เปิดใจ ผศ.ดร.จุฑามาศ นายช่างหญิงแห่งวิศวฯ จุฬาฯ ผู้พัฒนารถเคลื่อนที่ตรวจโควิด-19 ทันใจ
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ หรือ อาจารย์กุ้ง เป็นประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากงานสอน อีกบทบาทของอาจารย์คือ การทำงานวิจัยที่ใช้วิศวกรรมศาสตร์เป็นจุดเชื่อมโยงความรู้หลากหลายด้าน เพื่อประดิษฐ์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการแพทย์ และสุขภาพ
เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ส่งสัญญาณการแพร่ระบาดในประเทศไทย อาจารย์กุ้ง รวมทั้งคณาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช และภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันพัฒนา “รถกองหนุน” รถความดันบวกปลอดเชื้อ สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปตรวจ และทำหัตถการผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งทำงานต่อเนื่องในการพัฒนา “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุก ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ โควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มนับหนึ่งในประเทศไทย
นี่คือเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของภารกิจรถกองหนุน จนถึงวันที่รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษคันต้นแบบสร้างเสร็จสมบูรณ์ เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศไทย
ย้อนกลับไปต้นปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นของรถความดันบวก เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
ต้องบอกว่า เป็นการวมพลังในหลายภาคส่วนของชาวจุฬาฯ ค่ะ ด้วยความที่หลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เราจึงระดมความคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มจากการพูดคุยกับคุณหมอ และพยาบาลที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้เราพบปัญหาว่า ความที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และมีแนวทางรักษาที่ต้องมีการกักตัว แพทย์กับพยาบาลต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล PPE (Personal Protective Equipment) เข้าไปดูแลผู้ป่วย ซึ่งในช่วงแรก ๆ ชุด PPE มีจำนวนจำกัด
จากโจทย์ดังกล่าว เราจึงคิดถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณหมอดูแลผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง และสำคัญที่สุดคือ ต้องปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นที่มาของ “รถกองหนุน” รถปลอดเชื้อระบบความดันบวกที่มีมาตรฐานเดียวกับห้องผ่าตัดในโรงพยาบาล โดยออกแบบเน้นความคล่องตัว สามารถขับเข้าห้องผู้ป่วย และลิฟต์โดยสารได้ นอกจากนี้ยังมีช่องให้มือยื่นออกมาทำหัตถการ เช่น วัดไข้ เปลี่ยนสายน้ำเกลือ จนถึงเก็บเชื้อออกมาวิเคราะห์ ช่วยให้บุคคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE บ่อย ๆ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง
ใช้เวลาผลิตรถต้นแบบเท่าไรครับ
ประมาณ 1 เดือนค่ะ เป็นการทำงานแข่งกับเวลา เพราะอยากให้บุคลลากรทางการแพทย์ได้ใช้งานเร็วที่สุด หลังจากนั้นก็ผลิตอีก 50 คันในเวลา 2 เดือน เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานทางการแพทย์ทั่วประเทศ รวมถึงสถานที่กักตัวผู้ป่วยที่รัฐบาลจัดไว้ (state quarantine)
เรื่องราวในช่วงเวลา 1 เดือนนั้น ยากและเหนื่อยขนาดไหนครับ
เหมือนหนังชีวิตย่อม ๆ เรื่องหนึ่งเลย (ยิ้ม) เนื่องจากเป็นการทำงานภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า โควิด-19 คืออะไร จึงตื่นตระหนก ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายปิดเมือง ให้คนอยู่บ้าน แต่เราหยุดไม่ได้ ต้องมีคนงานผลิตรถให้ได้ทันเวลา ช่วงนั้นทีมงานแทบจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงงาน อะไหล่บางชิ้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เรียกว่าทำทุกทาง ติดต่อซับพลายเออร์ทุกบริษัทที่รู้จัก พอได้มาก็ขอให้ส่งด่วน เรียกว่าใช้วิทยายุทธทุกอย่างที่มี
ถ้าเปรียบเป็นหนังกำลังภายในก็เหมือนการรวมจอมยุทธจากทุกสำนักมาช่วยกัน
ประมาณนั้น ทุกวันเต็มไปด้วยความท้าทาย จริง ๆ ใช้คำว่า ดิ้นรนก็ได้ (หัวเราะ) ไหนจะข้อจำกัดเรื่องเวลา การเดินทาง การขนส่ง ด้วยเงื่อนไขผลิตอุปกรณ์ให้เร็วที่สุด ถือเป็นความท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต
เมื่อรถกองหนุนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ มีเรื่องประทับใจอะไรบ้างครับ
หลังจากบริจาครถให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เราสร้าง Line@ เพื่อสอบถามผู้ใช้งาน ซึ่งได้เสียงตอบรับที่น่าประทับใจมากมาย อย่างช่วงหนึ่งที่สงขลาและหาดใหญ่เกิดการระบาด เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งภาพและคลิปวิดีโอมาขอบคุณว่า ได้ใช้รถกองหนุนแล้ว เขารู้สึกปลอดภัย และมีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ขึ้น พออ่านก็รู้สึกปลื้มใจที่เห็นว่า งานวิจัยที่เราทำได้ถูกใช้จริง สิ่งนี้เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักวิจัยหลาย ๆ คน แต่รถคันนี้ไม่ถึงขนาดเป็นพระเอกขี่ม้าขาวนะคะ เราตั้งใจให้เป็นเหมือนชื่อ กองหนุน เพราะในช่วงเวลานั้นมีหลายหน่วยงานที่ผลิตนวัตกรรมออกมาช่วยคุณหมอ เราเป็นเพียงหนึ่งมิติที่ได้โอกาสเข้าไปช่วยเหลือ
หลายครั้งที่งานวิจัยต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ใช้จริง แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก
ใช่ค่ะ (ยิ้มกว้าง) ปกติการทำวิจัยเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้ทุกคนได้เห็นว่า งานวิจัยไม่ได้ทำแล้วขึ้นหิ้งอย่างเดียว เป็นเหมือนการทลายกำแพงที่บางคนพูดว่า ทำวิจัยเพื่อตีพิมพ์ เพราะครั้งนี้มันจับต้องได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริง ๆ
แต่แล้ว โควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นก็เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563
พอสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศเริ่มดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เป็น 0 ติดต่อกัน ก็จะเห็นว่า คนกลับมาใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม แต่ในระหว่างนั้นทีมอาจารย์ไม่ได้หยุดพัก เราคุยกับกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคตลอดว่า มีโอกาสที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้า เพราะฉะนั้นระหว่างที่คนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตปกติ ทีมงานก็เริ่มพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ซึ่งได้รับโจทย์จากกรมควบคุมโรค รวมทั้งประสบการณ์จากการระบาดรอบแรกที่ทำให้พบว่า มีหลายหน่วยงานผลิตอุปกรณ์ตรวจเชื้อ แต่คอขวดจะมาอยู่ตรงการวิเคราะห์เชื้อที่ถูกเก็บจากทั่วประเทศ ซึ่งมีคิวยาวเหยียด
และด้วยพระวิสัยทัศน์และสายพระเนตรอันกว้างไกลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า เป็นขั้นตอนจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ทรงมีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และทีมผู้เชี่ยวชาญ สร้างห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อออกไปตรวจวิเคราะห์ผลได้นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงาน โดยเฉพาะกรณีลงพื้นที่ตรวจค้นหาเชิงรุก (active case finding) ที่มีการระบาดในชุมชน จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ที่ 2 นั่นคือ รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (Express Analysis Mobile Unit) รถคอนเทนเนอร์ที่เป็นเหมือนห้องแล็บเคลื่อนที่
รถคันนี้ทำงานอย่างไรครับ
คอนเซ็ปต์คือ เป็นห้องแล็บเคลื่อนที่เพื่อลงไปในชุมชน พอเก็บเชื้อเสร็จก็ส่งขึ้นมาตรวจบนรถ และวิเคราะห์ผลได้ทันที ภายในประกอบด้วยห้องแล็บ 3 โซนตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) ให้ผู้ปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์ผลได้อย่างถูกต้อง สะดวก และปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุม และป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค โดยใช้คนทำงานในรถแค่ 2 คนก็ทำได้ครบกระบวนการ
โครงสร้างด้านในวางเครื่องวิเคราะห์ PCR ได้ 4 – 5 เครื่อง ยกตัวอย่างถ้าต้องการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก ที่โรงงานที่มีพนักงาน 1,000 คน แล้วอยากรู้ผลวันนั้นก็เป็นไปได้ สามารถวิเคราะห์ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อ เครื่อง PCR และรู้ผลได้ใน 3 ชั่วโมง
ล่าสุดรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษได้ลงปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดสมุทรสาครแล้ว
ใช่ค่ะ (ยิ้ม) เป็นวันที่อาจารย์และทีมงานทุกคนรู้สึกภูมิใจมาก จริง ๆ ได้ทดลองใช้ครั้งแรกในวันที่ 22 มกราคม 2564 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษให้กระทรวงสาธารณสุขใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ค้นหาเชิงรุกกรณีพบผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (NBT) ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเราสามารถตรวจจำนวน 222 ตัวอย่าง ได้ผลรวดเร็วตามที่คาดหมายไว้
และวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษได้ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อเสริมกำลังในการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลการตรวจในพื้นที่ ยิ่งรู้ผลเร็วเท่าไรก็ยิ่งควบคุมสถานการณ์ จำกัดพื้นที่ และกักตัวคนที่ติดเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่อาจารย์ได้เรียนรู้มากที่สุดในการทำงานช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 คืออะไรครับ
แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากให้เกิดโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องดี ๆ ที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ อย่างอาจารย์ที่ได้ทำงานนวัตกรรมครั้งนี้ ก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานภายใต้ข้อจำกัด ได้รู้จักผู้ร่วมงานจากหลากหลายอาชีพ ในอนาคตไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม เรามีกลุ่มคนที่มีความรู้ และพร้อมทำงานช่วยเหลือประเทศอย่างทันท่วงที อย่างเช่นภารกิจในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากหลายฝ่าย ตั้งแต่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทีมงานจากคณะต่าง ๆ รวมถึง พี่ ๆ นิสิตเก่า และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มอบเงินสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์ในรถ
นอกจากนี้ ยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยในเวลาเกิดภัย ประเทศไทยน่าจะเป็นหนึ่งชาติที่มีการทำนวัตกรรมเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาเยอะมาก ไม่ว่าหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย จนถึงหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ที่อยากช่วยคุณหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
คนในชาติของเรามีพลังที่สุดยอดมากจริงๆ
ติดตามความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนการสร้างและพัฒนาโครงการ รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ได้ที่ เฟซบุ๊ค EngineLife