กฟผ. ผนึก ม.เกษตร สู้โลกรวน ชวนคนไทยปลูกต้นไม้ง่าย ๆ มุ่งสู่ Carbon Neutrality
กฟผ. ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนรักษ์โลกผ่านการปลูกต้นไม้ทุกชนิด รวมถึงพืชผักสวนครัว หวังลดโลกรวน PM2.5 ให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050
4 ธ.ค.2565 ณ สวนหลวง ร.9 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดกิจกรรม “Forest Talk สรวลเส (วนา) ปลูกป่าอย่างไรให้รอด” ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 แชร์เทคนิครับมือสภาวะโลกรวนและ PM2.5 พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกป่า นำโดยนายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปาร์ค ภาณุภัทร อโนมกิติ ศิลปินนักแสดงตัวแทนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการ “พรรณพฤกษาราชานุสรณ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศ์ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ หอรัชมงคล กฟผ. ยังได้ร่วมจัดแสดงสวนหย่อมในรูปแบบสวนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดอกไม้ป่า กล้าไม้ เฟิร์น และสัตว์น้อยใหญ่ ภายใต้แนวคิด “ปลูกป่าล้านไร่ ปลูกที่ใจ ปลูกเพื่อแผ่นดิน” ณ สวนหลวง ร.๙ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
นายชัยวุฒิ หลักเมือง กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 4.6 แสนไร่ ใน 51 จังหวัด ทั่วประเทศ และปลูกป่าต่อเนื่องเพิ่มเติมอีก 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565 – 2574 รวมเป็น 1.46 ล้านไร่ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคในประเทศ ภายใต้โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม โดยเน้นการปลูกอย่างถูกวิธีและการอยู่รอดของกล้าไม้ที่จะสามารถเติบโตและสร้างคุณประโยชน์แก่โลกได้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้วางแนวทางการดูแลและบำรุงรักษา ป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2583 ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและพันธมิตร เพื่อตรวจติดตามอัตราการรอดตาย และอัตราการเติบโตของกล้าไม้ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการตรวจติดตาม เช่น ระบบดาวเทียม การใช้โดรน และการพัฒนา AI ติดตามการเติบโตของต้นไม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน เพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนมากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 24 ล้านตัน CO2
รองศาสตราจารย์ ดร. พัชรียา บุญกอแก้ว กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับสภาวะโลกรวน และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ทุกคนต้องหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับค่านิยมการรักษ์โลกมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้พุ่ม ไม้ใบ ไม้เลื้อย หรือแม้แต่พืชผักสวนครัว รวมถึงการปลูกป่า ที่เป็นกุญแจสำคัญช่วยลดปัญหาโลกรวนได้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีงานวิจัยด้านพืชโดยเฉพาะวิธีการเลือกพืช และปลูกพืชที่ถูกต้องเพื่อการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ดักฝุ่น PM2.5 ช่วยลดมลพิษในอากาศ ช่วยลดความร้อน ช่วยลดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) ในอาคาร เหล่านี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่เริ่มต้นได้ที่บ้านของเราเอง ขยายไปยังเพื่อนบ้านข้างเคียงวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนในการสู้โลกรวน แก้ไขปัญหา PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายภาณุภัทร อโนมกิติ หรือปาร์ค ศิลปินนักแสดง ในฐานะคนรุ่นใหม่ ได้กล่าวให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้และคุณประโยชน์ของป่าที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาโลกรวนได้ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมมือกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ คืนลมหายใจให้กับโลก ซึ่งผลจากการปลูกและดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์โลกให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน