlcsnap 2023 09 21 15h05m50s370
vlcsnap 2023 09 21 15h14m02s095
vlcsnap 2023 09 21 15h48m03s767
vlcsnap 2023 09 21 14h37m40s472
AR6 5578
AR6 5577
Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner