ปลูกป่าชายเลน
น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้
แม้ว่าทั่วโลกจะมีป่าชายเลนอยู่เพียงแค่ 1% ในพื้นที่ป่าเขตร้อนก็ตาม แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปเราจะพบความน่าอัศจรรย์ของระบบนิเวศที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Rare Item แฝงอยู่มากมายในป่าแห่งนี้ โดยเฉพาะในความ ‘น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้’ ของป่าชายเลนในประเทศไทยที่ทำเอานักวิจัยสายอีโค่โกกรีนทั่วโลกต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาสัมผัสด้วยตัวเองและต่างอิจฉาคนไทยที่มีทรัพยากรตัวกลั่นช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนได้ดีกว่าป่าบกอื่นหลายเท่า วันนี้โรงไฟฟ้าบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านและป่าชายเลนริมน้ำบางปะกงมากว่า 40 ปี จึงชวนเรามาล่องเรือไปดูกันให้เห็นจะจะกับครั้งแรกของทริปปลูกป่าโลว์คาร์บอน “กฟผ.ปลูกป่า ล้านไร่ ลุยเลน สร้างบ้านปลา คอนโดปู” แต่ก่อนที่เราจะออกเรือไปลุยเลนกับ กฟผ. The Sharpener ก็ไม่พลาดที่จะเหลาคมความคิดเตรียมความฟิตให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกับ Rare Item ทั้ง 5 ของป่าชายเลนกัน
1. ป่าชายเลนเป็นป่าลักษณะพิเศษที่พันธุ์ไม้สามารถขึ้นอยู่ได้ในดินเลนและดินที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว และทนอยู่ในสภาวะที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ ต้นไม้ในป่าชายเลนจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงลักษณะทั้งภายนอกและภายในทั้ง ลำต้น ใบ ดอก และผล ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมพิเศษนี้
2. ป่าชายเลนเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญชั้นยอดของโลก แต่จะพบป่าชายเลนเพียง 1% ในป่าเขตร้อนทั่วโลกเท่านั้น โดยระบบนิเวศของป่าชายเลนเรียกว่า “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) จะกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดินและจะถูกกักเก็บไว้อย่างนั้นได้นานนับพันปีหากไม่มีใครไปรบกวน ในขณะที่ระบบนิเวศของป่าบกทั่วไปในเขตร้อนหรือที่เราเรียกว่า กรีนคาร์บอน (Green carbon) จะกักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ บลูคาร์บอนจึงสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้สูงกว่ากรีนคาร์บอนอยู่ราว 4-10 เท่า ซึ่งเมื่อเทียบกันให้เห็นภาพกล่าวคือ พื้นที่ของป่าชายเลน 1 เฮกตาร์ หรือประมาณ 6 ไร่ 1 งาน สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 3,754 ตันคาร์บอนหรือเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถที่สัญจรอยู่บนท้องถนนทั้งปีมากกว่า 2,650 คัน (UNESCO, 2022) เลยทีเดียว
3. ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอนุบาล และยังเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ทั้งปลา นก แมลงและสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงพันธุ์พืชที่มีคุณลักษณะเฉพาะอย่างต้นโกงกางที่มีกิ่งก้านแทงลงไปในดินเลน ช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นสัตว์น้ำวัยอ่อนจากผู้ล่า แสงแดด และความแรงของคลื่นน้ำได้จนเติบโตเต็มวัยต่อไป
4. ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหาร พืชผัก ยาสมุนไพร และยังเป็นแหล่งวัสดุก่อสร้างและเชื้อเพลิงไม้ ซึ่งไม้ที่พบมากคือโกงกางเป็นไม้ที่แข็งแรง ทนทาน เนื้อเหนียว สามารถนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เสาเข็มและไม้ค้ำยันในบริเวณที่มีน้ำทะเลขึ้นถึงได้อีกด้วย
5. ป่าชายเลนเป็นปราการสำคัญช่วยป้องกันการถล่มของหน้าดินชายฝั่ง และยังช่วยป้องกันภัยจากธรรมชาติ เช่น คอยดูดซับคลื่นพายุซัดฝั่งและทอนกำลังของพายุ นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบจากตะกอนดินที่จะพัดออกไปสู่หญ้าทะเลและแนวปะการัง เรียกได้ว่าช่วยป้องกันภัยได้ทั้งจากบนบกและในน้ำ
และนี่คือ Rare Item ทั้ง 5 ของป่าชายเลนที่ยืนหนึ่งอยู่เหนือป่าไม้ประเภทอื่นทั้งปวง เป็นป่าที่มีระบบนิเวศพิเศษ มหัศจรรย์ และจำเป็นสำหรับโลกในนาทีนี้ ที่จำต้องใช้แหล่งดูดซับคาร์บอนแหล่งใหญ่ที่ช่วยลดอุณหภูมิโลกร้อนลงได้เร็วและลดลงได้เลย และคงเป็นคำตอบที่หลายคนสงสัยกันนักหนาว่า กฟผ.จะปลูกป่า ล้านไร่ แล้วชวนเรามาลุยเลนในทริปนี้ทำไม อ๋อ! ก็เพราะมัน “น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้” อย่างนี้นี่เอง