จุฬาฯ พัฒนา 5 นวัตกรรมใส่ใจผู้ป่วยสมองขาดเลือดครบวงจร ชู Telemedicine ดูแลคนไทยพ้นภัยหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกนับล้าน จากการเปิดเผยของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2562) ระบุว่า ในปีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 5.5 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากอาการหลอดเลือดสมองตีบตันแล้วมากกว่า 80 ล้านคน เป็นผู้ป่วยใหม่มากถึง 13.7 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยกว่าร้อยละ 60 ต้องปิดฉากชีวิตก่อนวัยอันควร โดยข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่จำนวนผู้ป่วยของโรคนี้กว่า 1 ใน 4 นั้นมีอายุเพียง 25 ปีขึ้นไปเท่านั้น สำหรับสถานการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยในช่วงปี 2556-2560 ก็มีแนวโน้มสถานการณ์เฉกเช่นเดียวกับทั่วโลกเช่นกัน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอยู่บนสุดของหัวตาราง โดยในปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 304,807 ราย และมีผู้เสียชีวิตราว 30,000 ราย
ศ. พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ อาจารย์ประจำภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “แม้ประเทศที่มีรายได้สูงจะมีอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองลดลงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันจึงมีความสำคัญอย่างมากเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความพิการ และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้พัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดทุกระยะอย่างครบวงจร”
จากการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรอย่างเข้าใจผนวกกับทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์ของคณาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ในหลายแขนง จึงนำไปสู่ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมรองรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 5 ผลงาน ได้แก่
- พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ (application) บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ Real Time Video Telestroke ที่สามารถแสดงผลภาพ เสียง ข้อมูลสัญญาณชีพ สัญญาณคลื่นหัวใจ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การตรวจ CT Scan ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจประเมินผู้ป่วย ณ เวลาปัจจุบัน (real time) ผ่านการติดต่อแบบสองทาง (two-way communication) ที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและรถพยาบาลเข้าด้วยกันเพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือประเภท smartphone และอุปกรณ์แท็บเล็ต (tablet) เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลัน โดยให้ปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้ทดลองใช้ในโรงพยาบาลแม่ข่ายของระบบบริการสุขภาพด้านโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Service Plan) กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร
- พัฒนานวัตกรรมบริการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ตั้งแต่หอผู้ป่วยเฉพาะด้านโรคหลอดเลือดสมองจนออกจากโรงพยาบาลเพื่อพักฟื้นที่บ้าน รองรับผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีภาวะวิกฤต โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีอุปกรณ์การดูแลรักษาที่ครบถ้วนตามมาตรฐาน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ Stroke Robot ใน Stroke Unit และ ICUStroke ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ติดต่อกับแพทย์ในหอผู้ป่วยและผู้ป่วยได้ตลอดเวลารวมทั้งในและนอกเวลาราชการ
- พัฒนาเตียงอัจฉริยะ (Smart Bed) ติดตั้งสื่อการเรียนรู้บน Smart device ติดเตียงและโทรศัพท์มือถือของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ผ่านการดำเนินโครงการสู่ความเป็นเลิศ เรื่อง “การพัฒนาเตียงอัจฉริยะ (Smart Bed) สำหรับหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีสื่อการเรียนรู้สำหรับการดูแลตนเองเมื่อเกิดโรคประจำเตียงขณะพักรักษาในหอผู้ป่วย ซึ่งสามารถทบทวนความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากทีมสหสาขาวิชาชีพด้วยตนเองได้ตลอดเวลา
- พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอขนาดเล็กให้ผู้ป่วยนำกลับไปที่บ้าน (Home Health Care Robot) ช่วยให้แพทย์ประเมินสภาวะและติดตามอาการของผู้ป่วยผ่านทางโทรเวชกรรม รวมถึงการเตือนให้รับประทานยาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งเกิดความร่วมมือกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พัฒนาสื่อวิดีทัศน์เพื่อให้ความรู้และสอนวิธีทำกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วย และพัฒนาระบบ call center 24 ชั่วโมง ช่วยให้ผู้ป่วยและหรือญาติสามารถโทรขอรับคำปรึกษาเรื่องการดูแลจากทีมพยาบาลศูนย์ดูแลสุขภาพต่อเนื่องที่บ้าน (Home Health Care) ได้ด้วย
นอกจากนี้ ได้มีความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาทิ ฝ่ายอายุรศาสตร์ ฝ่ายรังสีวิทยา และฝ่ายศัลยศาสตร์ ร่วมกันดำเนินโครงการรักษาผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันโดยการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือด (Mechanical Thrombectomy) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดซึ่งโดยปกติมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย จัดบริการติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้านภายหลังได้รับการรักษาระยะเฉียบพลันช่วงแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พัฒนาบริการคลินิกโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Clinic) เพื่อให้บริการดูแลรักษาต่อเนื่อง ติดตามภาวะสุขภาพกายและจิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ติดตามการดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำของโรค พร้อมประเมินความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งอยู่ในระหว่างพัฒนากระบวนการ
มากไปกว่านั้น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งนี้ไม่เพียงพัฒนานวัตกรรมการบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่ยังจัดอบรมให้ความรู้ทางวิชาการทั้งด้านการรักษาด้วยยา การใช้อุปกรณ์และอื่น ๆ แก่บุคคลากรทางแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 200 -400 คน จากโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 30 แห่ง และมีตัวแทนจากโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกกว่า 36 จังหวัด นอกจากนี้ ยังได้จัดการประชุมวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการพร้อมสร้างระบบพยาบาลพี่เลี้ยง (Preceptorship) กับเครือข่ายโรงพยาบาลในต่างประเทศ อาทิ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อีกด้วย จากผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมการบริการมากมายจึงทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถดูแลผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่าย ทันสมัย ทันท่วงที และมีคุณภาพมากขึ้นกว่าที่เคย ช่วยให้แพทย์และพยาบาลเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างง่ายดายไร้พรมแดนผ่านระบบสื่อสารทางไกล Telemedicine ช่วยลดระยะทางในการเดินทางของผู้ป่วยเพื่อมาพบแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันยังได้รับการช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือด (Thrombolysis) และการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือด (Mechanical Thrombectomy) ได้เพิ่มมากขึ้น