3 เหตุผลที่(ยัง)ต้องส่งข้าวให้คลองเตย “ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ”
คำขอบคุณที่ซ่อนไว้ด้วยการร้องขอ ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2521 ออกนอกชุมชนคลองเตยในยามนี้ การปรากฏตัวของครูประทีปในวัน MOVE ON FIGHTERS ของเครือข่าย Food For Fighters ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงเปี่ยมไปด้วยความหมายที่ซ่อนนัยสำคัญไว้มากมาย
ด้วยบทบาทตลอดสี่สิบกว่าปีของครูประทีปและมูลนิธิดวงประทีปที่อยู่ดูแลสารทุกข์สุกดิบคนคลองเตยจนรู้จักพื้นที่นี้ดีกว่าใคร ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางชุมชนรับแจ้งข้อมูลคนติดโควิด-19 และเป็นกุญแจดอกสำคัญช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับตัวไปรักษา รวมถึงดูแลด้านสาธารณสุขลงไปช่วยพ่นยาฆ่าเชื้อถึงในบ้านที่มีผู้ติดเชื้อ นำข้าวปลาอาหารไปให้ญาติพี่น้องของผู้ติดเชื้อเมื่อต้องกักตัว โดยเชื่อว่าการบูรณาการความช่วยเหลือให้ใกล้เคียงกับคำว่าครบวงจรมากที่สุดนั้นจะช่วยหยุดการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่จะทำได้
คลองเตยตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของเชื้อไวรัสโควิด -19 เข้าจู่โจมชีวิตนับแสนมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนจนมีผู้ติดเชื้อขึ้นหลักพันและมีผู้ต้องถูกกักตัวได้รับความเดือดร้อนเป็นแรมเดือน จึงทำให้หลายฝ่ายจำต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงภารกิจ “ข้าวแสนกล่อง” โดยเครือข่าย Food For Fighters ที่ได้ร่วมส่งอาหารกล่องและถุงยังชีพอุ้มกว่า 40 ชุมชนรอบบริเวณนี้ เมื่อสถานการณ์ยังคงไม่สู้ดีและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ในเร็ววัน ยิ่งนานวันคนที่ต้องการความช่วยเหลือยิ่งมากขึ้นคล้ายการเติมเกลือลงในมหาสมุทร
แม้ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่ความหิวโหยของคนต้องกักตัวในชุมชนคลองเตยยังไม่ลดลง ท่าทีและเรื่องราวที่ครูประทีปได้ส่งผ่านการพูดคุยกับเราในวันนี้จึงตอกย้ำว่า “ข้าวแสนกล่อง” ที่ส่งข้าวให้ชุมชนไปแล้วเกือบ 2 แสนกล่องนั้น ยังยุติภารกิจไม่ได้แม้จะเคยขยายเวลาเปิดรับบริจาคมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ สนจ. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบขยายเวลาดำเนินภารกิจนี้ต่อออกไปอีกครั้งเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมชาติจนถึง 31 ก.ค.64 ในประเด็นดังกล่าวนี้ ครูประทีปได้ให้เหตุผลชวนคิดไว้ 3 ประการ
เหตุผลที่ 1 : คนคลองเตยตกงาน
“สำหรับเหตุผลแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องการว่างงาน ในสภาวะที่อัตราการว่างงานของประเทศไทยในปี 2564 นั้นสูงที่สุดในรอบ 11 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.95 โดยมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน ส่งผลให้คนในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ที่ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงินที่จะมาซื้อหาอาหารปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการประทังชีวิต ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการของคนในชุมชนในระยะยาว”
เหตุผลที่ 2 : โควิดยังระบาดหนัก
“เนื่องจากโควิด-19 ทั่วประเทศยังคงวิกฤต ทั้งจำนวนผู้ป่วยหนักที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงวันนี้มีนับพันราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ การเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้นยังค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนยังคงต้องอาศัยน้ำใจของคนไทยจากอีกหลายภาคส่วน ทั้งเอกชน และ ประชาชนที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ”
เหตุผลที่ 3 : หวั่นปิดแคมป์ก่อสร้างลุกลาม
“เมื่อรัฐบาลออกมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง ให้ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งยังให้หยุดงานก่อสร้างด้วย เป็นเหตุให้คนงานจำนวนหนึ่งต้องย้ายกลับถิ่นฐาน บ้างมาอยู่ในชุมชนแออัดต่าง ๆ เสี่ยงส่งผลให้อัตราการติดเชื้อในคลองเตยเพิ่มขึ้นทวีคูณในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า และยังมีแนวโน้มที่อาจต้องปิดการเข้าออกชุมชนอีกครั้งจนทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหาร”
สำหรับผู้ที่สนใจยังคงบริจาคอาหารกล่องและสิ่งของที่จำเป็นเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนแออัด โดยนำส่งได้ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ตั้งวันนี้จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2564 ตั้งแต่ 09:00-17:00 น. หรือร่วมบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 729 -233242-7 ชื่อบัญชี มูลนิธิคุวานันท์ นอกจากนี้ยังสามารถดาวน์โหลดไลน์สติ๊กเกอร์ Move On Fighters ออกแบบโดย FFF Young Volunteer จากแกลอรี่สติ๊กเกอร์ไลน์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณแมค 096-991-6363 และคุณพืช 086-564-0957