จุฬาฯ ชูเพศเท่าเทียม ติวเข้มแม่วัยใส คลอดคู่มือสุขภาพคนข้ามเพศ
เพราะความรู้เรื่องทางเพศในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เคย ทั้งการศึกษาธรรมชาติของความเป็นเพศมนุษย์ด้านกายวิภาค สรีระ และพฤติกรรม จนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีประกาศออกมาว่า “มนุษย์มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือทนทุกข์ทรมานได้จากความเป็นเพศมนุษย์เอง” และจัดให้เรื่องทางเพศเป็นหนึ่งในเรื่องสุขภาพอนามัย (Health) ของมนุษย์ พร้อมเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดให้มีบริการด้านสุขภาพทางเพศ (Sexual Health Service) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ (Promotive Care) การป้องกันโรค (Preventive Care) การรักษาโรค (Curative Care) และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitative Care) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจเกิดขึ้น นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตมีความสุขจากความปลอดภัยทางเพศ หรือที่เรียกว่า สุขภาวะทางเพศที่ดี (Sexual well-being) เมื่อมองย้อนกลับมาดูสถานการณ์ทางเพศในประเทศไทย พบว่าปัญหาการเพิ่มประชากรจากการมีบุตรมากและมีบุตรถี่ขึ้นอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุลกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติและกำลังสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของคนในครอบครัวแบบองค์รวม จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า “ปัญหาแม่วัยใส” วัยรุ่นหญิงไทยตั้งครรภ์และคลอดบุตรในวัยรุ่นโดยเฉพาะช่วงอายุ 10-19 ปี นั้น มีทั้งสิ้น 84,578 ราย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าในแต่ละวันจะมีทารกที่เกิดขึ้นจากวัยรุ่นหญิงกลุ่มนี้เฉลี่ยสูงถึงวันละ 232 ราย […]