Banner 182

อย่าปล่อยผู้ป่วยทิ้งไว้กับ “ยาฟาวิพิราเวียร์” โดยลำพัง

“ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสียถึงแก่ชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขไทยเลือกใช้ยาตัวนี้เป็นยาหลักของประเทศที่ใช้สู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วยผลการศึกษาที่เผยให้เห็นถึงประสิทธิภาพช่วยลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกายผู้ติดเชื้อได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดการก่อให้เกิดการอักเสบของปอดซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายที่ไวรัสชนิดนี้มุ่งโจมตี ส่งผลให้อัตราผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมถึงอัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่หากพิจารณาภาพรวมของสถานการณ์ระบบสาธารณสุขไทยในวันนี้ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเตียงและอุปกรณ์ช่วยชีวิตโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจที่เต็มล้นจนติดลบ ไม่สามารถรองรับความต้องการเข้ารักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหลักหมื่นต่อวันติดต่อกันอย่างต่อเนื่องได้ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวไม่มีทางเลือกต่างต้องรักษาตัวเองโดยจำต้องทำ Home Isolation แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน และต้องบริหารการใช้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยด้วยตนเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อมือใหม่ที่มีโอกาสพลาดพลั้งอยู่ไม่น้อย

181986

“ยาฟาวิพิราเวียร์” เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม มีวิธีรับประทานเบื้องต้นในผู้ใหญ่ได้ 2 วิธี ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข โดยจะแบ่งตามเกณฑ์น้ำหนักของผู้ติดเชื้อ ส่วนในคนไข้เด็กนั้นแพทย์จะเป็นผู้ประเมินขนาดยาก่อนสั่งจ่ายทุกครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ผู้ติดเชื้อที่มีน้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัมนั้น ให้เริ่มทานยาวันแรก ครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมง และในวันที่ 2 – 5 ของการรับประทานยา ให้ทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่

2) ผู้ติดเชื้อที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ให้เริ่มทานยาวันแรก ครั้งละ 12 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมง และในวันที่ 2 – 5 ของการรับประทานยา ให้ทานครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ห่างกัน 12 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่

โดยเหตุผลที่จำเป็นต้องรับประทานยาจำนวนมากต่อมื้อเป็นเพราะธรรมชาติของการทำงานของยาชนิดนี้ในร่างกายจำเป็นต้องให้มีขนาดยาในการให้ครั้งแรก หรือ Loading Dose ที่สูงเพื่อให้ความเข้มข้นของยานั้นเพียงพอที่จะกระจายไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการรักษาคือ ปอด และ ระบบทางเดินหายใจส่วนต่าง ๆ ซึ่งต้องมีระดับยามากกว่าความเข้มข้นของตัวยาขั้นต่ำในร่างกาย (Minimal Inhibitory Concentration : MIC) เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

messageImage 1628409680987
Screen Shot 2021 08 08 at 2.31.57 PM

นอกจากนี้ การรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องรับประทานให้ครบทั้ง 5 วัน ด้วยสองสาเหตุหลัก กล่าวคือ การรักษาระดับความเข้มข้นของยาในเลือดนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าไปหยุดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกายได้ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ต่อ และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่ากันนั่นคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาในร่างกายจะเกิดขึ้นรวดเร็วมากถึงสองขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างยาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นตัวยาตั้งต้น (Prodrug) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า T-705 เป็นสารที่ชื่อว่า Favipiravir Ibofuranosyl-5′-triphosphate หรือ T-705-RTP ซึ่งเป็นสารจริงที่ทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ตามมาด้วยขั้นตอนที่สองจะไปเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในตับเพื่อทำให้โครงสร้างเคมีของยานั้นละลายน้ำได้มากขึ้นเพื่อให้ขับถ่ายออกได้ทางปัสสาวะ จึงทำให้ระดับความเข้มข้นของยาลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งได้ภายในระยะเวลา 6.4 ชั่วโมง โดยยังมีระดับยาที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้อยู่ที่ประมาณ 12 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุให้ต้องรับประทานยานี้ทั้งมื้อเช้าและมื้อเย็น โดยห่างกัน 12 ชั่วโมง และยังพบการศึกษาด้วยว่ายาชนิดนี้จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมยาได้ดีกว่าหากรับประทานขณะท้องว่าง

นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์เองก็ไม่สามารถใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยในทุกกลุ่ม โดยกลุ่มที่ห้ามใช้ยานี้เด็ดขาดคือหญิงตั้งครรภ์เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะทารกวิรูปซึ่งเป็นภาวะที่ทารกจะมีอวัยวะไม่ครบ นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นและสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาจิตเวช และยารักษาเบาหวานบางกลุ่มอีกด้วย ส่วนคนไข้อีกกลุ่มที่มีข้อควรระวังในการใช้ยานั้นก็คือคนไข้ที่มีโรคเกี่ยวกับตับ เพราะยาส่งผลต่อการทำงานของตับโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยา ซึ่งแน่นอนว่าการให้ยาฟาวิพิราเวียร์นั้นจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย และต้องแจ้งโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบก่อนรับยาทุกครั้ง อีกทั้งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรตลอดการใช้ยาอย่างเคร่งครัด

Screen Shot 2021 08 08 at 2.31.45 PM

หากผู้ป่วยไม่สามารถบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร หรือในทางกลับกันคือแพทย์และเภสัชกรไม่อาจกำกับดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาชนิดนี้ให้เป็นไปตามโดสยาได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมานั่นคือภาวะความเสี่ยงต่อการดื้อยาของผู้ป่วย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาไม่ตรงเวลา การขาดยาจนทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอต่อการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส อีกทั้งหากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์และปรับโครงสร้างตัวเองให้ทนต่อยาและมีปริมาณมากกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ อาจส่งผลให้เชื้อที่ดื้อยาแล้วนั้นกลับมาแพร่ระบาดต่อไปยังผู้อื่นจนทำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่สามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ในที่สุด

181985

แม้ว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” จะมีคุโณปการต่อการรักษาโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก แต่หากใช้ยาอย่างผิดวิธีก็นำมาสู่หายนะได้ไม่แพ้กัน  ดังนั้นการติดตามผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านไวรัสชนิดนี้ที่บ้านไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งจนหมด แม้ว่าในบางรายอาการอาจบรรเทาเบาบางจนดูเหมือนจะหายดีแล้วก็ตาม และที่จำเป็นต้องเน้นย้ำทิ้งท้ายไว้เลย นั่นคือผู้ป่วยที่กักตัวรักษาอาการเองที่บ้านห้ามแบ่งยาของตนเองให้ผู้อื่นร่วมรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะแทนที่จะหายป่วยกลับกลายเป็นเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การสูญเสียที่ผู้ป่วยเองก็คาดไม่ถึงได้

ที่มา
https://www.thairath.co.th/news/society/2141565
https://www.gpo.or.th/view/462
https://www.pnas.org/content/115/45/11613
https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25640804171629PM_CPG_COVID_v.17_n_20210804.pdf?fbclid=IwAR3v8ePRYwfkWkFWgMsaGBUEztygPpNN9Rdz74XsXor-WUZAkCpNBEt6fg0 https://www.page-meeting.org/pdf_assets/3041-mentre_page15_forpdf.pdf

Tags:
Country senior sales and marketing manager , Iwase Cosfa Thailand
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner