D56C2204 58B8 452E 8D96 3DF0FEA88E39

อาร์ม-ปาณพล จันทรสุกรี ผู้สร้างจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส รันเศรษฐกิจ ฝ่าโควิด-19

ในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับไวรัสโคโรนา 2019 ศัตรูไร้ตัวตนของมวลมนุษย์ชาติ เป็นจังหวะที่ระบบเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องถูก Disrupt อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ บรรยากาศการทำมาค้าขายแบบเก่าต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน แต่ทันใดนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ “ตลาดแตก” ขึ้นชั่วข้ามคืน เมื่อ E-Marketplace จากแพลตฟอร์ม Facebook close group ค่ายศิษย์เก่าหลากมหาวิทยาลัยไทยแข่งกันสร้าง “ตลาดซื้อขายออนไลน์” เฉพาะกลุ่มขึ้นมา ผุดโอกาสท่ามกลางวิกฤติ ให้ทุกคนผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ขายสไตล์ WFH จนเงินสะพัดช่วยประคับประคองให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้

และแน่นอนว่า “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” คือ ตลาดออนไลน์ที่มีสมาชิกมากที่สุดราว 2.5 แสนราย ที่เปิดโอกาสให้ทั้งนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่บุคลากรจุฬาฯ ได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอย่างเต็มที่ ในบรรยากาศที่อบอุ่นและมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างสีสันให้ช่วงวิกฤติโควิด-19 ของใครหลายคนกลับมาสดใสซาบซ่าอีกครั้ง

2179CBF1 B71E 4F17 8D52 EF88798C097A

The Sharpener มีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณอาร์ม ปาณพล จันทรสุกรี” ผู้ก่อตั้งจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ผ่านรายการ “ตั้งวงเล่า เหลาความคิด” ใน Episode 5 ที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่า จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ไม่ได้เป็นแค่ E-Marketplace ธรรมดา แต่เป็น Social Commerce ที่จะรันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ฝ่าได้ทุกวิกฤติ

จุฬาฯมาร์เก็ตเพลสเกิดขึ้นได้อย่างไร

นิสิตเก่าสถาปัตย์จุฬาฯ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการ Event Organizer เปิดเผยว่า ตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศล็อคดาวน์ งานอีเวนต์ที่เคยได้รับจากลูกค้าหายไปทันที ทำให้ธุรกิจของคุณอาร์มต้องปิดเทอมใหญ่ก่อนใครหลายคน

“ช่วงวิกฤติที่ผ่านมา อาร์มกระทบหนักมาก คนอื่นยังได้ work from home แต่ของอาร์มแย่กว่า ไม่มีแม้แต่ work ให้ work from home ต้องหยุดอยู่บ้านเฉย ๆ ทำให้มีเวลามาช่วยงานคุณแม่ ซึ่งเปิดร้านขายขนมเล็ก ๆ ชื่อร้านแม่แมว ช่วยขาย ช่วยโพสต์รับออเดอร์ วันหนึ่งมีพี่ที่ออฟฟิศนำขนมของแม่ไปโพสต์ในไลน์กลุ่มในหมู่บ้าน มีสมาชิกอยู่แค่หลักร้อยคน แต่ผลตอบรับดีมาก ทำให้อาร์มมองเห็นโอกาสว่า โมเดลการโพสต์ขายของในตลาดออนไลน์แบบนี้ดูเวิร์ค์ดี และได้เห็นของทางธรรมศาสตร์ผ่านตามาบ้างก็ว่ามันเข้าท่า เลยโพสต์ในเฟสบุคตัวเอง ถามว่าฝั่งจุฬาฯ มีใครทำไหม อยากหาที่ขายของ ถ้ามีจะขอเข้าไปขายของให้คุณแม่ปรากฏว่าไม่มี ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาอาร์มเลยตัดสินใจครีเอทกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุค โดยไม่มีความรู้เรื่องดิจิตัล หรือเรื่องบริหารอะไรเท่าไหร่ ความคิดของเราตอนนั้นคือ แค่อยากหาที่ขายของแค่นั้น”

DAB79FBD E1A1 4CEC B636 90432DCE952C

เสน่ห์ของจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสที่ทำให้มียอดเมมเบอร์ถึง 2.5 แสนราย

พลังแห่งความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผูกพัน ศรัทธา ทั้งต่อสถาบัน เพื่อน พี่น้อง ทำให้จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสมีสมาชิกทะลุหมื่นภายใน 18 ชั่วโมง และทะลุแสนได้ใน 1 สัปดาห์ จนมาถึง 2.5 แสนคนในปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่าคนจุฬาฯ มีอยู่ทุกที่ บุคคลทั่วไป ศิลปิน ดารา เซเลป เรามีหมด ซึ่งคนเหล่านี้มีแม่เหล็กดึงดูดด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อเราทุกคนประสบปัญหาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน เลยทำให้เรามีความรู้สึกร่วมกัน พอมีพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาหาโอกาส เปิดตลาดให้ตัวเอง ทั้งสินค้า บริการ หรือโปรไฟล์ส่วนตัว ทุกคนก็เข้ามากันเยอะมาก และด้วยเสน่ห์ของตลาดที่เป็นลักษณะ Social Commerce ที่คนซื้อคนขายได้มีปฏิสัมพันธ์กัน แม้จะไม่ได้เจอหน้ากัน แต่ฟีลลิ่งในการซื้อขายมันใกล้เคียงกับความจริงมาก ๆ”

วัตถุประสงค์ของจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสคืออะไร

“วัตถุประสงค์แรกที่อาร์มสร้างจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสขึ้นมาคือ หาพื้นที่ขายของ เมื่อมีพื้นที่ขาย มีคนขาย มีคนซื้อ วัตถุประสงค์ต่อมาก็เกิดขึ้นคือ รันเศรษฐกิจ เราอยากให้เศรษฐกิจของบ้านเราก้าวต่อไป เคลื่อนไหวต่อไป แม้จะเจอวิกฤติเราไม่ได้อยากรอดคนเดียว อยากให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน บางคนจากที่ต้องปิดร้านช่วงโควิด พอเข้ามาในจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มียอดขายมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเพราะช่วงล็อคดาวน์คนไม่มีภาษีสังคม ไม่ต้องออกไปร้านอาหาร สังสรรค์ก็ไม่มี คนเลยใช้การช้อปปิ้งเพื่อบำบัดตัวเอง ยิ่งได้ซื้อจากพี่น้องสถาบันเดียวกัน ได้ช่วยเหลือกัน ช่วยเหลือคนที่เขาลำบาก คนก็เต็มใจอยากซื้อ อยากช่วย”
คุณอาร์มกล่าวด้วยความอิ่มเอมใจ

139A5D8E ED92 4659 8C8C 54B3177B57B0

สร้างตลาดให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมได้อย่างไร

“อาร์มไม่ได้สร้าง E-Marketplace ขึ้นมาด้วยทักษะหรือความเป็นมืออาชีพ แต่สร้างขึ้นมาด้วยความหวังว่าเราต้องรอด ต้องมีโอกาส เราต้องการพื้นที่ขายสินค้า ดังนั้นการจัดการในช่วงแรกก็ติดขัดบ้างเพราะเรามีจำนวนโพสต์เยอะมาก การตอบกลับอาจจะช้าบ้าง แต่เรามีทีมงานซึ่งเป็นนิสิตเก่าทั้งหมดช่วยกันดูแลหลังบ้าน แบ่งหน้าที่กันทำงาน มีผู้หลักผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เรื่องกฎระเบียบ ความถูกต้องเหมาะสมต่าง ๆ ในกลุ่ม เพราะมีชื่อสถาบันอยู่ในชื่อตลาด เราต้องคิดให้มากก่อนจะสื่อสารอะไรออกไป และพยายามรักษาวัตถุประสงค์ที่จะรันเศรษฐกิจของตลาดไว้ให้หนักแน่น”

หลายคนสงสัย ทีมงานได้อะไรจากจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส

เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามขึ้นในใจ คุณอาร์มและทีมงานได้อะไรจากการบริหารจัดการ Facebook close group นี้ และนี่คือคำตอบชัด ๆ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลสเป็น Free Space ไม่ได้เก็บเงินสมาชิก ไม่ต้องมีส่วนแบ่งใด ๆ ให้แอดมินหลังบ้าน สิ่งที่อาร์มได้ คือสิ่งที่ทุกคนได้รับเหมือนกันคือ ได้รับโอกาสให้เข้ามาโพสต์ขายของ ทุกคนได้รับสิทธิ์เท่ากัน ไม่มีสิทธิ์ของคนก่อตั้ง คนลำบากมาก คนลำบากน้อย เพราะไม่มีไม้บรรทัดวัดความลำบาก ตลาดนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์ขาย สิทธิ์ซื้ออย่างเท่าเทียมกัน”

14905115 2C8A 4B78 B1D4 A701BABFFC01

ทิศทางและเป้าหมายของจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสในอนาคต

แม้ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดเริ่มบรรเทาลง คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ การใช้เวลาที่หน้าจอเหมือนตอนล็อคดาวน์ลดลง แต่บรรยากาศการซื้อขายสินค้ายังมีอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่หนาแน่เหมือนช่วงแรก แต่จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสยังคงเดินหน้ารันเศรษฐกิจช่วยคนไทยต่อไป ด้วยคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้ตลาดคึกคัก ทั้งการสร้างสรรค์ จุฬาฯ มิวสิคเพลสขึ้นมาสร้างสีสันให้ชาวตลาด เรื่องเล่าชาวตลาด รวมถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่สามารถเขียนเรื่องราวของตัวเองเพื่อรีวิวฟีดแบ๊คในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา เพื่อแบ่งปันและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนสมาชิกด้วยกัน

BA898B7A D62D 4AFF A3DA B622ECF07F07

“จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสมาได้ถึงจุดนี้เพราะกำลังใจจากคนที่รอดวิกฤติมาด้วยกัน ทุกคนช่วยกันรันเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ชีวิตของทุกคนและครอบครัวก้าวต่อไปได้ นี่คือกำลังใจของคนทำงาน อาร์มทำมาขนาดนี้ อาร์มไม่มีทางทิ้งไปง่าย ๆ เพราะจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสเป็นเหมือนของที่ระลึกจากโควิด-19 ถ้ามีคนถามอาร์มว่า ช่วงโควิดเป็นยังไง อาร์มก็จะตอบได้อย่างภูมิใจว่า นี่คือสิ่งที่ฉันสร้างมาเมื่อเกิดโควิด-19 เราไม่ได้รอดคนเดียว แต่มีครอบครัวอื่น ๆ รอดไปด้วยกัน”

“ในวิกฤติมักมีโอกาสอยู่เสมอ” เชื่อว่าทุกคนล้วนเคยได้ยินวลีนี้อยู่บ่อย ๆ แต่จะอินกับความหมายหรือไม่นั้น ต้องเจอกับตัวเองถึงจะเข้าใจว่า โอกาสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติ เป็นแสงแห่งทางรอดที่ช่วยดึงชีวิตให้กลับมาฮึดสู้อีกครั้ง ด้วยพลังแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา

ติดตามรายการย้อนหลังได้ที่

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner