C578F5DE 1242 4802 B47D 9F1890A9ED33

สัมภาษณ์พิเศษ อธิการบดีจุฬาฯ “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” “CU Shelter in place : จุฬาฯ กับการรับมือ COVID-19”

“วันนี้ภัยจากไวรัส COVID-19 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วย วันนี้เราพิจารณาแล้วว่าผลจากไวรัส COVID-19 ไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมในวงกว้างเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงต้องมีวิธีการเตรียมตัวรองรับหรือรับมือสิ่งเหล่านี้ สำหรับบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก็มีการดำเนินการแล้วด้วยเช่นกัน”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ The Sharpener ถึงมาตรการเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวว่า “ในสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำนั้น เราได้ดำเนินการโครงการที่เรียกว่า Chula shelter in place model for Thailand fights COVID19 หรือ เรียกสั้นๆ ว่า CU Shelter-in-Place” โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวอย่าง Thailand’s Haven บ้านที่เป็น Save Zone อยู่อย่างปลอดภัย สบายใจ พร้อม Hotline ให้ติดต่อได้ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

เรื่องที่ 1 จัดการดูแลรักษาสุขภาพ Health and Well-being Management
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ป้องกันปัญหาหรือรักษา เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ จุฬาฯ เองก็ได้ทำหน้าที่ ตั้งแต่ก่อนจะเกิดการณ์นี้ โดยเราออกตัวประกาศ ออกแนวทางปฏิบัติว่าก่อนที่เราจะป่วย หรือเราจะหลีกเลี่ยงจากการเผชิญกับเชื้อไวรัสควรดำเนินการอย่างไร การล้างมือ การดูแลความสะอาด รวมไปถึงการปฏิบัติตัวตามแนวทาง Social Distancing ในประเด็นที่ 2 ของด้านสุขภาพ ก็คือ เมื่อเราเกิดความกังวลใจขึ้น เรามีวิธีใดที่จะช่วยให้ลดความกังวลใจได้ วันนี้จากผลงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนของ CU Test Kit ซึ่งก็จะเป็นตัวที่จะช่วยสกรีนเบื้องต้น ไม่ให้คนที่ตื่นตระหนก ไปออกันอยู่ที่โรงพยาบาล สามารถตรวจสอบได้เบื้องต้น โดยที่ไม่ได้ดูเฉพาะ Kit แต่ว่าเราดูทั้งระบบ นำสตาร์ทอัพ ไม่ว่าตั้งแต่เรื่องของการ Screening จากข้อมูลที่แต่ละคนเข้ามาดูแล้วป้อนให้ ประเมินกันก่อน เบื้องต้นว่าท่านมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็เข้าไปสกรีน ถ้าเป็นสีเขียวคือถ้ายังไม่เสี่ยงก็ยังไม่ต้องเข้าไป Test อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จุฬาฯ เข้ามาช่วย ในกรณีที่เจ็บป่วยเกิดขึ้น จากที่เราได้ยินกันมาว่าจำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ ทำอย่างไรจึงจะทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ไม่เจ็บป่วยไปด้วย แต่ยังทำการรักษาได้ ในส่วนของจุฬาฯ ก็มีการร่วมมือกันจากคณะต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะคณะแพทย์อย่างเดียว คณะเภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้นนะครับ ก็เข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกัน สร้างหุ่นยนต์เป็นตัวกลางช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ในการเข้าไปตรวจ เราทำ Telenet ก็คือตัวแพทย์ไม่จำเป็นต้องไปตรวจคนไข้โดยตรง สามารถส่งหุ่นยนต์เข้าไปดูและตรวจเบื้องต้นได้ ในขณะเดียวกัน กรณีที่จะต้องส่งอาหารให้ผู้ป่วยติดเชื้อก็สามารถใช้หุ่นยนต์เข้าไปส่งอาหารและยาได้ด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของระหว่างการรักษา ถ้าเกิดขึ้นเราก็มีการจัดสถานที่ ทำการกักกันโรคไม่ให้แพร่ออกไป ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีการจัดการสิ่งเหล่านี้อยู่ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องแรก เรื่องที่เราเรียกว่าจุฬาฯ ช่วยดูแลเรื่องของสุขภาพของบุคลากรจุฬาฯ และได้ขยายขอบเขตออกไปช่วยเหลือโรงพยาบาลของรัฐ ของเอกชน สถานพยาบาลต่าง ๆ ในการที่เป็นหน้าด่านช่วยทำ Screening ด้วย

เรื่องที่ 2 ทำงานจากบ้าน Work From Home (WFH), Live & Mobility
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผนวกกับมีการประกาศพระราชบัญญัติฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนจะทำกันอย่างไรทั้งเรื่องการเคลื่อนย้าย การเคลื่อนที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้น ดังนั้น จุฬาฯ จึงได้มีการจัดการเรื่องการเรียนออนไลน์ 100% ทำให้ นิสิต อาจารย์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบกัน เพราะมีความเสี่ยงด้านการเผยแพร่ และติดเชื้อโรคด้วย ถัดจากนั้น บุคลากรก็สามารถทำงานจากบ้าน Work From Home ซึ่งเราก็ได้แจกซิมการ์ดสำหรับคนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตอยู่ที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานออนไลน์ทั้งหมด

เรื่องที่ 3 การสื่อสาร CU COVID-19 Communication
จะเป็นเรื่องของการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งบุคลากรของทางจุฬาฯ จะมีแอปพลิเคชันในการติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่อง COVID-19 รวมถึงการช่วยดู ติดตามว่าอยู่ที่ไหน มีใครเสี่ยงบ้าง แล้วถ้ามีความเสี่ยงต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน อาหารการกินจะทำอย่างไร พวกเราจะช่วยเหลือดูแลกันอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่เข้าข่ายที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน

เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องที่จุฬาฯ อยู่คู่กับสังคม โดยเฉพาะสังคมที่อยุ่รอบ ๆ จุฬาฯ (CU Partners Engagement)
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จุฬาฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้พิจารณาถึงความเดือดร้อนทั้งทางด้านเศรษฐกิจด้วย ทั้งในส่วนร้านค้าต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสยามสแควร์ มาบุญครอง สยาม สวนหลวง สามย่าน ต่างก็มีปัญหาในการค้าขาย ยอดตก ทางส่วนของผู้เช่าของจุฬาฯ เราก็มีการลดค่าเช่า 50-75% ในช่วงนี้ โดยกำหนดเป้าหมายว่า เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ผู้เช่า ผู้ค้า ก็ยังสามารถผ่านพ้นอยู่รอดไปได้ด้วยกันได้

จุฬาส่งกำลังใจถึงคนไทยทั้งประเทศ
ในเรื่องของเหตุการณ์ COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากกำลังวิตก กังวล ผมอยากจะขอโอกาสนี้เรียนให้ท่านทราบว่า ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าความเป็นสังคมไทยที่มีความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และผมเองก็คิดว่ารัฐบาลก็ได้ดำเนินการมาหลายเรื่อง แต่ละหน่วยงานก็ได้ดำเนินการมาค่อนข้างดี ไวรัสที่แพร่เชื้ออยู่ตอนนี้ เราน่าจะอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ หากว่าเราไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ถ้าเรามีสติ มีความร่วมมือร่วมใจทำตามที่ภาครัฐแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Social Distancing หรือหากใครมีความกังวลใจ ตัวนวัตกรรมจากจุฬาฯ ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัว CU Test Kit เรื่องของสตาร์ทอัพต่าง ๆ แอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็สามารถเข้ามาร่วมใช้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ตื่นตระหนก เราก็จะร่วมกันฝ่าฟันเหตุการณ์ครั้งนี้ และก้าวผ่านไปด้วยกันได้ครับ

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner