‘สัตว์เลี้ยงแสนรัก’ กักตัวพร้อมผู้ป่วยโควิดได้หรือไม่
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาด นอกจากการระบาดในมนุษย์แล้ว มักเกิดคำถามตามด้วยความกังวลใจเกี่ยวกับการระบาดในสัตว์เลี้ยงภายในบ้านที่พบผู้ติดเชื้อหรือที่หลายคนเรียกจนติดปากชวนเอ็นดูว่า “น้อง” ซึ่งจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เคยตีพิมพ์ออกมาต่างรายงานว่าโรคโควิด19 สามารถระบาดได้เช่นกันในสัตว์เลี้ยงภายในบ้านทั้งน้องแมวและน้องสุนัข รวมถึงสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์อย่างเสือโคร่ง กอริลลา และตัวนาก และที่มากไปกว่านั้นยังเคยพบโควิดในสถานเพาะเลี้ยงสัตว์รูปแบบฟาร์มจำพวกตัวมิงค์อีกด้วย
โดยหลักการติดเชื้อโควิด19 ในสัตว์นั้นมักเกิดขึ้นได้เฉพาะชนิดสัตว์ที่มีลักษณะตัวรับเชื้อไวรัส (viral receptor) สอดรับกับหนามของไวรัสพอดี เสมือนแม่กุญแจกับลูกกุญแจนั่นเอง ถ้าเข้าข่ายดังกล่าวไวรัสจึงจะสามารถเข้าไปในเซลล์และก่อโรคในสัตว์ได้ ในหมู่ของกลุ่มสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน แมวจะมีตัวรับไวรัสที่มีความไวจับเชื้อไวรัสโควิด19 ได้มากกว่าสุนัข ทำให้เราต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องสัมผัสกับแมว แต่อย่างไรก็ตาม หากแมวติดเชื้อก็จะไม่แสดงอาการ หรือหากแสดงอาการก็จะมีเพียงจาม ไอเล็กน้อย และหายป่วยเองได้โดยไม่ต้องรักษา และขอย้ำว่าจนถึงในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าสัตว์เลี้ยงสามารถแพร่โรคโควิด19 มาสู่คนได้ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลใจไปเกินกว่าเหตุ ปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงให้ออกจากบ้านกลายเป็นสัตว์จรจัด ในทางกลับกันเจ้าของเองควรกักสัตว์เลี้ยงไว้เฉพาะในที่พักอาศัยเท่านั้น และงดการพาออกไปเดินเล่นตามที่สาธารณะ อีกทั้งยังควรหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง หากมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก ซึม จาม อาเจียน ท้องเสีย ควรแยกตัวที่ป่วยออกห่างจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น รีบโทรปรึกษาสัตวแพทย์ และหมั่นทำความสะอาดของใช้ของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย
เมื่อเจ้าของสัตว์ติดเชื้อโควิด19 และอยู่ระหว่างการพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งแน่นอนว่าที่บ้านเรามีสัตว์เลี้ยงแสนรักอยู่กับท่านด้วย ท่านก็ยังสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ เพียงหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น การกอด จูบ หอม ให้น้องเลียมือ หรือเอาน้องมานอนด้วย รวมถึงหลีกเลี่ยงการนำอาหารที่เหลือจากการบริโภคของเราไปให้น้องทานต่อ แต่หากมีใครในบ้านเราที่ยังมิใช่กลุ่มเสี่ยง ก็ควรอย่างยิ่งที่จะฝากให้เขานั้นช่วยดูแลน้องแทนเราก่อนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยการดูแลสัตว์เลี้ยงในยามนี้ให้ทำเช่นเดียวกับการป้องกันการติดโรคระหว่างคนสู่คนด้วยกันทั้งเว้นระยะห่าง จะสัมผัสสัตว์เลี้ยงก็ต้องสวมใส่เครื่องป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่ออยู่กับสัตว์เลี้ยง และล้างมือทันทีหลังการสัมผัส
กรณีที่ท่านเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพียงคนเดียว ไม่สามารถหาผู้ดูแลแทนได้ ก็ยังไม่อับจนหนทางเสียทีเดียว สามารถโทรติดต่อเพื่อนำน้องไปฝากที่สถานพยาบาลสัตว์ที่มีความพร้อม นัดหมายช่วงเวลาที่เหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปด้วยตนเอง ควรฝากญาติ เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้เสี่ยงติดโควิด19 ช่วยพาน้องไปแทนเราหรือขอให้ทางสถานพยาบาลซึ่งมีความพร้อมส่งเจ้าหน้าที่พร้อมชุดอุปกรณ์ป้องกันมารับตัวสัตว์เลี้ยงไปที่สถานพยาบาลสัตว์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน
ในทางกลับกันหากเราตกเป็นผู้ได้รับการร้องขอจากญาติหรือเพื่อนที่ติดเชื้อให้ช่วยดูแลน้องแทน ก็อย่าได้ลังเลใจสามารถตอบรับได้ เพราะนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระให้เจ้าของที่กำลังป่วยแล้ว ยังได้ให้ความเมตตากรุณาต่อสัตว์ที่จำเป็นต้องขาดที่พึ่งสักระยะหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไปรับสัตว์เลี้ยงมาแล้วก็ต้องป้องกันตนเองเช่นกันโดยสวมใส่หน้ากากและถุงมือ อาบน้ำน้องด้วยแชมพูก่อนนำเข้าบ้านเรา เท่านี้ก็ปลอดภัยกับตัวผู้รับใจบุญอย่างเรา ๆ ได้แล้ว
แต่หากไม่พร้อมนำกลับมาฝากเลี้ยงที่บ้านเราจริง ๆ ก่อนจากกันวันนี้ เรามีสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยงในช่วงโควิดระบาดที่เราจะแนะนำให้กับคุณและเจ้าของสัตว์เลี้ยงติดต่อไป ได้แก่ โรงแรมโคอิด็อกโฮม zu Hause, Dog Space, Bunny Home และสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ป่วยโควิดได้ที่
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มสถานพยาบาลสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์ และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ โทร 02-6534444 ต่อ 4191-2
ด้วยรักและปรารถนาดี จากกลุ่มจิตอาสา กล่องรอดตาย
ข้อมูลอ้างอิง
– คอลัมน์ สัตว์เลี้ยงแสนรัก: สัตว์เลี้ยงกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) | 21 ส.ค. 2564 | หน้า 9 https://aws.iqnewsclip.com/agent.aspx?D=75abgwz2542
– จะดูแลน้องหมาอย่างไร หากเราติดเชื้อโควิด-19 จากสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย
– การดูแลน้องแมว ในช่วงการระบาดของโรค Covid-19 บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลท์ (ประเทศไทย)
– กลุ่มสถานพยาบาลสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์ และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์
-ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย