ส่องธุรกิจนวดไทย-สปา ปลุกความมั่นใจ ปรับตัวอย่างไรให้รอดตายจากโควิด-19
อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังลุ้นอย่างใจจดใจจ่อให้รัฐบาลประกาศผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการ คือ “ธุรกิจนวดแผนไทยและสปา” ที่ได้ชื่อว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมรายการที่ 2 ของไทยได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกต่อจากโขน เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยราว 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยได้รับอานิสงค์จากความคึกคักของตลาดท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติทั่วสารทิศ โดยเฉพาะชาวจีน
แต่ใครจะคาดคิด เมื่อธุรกิจเอกลักษณ์ไทยอย่างนวดสปาต้องหยุดชะงักลง จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ทำให้ธุรกิจที่มีลู่ทางสดใสของผู้ประกอบการนับพันราย กลับต้องหยุดให้บริการลงชั่วคราวมาร่วม 2 เดือน เดือดร้อนกันทั้งห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ทำให้ชีวิตผู้ประกอบการ หมอนวดเพื่อสุขภาพ ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกันมากนัก ยิ่งหากยังไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้อาจทำให้ชีวิตต้องพบกับความพลิกผันครั้งใหญ่กว่าที่คาดคิด กลายเป็น New Normal ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ก็อาจเป็นได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพ 50 คน เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เรียกร้องให้เปิดบริการนวดเพื่อสุขภาพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักหน่วง
ศบค. ยืนยันจะเร่งช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยา แก่ผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพ 15,000 ร้านทั่วประเทศ พนักงานกว่า 400,000 คน ที่ได้รับผลกระทบโดยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ และเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง โดยจะนำเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (26 พ.ค.) เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ภายในวันที่ 31 พ.ค.2563 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำลิงค์ไทยชนะ ให้แก่ทุกร้านนวด พร้อมเตรียมลงพื้นที่ตรวจดูสภาพของร้านนวดเพื่อสุขภาพอย่างใกล้ชิด
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแนวทางรองรับให้สถานบริการประเภทนวดแผนไทย สปา และคลีนิคเสริมความงามสามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง หากรัฐบาลและ ศบค. ให้ความเห็นชอบ โดยมีมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- สถานประกอบการ ต้องทำความสะอาด จัดสถานที่เว้นระยะห่าง จัดจุดพื้นที่ภายนอกหรือส่วนแยก (Isolate area) เพื่อคัดกรอง เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เพียงพอ
- ผู้รับบริการ ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานบริการ/สถานพยาบาล
- ผู้ให้บริการ ต้องจัดทำเวชระเบียนเพื่อซักประวัติผู้รับบริการ ให้บริการแบบ 1 คน ต่อแพทย์ พยาบาลหรือผู้ให้บริการ 1 คนเท่านั้น
- ผู้ให้บริการต้องจัดเตรียมห้องทำหัตถการแยกห้อง ๆ ละ 1 คน ถ้าห้องรวมจะต้องเว้นหรือมีผ้าปิดกั้น
- ในช่วงให้บริการ เน้นการคัดกรองผู้รับบริการเป็นสำคัญ วัดอุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียล หากพบภาวะเสี่ยงต้องรายงานและส่งต่อรักษาได้ทันที
- ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการนวดต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
- ก่อนและหลังให้บริการ แต่งกายรัดกุม
- ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
- ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หลังใช้งาน และไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
- ทำความสะอาดพื้นที่และจัดเก็บขยะทุกครั้ง
- แม่บ้านทำความสะอาดต้องจัดการขยะติดเชื้อแยกเฉพาะโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ทิชชูที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก จะต้องเก็บใส่ถุงมิดชิด
แม้ปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ จะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานมนุษย์ แต่งานบางประเภท เช่น เสริมความงาม สปา หรือนวดเพื่อสุขภาพ ยังไม่สามารถอาศัยเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ได้ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการให้บริการ (High Touch) และปัจจุบันตลาดสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตได้อีกยาวไกล ยิ่งยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้แก่นวดไทย เป็นวัฒนธรรมมหัศจรรย์ที่ช่วยรักษาโรค รัฐบาลยิ่งต้องเร่งเดินหน้ายกมาตรฐานสถานที่ให้บริการนวดไทย มาตรฐานผู้นวด ให้เป็นบริการที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ และสืบสานเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีบริบทใหม่ที่ยืนอยู่ฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการเข้ามาเป็นอีกปัจจัยในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ด้วย
มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น ล้วนเป็นพื้นฐานตั้งต้นให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับรูปแบบการให้บริการ สอดรับกับแนวทางชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ซึ่งมีคำถามที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการจะต้องปรับกันอย่างไรจึงจะใช่ จึงจะถูกต้อง จึงจะถูกระเบียบ และที่สำคัญคือ ปรับอย่างไรจึงจะถูกใจลูกค้าผู้รับบริการด้วย
พบกับตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจนวดไทย-สปาให้รอดตายในยุคโควิด-19 และกลับมาผงาดได้อีกครั้ง กับ “ตุลย์ – ภากร ธนศรีวนิชชัย” เจ้าของธุรกิจนวดไทย-สปาชื่อดัง “Nature Thai Massage” พร้อม “ดร.ศรายุธ แสงจันทร์” อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) และ CFO มิตรผล กูรูมากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วทุกวิกฤติ ในรายการ “ตั้งวงเล่า เหลาความคิด” วันพุธที่ 27 พฤษภาคม นี้ เวลา 20.00 – 21.00 น. ทางแฟนเพจ “The Sharpener” และ “Chula Alumni”
ถ้าคุณเป็นคนชอบนวด พลาดไม่ได้ !
ข้อมูล : https://hss.moph.go.th/ , https://marketeeronline.co/archives/138860