Banner 138 02

จุฬาฯ สืบศาสตร์สานศิลป์ ชุบชีวินศิลปินไทย

อีกบทบาทหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ คือ การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนาองค์ความรู้และสิ่งทรงคุณค่า รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และสังคมไทย 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จุฬาฯ มุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นหน่วยงานหลักจัดเก็บและจัดการด้านข้อมูลศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุน เอื้ออำนวย และให้คำปรึกษาแก่ส่วนงานและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย โดยมีโครงการสำคัญเป็นที่ประจักษ์ชัด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการจุฬาฯ จารึกบันทึกคนดนตรี โครงการจัดทำวีดิทัศน์เชิดชูเกียรติศิลปิน และโครงการจัดทำวีดิทัศน์องค์ความรู้การอนุรักษ์สงวนรักษาผลงานศิลปกรรม 

มุ่งสืบสานมรดกดนตรีชาติ “จุฬาฯ จารึกบันทึกคนดนตรี” 

หอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นห้องสมุดเฉพาะทางด้านดนตรีไทยเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่มีจุดเด่นเป็นหอสมุดดนตรีที่ให้บริการในระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในสถาบันอุดมศึกษา ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มุ่งทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ จึงจัดทำโครงการบันทึกข้อมูลเพลงไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบันกว่า 30 ปี นับเฉพาะบทเพลงไทยมีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลเพลงนี้มีมากกว่า 10,000 เพลง 

ปัจจุบันหอสมุดดนตรีไทยมีภารกิจหลักให้บริการสืบค้นข้อมูลเพลงไทยด้วยระบบสารสนเทศแก่นิสิต นักศึกษา จนถึงระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัย รวมทั้งบุคคลที่สนใจโดยทั่วไป ทั้งด้านไฟล์เสียง วีดิทัศน์ และหนังสือหายากทางดนตรีไทย นอกจากนี้ ยังมีห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน และห้องพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องดนตรีไทยชิ้นสำคัญอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2561 หอสมุดดนตรีไทยได้ริเริ่มโครงการเก็บข้อมูลศิลปินนักดนตรีไทย “100 คนดนตรี 100 ปี จุฬาฯ” ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระการก่อตั้งมหาวิทยาลัยครบ 100 ปี นำมาซึ่งคุณูปการต่อวงการดนตรีไทยอย่างยิ่ง ช่วยให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย มีแหล่งสืบค้นข้อมูลหายากของศิลปินนักดนตรีไทยอาวุโสที่ครบถ้วนในทุกมิติ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา หอสมุดดนตรีไทยจึงสานต่อโครงการดังกล่าว ในชื่อโครงการ “จุฬาฯจารึกบันทึกคนดนตรี” เริ่มจัดเก็บข้อมูลนักดนตรีไทย นักร้องระดับฝีมือ และครูผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นจากศิลปินอาวุโสมากไล่เรียงเรื่อยลงมา จัดเก็บทั้งข้อมูลด้านประวัติบุคคล ประวัติการสืบทอดองค์ความรู้ บันทึกไว้ในรูปแบบบันทึกวีดิทัศน์สัมภาษณ์ และการบรรเลงตัวอย่างเพลง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัด อาทิ กรมศิลปากร วงดนตรีไทยทหาร 4 เหล่าทัพ วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วจำนวน 30 ท่าน และมีแผนงานดำเนินการต่อเนื่องทุกปีสนองจุดมุ่งหมายสำคัญของหอสมุดดนตรีไทยที่มุ่งอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของชาติ พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้และพัฒนางานดนตรีไทย เสริมสร้างให้นิสิตและผู้สนใจมีความรักและตระหนักในคุณค่าของดนตรีซึ่งเป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติและของโลกสืบไป

เชิดชูเกียรติศิลปินผ่านสื่อออนไลน์  (Chula Videotaping Project: “Honoring Artists”)

สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการผลิตวิดีทัศน์ ชุด “เชิดชูเกียรติศิลปิน” เพื่อบันทึก อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ของศิลปิน โดยได้รวบรวมอัตชีวประวัติ องค์ความรู้ และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะและดนตรี ผ่านการบอกเล่าของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงแขนงต่าง ๆ โดยช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 ได้ดำเนินการบันทึกข้อมูลและจัดทำวีดิทัศน์ของศิลปิน 4 ด้าน ดังนี้

  • ด้านดนตรีไทย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ” ศิลปินแห่งชาติ (Dr. Sirichaichan Fachamroon) สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) 
  • ด้านดนตรีตะวันตก ผศ.พอ.ชูชาติ พิทักษากร (Asst. Prof. Col. Choochart Pitaksakorn) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล)  
  • ด้านศิลปะ อ.พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก (Phansakdi Chakkaphak) 
  • ด้านสถาปัตยกรรมไทย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี (Assoc. Prof. Dr. Pinyo Suwankiri) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำบทสัมภาษณ์และบันทึกไว้ในรูปแบบวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่ช่วยดึงดูดความสนใจ เผยแพร่ข้อมูลได้ครบถ้วนชัดเจนซึ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ วีดิทัศน์ดังกล่าวยังได้นำมาใช้เพื่อประกอบการจัดแสดงนิทรรศการสำคัญต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย  

fgY SQB0yyYaKuzwlOCS7CJTnYAaYxgsUx0E8bwn mphZOZ6X2KvljI9EPDRhKkt8n4LOT5AR4SUkw y9ylEos pRI6sJG PNfiVrgOP4Lvlfm okzjnC4Rv2Vgs19CUEHHkvg
Nrltyft6LRCdIdWz3jGwu5DIKgL4haDmukjjzQwfcgkFQXx4LcFvsxyRfDhZLC6GPVe7l4yvSFsAqGDfuzJp53u10vaGQGgOOdDdYIumf6U4uCzwgQaYQEuLohu5XJbW 4DUf0

เรียนรู้การอนุรักษ์ศิลปกรรมผ่านสื่อการบูรณะซ่อมแซม 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งมากว่าศตวรรษ จึงมีผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ยิ่งนานวันกาลเวลาล่วงเลยผ่านจึงทำให้ผลงานเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมไป การอนุรักษ์และรักษาสภาพของผลงานให้ธำรงคงอยู่คู่มหาวิทยาลัยได้ต่อไปอย่างสง่างามจึงเป็นสิ่งที่อนุชนคนรุ่นหลังพึงกระทำ แม้จะมิอาจทำได้โดยง่ายก็ตาม หากแต่จำต้องอาศัยองค์ความรู้ในขั้นตอนการบูรณะซ่อมแซมอย่างพิถีพิถัน ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป ผ่าน “โครงการอนุรักษ์สงวนรักษาผลงานศิลปกรรม” ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อธำรงรักษาผลงานศิลปกรรมของจุฬาฯ ให้ยังทรงคุณค่าและมีความสมบูรณ์ต่อไปได้อีกหลายสิบปี 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสังกัดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ดำเนินการตามขั้นตอนการอนุรักษ์สงวนรักษาผลงานศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยหลายชิ้น อาทิ ภาพวาดสีน้ำมันพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งประดิษฐานอยู่ในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชิ้นเอกของจิตรกรชาวเยอรมัน “Emil Groote” โดยทุกขั้นตอนของการบูรณะ จุฬาฯ โดยพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดทำวีดิทัศน์บันทึกองค์ความรู้ที่ใช้ซ่อมแซมรักษา โดยเรียบเรียงและลำดับความเข้าใจในทุกขั้นตอนตลอดจนวิธีเก็บรักษาผลงานศิลปกรรมต่าง ๆ ไว้อย่างถูกต้อง เพื่อใช้เป็นสื่อที่เป็นประโยชน์เผยแพร่ต่อบุคลากรด้านการอนุรักษ์ผลงานศิลปกรรมของชาติและผู้ที่สนใจได้ศึกษาต่อไป

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner