เมื่อคลิปหลุด ใครกันแน่ที่สังคมออนไลน์เลือกประณาม?
กรณีคลิปหลุดของเน็ตไอดอล “พิมพ์ กรกนก” และอดีตแฟนหนุ่ม “ยิ้ว วาริ” กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียลอยู่ขณะนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือฝ่ายชายกลับถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากที่ฝ่ายหญิงออกมาแถลงข่าวพร้อมน้ำตา เรียกร้องให้คนเห็นใจและไม่แชร์คลิปของเธอ ส่งผลให้กลุ่มแฟนคลับของเธอพากันไปคอมเมนต์ประณามใส่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของฝ่ายชายทันทีว่าเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ มายืนยัน การกระทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้อคติทางเพศมาตัดสินโดยขาดการใคร่ครวญ เพียงแค่เห็นผู้หญิงมาร้องไห้ต่อหน้าสาธารณชน ก็ปักใจเชื่อทันทีว่าผู้ชายเป็นฝ่ายผิด ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งยิ้วและพิมพ์ได้แจ้งความร่วมกันเพื่อติดตามหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง ซึ่งถ้ายิ้วเป็นคนปล่อยคลิปเองแล้ว ทำไมพิมพ์ถึงยอมร่วมดำเนินคดีไปพร้อมกับเขาด้วยล่ะ? การที่สังคมด่วนสรุปจึงทำให้เกิดการประณามรุนแรงที่อาจไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายชาย แน่นอนว่าการเผยแพร่คลิปส่วนตัวของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง ไม่ว่าบุคคลในคลิปจะเป็นเพศใดก็ตาม แต่การที่แฟนคลับและชาวเน็ตใช้อารมณ์ความชอบ-ชังส่วนตัวมาชี้นำประเด็น กลับเป็นการบิดเบือนความจริง สร้างแรงกดดันให้สังคมเชื่อไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง จนอาจกลบความผิดของคนที่ควรถูกลงโทษไปได้ ในการวิเคราะห์เรื่องนี้ ตราบใดที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงอาจนำมาสู่การตั้งสมมติฐานได้หลายทิศทาง ทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าผู้ที่ปล่อยคลิปอาจเป็นฝ่ายหญิงเองก็อาจเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างกระแสให้ตัวเองได้ประโยชน์เป็นผลพลอยได้จากยอดฟอลโลว์ที่อาจพุ่งสูงขึ้น หรือเพิ่มค่าตัวในการรับงานโฆษณาแบบน้ำขึ้นให้รีบตัก ในขณะที่บางฝ่ายก็ปักใจเชื่อว่าคลิปนั้นต้องถูกปล่อยออกจากฝ่ายชายอย่างที่เห็นกันอยู่บ้างแล้ว จะด้วยเหตุคึกคะนองตามวัยหรือจะอะไรก็ตามแต่ แต่กระนั่นเราก็ยังคงสรุปอะไรลงไปชี้ชัดไม่ได้หากยังไม่ได้สืบสาวราวเรื่องพบหลักฐานชัดเจน และปล่อยเวลาให้กระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ด่วนเชื่อการออกมาประกาศความเห็นใจจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งสังคมก็ควรเคารพต่ออำนาจศาลสถิตยุติธรรมที่เน็ทไอดอลทั้งคู่เลือกขอเข้าไปพึ่งพิง กรณีนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงพลังของกระแสสังคมออนไลน์ที่อาจผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการประณามโดยขาดความยั้งคิด เราทุกคนจึงต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานใหม่ในการแสดงความคิดเห็น ที่เน้นการใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ไม่ด่วนสรุปตัดสินใครเพียงเพราะแรงกดดันจากเสียงส่วนใหญ่ หรือความชอบ-ชังส่วนตัวแบบพวกมากลากไป หากทุกคนในสังคมออนไลน์ปรับมุมมองให้ยึดมั่นในเหตุผล มีสติ และละวางอคติทางเพศในการแสดงความคิดเห็นได้ นอกจากจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ยังจะช่วยให้การถกเถียงในประเด็นสาธารณะมีคุณภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ที่สร้างสรรค์และเป็นธรรมกับทุกคนอย่างแท้จริง