ฟื้นลุ่มน้ำน่านด้วยสหศาสตร์จุฬาฯ
จังหวัดน่านกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนสารเคมีในธรรมชาติ โดยมีการขยายตัวของทั้งเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวไปยังผืนป่าและการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาลในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำได้นำไปสู่การใช้สารเคมีในปริมาณมาก จากรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ปี พ.ศ. 2551 พบการใช้สารเคมีทางการเกษตรสูงถึง 1,172.7 ตันต่อปี โดยสารฆ่าวัชพืชนั้นอยู่ในอันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 92.04 แม้ว่าสารฆ่าวัชพืชจะสามารถสลายตัวไปได้เองตามธรรมชาติ หากบางส่วนยังคงหลงเหลือตกค้างเพราะมีค่าครึ่งชีวิตนานถึง 10 ปี ส่งผลให้ศักยภาพของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลดลงจนเกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทั้งปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย อุทกภัยที่อาจชะล้างสารเคมีทางการเกษตรลงสู่ลำน้ำ สารพิษตกค้างในสัตว์น้ำที่ชุมชนนิยมนำไปบริโภค เช่น ปูนา กบหนอง หอยกาบน้ำจืด และปลากระมัง กระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนตามมาเป็นลำดับ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จึงได้จัดทำโครงการวิทยาเพื่อพื้นถิ่นซึ่งเป็นโครงการตามแผนพัฒนาวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อวิจัยและพัฒนาการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นในลุ่มน้ำน่านแบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดน่านมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ. 2561 สร้างความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน เกิดการชะล้างสารเคมีทางการเกษตรลงสู่แหล่งน้ำอย่างกว้างขวางจนอาจสร้างผลกระทบกับทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ คณะวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน พื้นดิน รวมถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ “ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ในโครงการพระราชดำริของพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน โดยอาศัยแผนที่ลุ่มน้ำน่านในระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศของโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำน่านและลำน้ำสาขาจากแหล่งต้นน้ำจนถึงเขื่อนสิริกิติ์ในพื้นที่ 15 อำเภอ นำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้กับชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งการอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัยผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอน ได้แก่
1) บันทึกข้อมูลปัจจัยทางกายภาพในพื้นที่ปฏิบัติการทั้งอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน และดินตามแนวแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา โดยอาศัยเครื่องมือและวิธีการมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
2) วิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชในตัวอย่างน้ำและดิน เก็บตัวอย่างน้ำ จากแม่น้ำน่าน ลำน้ำสาขาและอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงจำนวน 67 พื้นที่ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 – มีนาคม พ.ศ. 2562 เพื่อตรวจสอบหาสารฆ่าวัชพืชชนิดแอทราซีน ไกลโฟเสต และพาราควอตที่ตกค้างด้วยเทคนิค enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) พบว่า สามารถใช้เทคนิค ELISA ตรวจสอบหาสารฆ่าวัชพืชได้ถึง 58 พื้นที่ตัวอย่าง ซึ่งพบอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำเพื่อการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดของกรมประมง พ.ศ. 2530 ทั้งนี้ พบตัวอย่างน้ำจำนวน 1 พื้นที่ตัวอย่างปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในน้ำดื่ม (3 ไมโครกรัม/ลิตร) ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการบริโภคโดยตรง สำหรับตัวอย่างตะกอนดินและดิน นำตัวอย่างไปอบแห้ง แล้วมาสกัดเพื่อแยกส่วนของสารฆ่าวัชพืชให้อยู่ในรูป ของสารละลาย ก่อนนำไปตรวจสอบหาสารฆ่าวัชพืชชนิดแอทราซีน ไกลโฟเสต และพาราควอต ที่ตกค้างโดยใช้เทคนิค ELISA และวิเคราะห์สัดส่วนอนุภาคดินและปริมาณสารอินทรีย์ในตัวอย่างดิน
3) ตรวจสอบความหลากชนิดของสัตว์ขาข้อขนาดเล็กในดิน นำตัวอย่างดินจากภาคสนามใส่อุปกรณ์แยกแมลง Burlese-Tullgren funnel เพื่อแยกตัวอย่างสัตว์ขาข้อขนาดเล็กในดิน เก็บตัวอย่างในสารละลายเอทานอล (Ethanol) เข้มข้นร้อยละ 70 แล้วนำมาตรวจสอบความหลากของชนิดสัตว์ขาข้อขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มไรเพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม
4) ประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากระดับการปนเปื้อนสารฆ่าวัชในพื้นที่ต่าง ๆ ของลุ่มน้ำน่าน โดยอาศัยเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พ.ศ. 2549 และกระทรวงสาธารณสุข ประเทศแคนาดา (Health Canada’s Pest Management Regulatory Agency) พ.ศ. 2553
5) เผยแพร่ข้อมูลให้กับตัวแทนชุมชนเกษตรกรและเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง นักวิจัย นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและชุมชน ตลอดจนระหว่างชุมชนด้วยกันเอง นำไปสู่การสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนและร่วมกันพัฒนาวิธีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
จากการทุ่มเทศึกษาวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ลงพื้นที่ในจังหวัดน่านมาอย่างต่อเนื่องได้เชื่อมโยงองค์ความรู้สหศาสตร์ดูแลพื้นถิ่นห่างไกลด้วยสำนึกในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมผ่านงานวิจัยและบริการวิชาการเป็นธงนำ ทำให้ได้ชุดข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามแนวแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขาครอบคลุมตลอดลุ่มน้ำน่านจากแหล่งต้นน้ำจนถึงเขื่อนสิริกิติ์ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง นำไปสู่การจัดการแผนและเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สร้างทางเลือกประกอบเกษตรกรรมร่วมกันกับภาคีเครือข่ายลดการใช้สารเคมีควบคู่ไปกับการบำบัดคุณภาพดินด้วยเกษตรอินทรีย์ ผ่านกระบวนการกำจัดวัชพืชในพื้นที่เกษตรโดยไม่ใช้สารฆ่าวัชพืชทุกขั้นตอน เพื่ออนุรักษ์ พิทักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนสืบไป
ที่มาภาพ https://www.thairath.co.th/news/local/1422378