จุฬาฯ ชูเพศเท่าเทียม ติวเข้มแม่วัยใส คลอดคู่มือสุขภาพคนข้ามเพศ
เพราะความรู้เรื่องทางเพศในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เคย ทั้งการศึกษาธรรมชาติของความเป็นเพศมนุษย์ด้านกายวิภาค สรีระ และพฤติกรรม จนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีประกาศออกมาว่า “มนุษย์มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือทนทุกข์ทรมานได้จากความเป็นเพศมนุษย์เอง” และจัดให้เรื่องทางเพศเป็นหนึ่งในเรื่องสุขภาพอนามัย (Health) ของมนุษย์ พร้อมเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดให้มีบริการด้านสุขภาพทางเพศ (Sexual Health Service) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ (Promotive Care) การป้องกันโรค (Preventive Care) การรักษาโรค (Curative Care) และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitative Care) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจเกิดขึ้น นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตมีความสุขจากความปลอดภัยทางเพศ หรือที่เรียกว่า สุขภาวะทางเพศที่ดี (Sexual well-being)
เมื่อมองย้อนกลับมาดูสถานการณ์ทางเพศในประเทศไทย พบว่าปัญหาการเพิ่มประชากรจากการมีบุตรมากและมีบุตรถี่ขึ้นอยู่ในสภาพที่ไม่สมดุลกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติและกำลังสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของคนในครอบครัวแบบองค์รวม จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า “ปัญหาแม่วัยใส” วัยรุ่นหญิงไทยตั้งครรภ์และคลอดบุตรในวัยรุ่นโดยเฉพาะช่วงอายุ 10-19 ปี นั้น มีทั้งสิ้น 84,578 ราย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าในแต่ละวันจะมีทารกที่เกิดขึ้นจากวัยรุ่นหญิงกลุ่มนี้เฉลี่ยสูงถึงวันละ 232 ราย และในจำนวนนี้ยังพบสถิติการคลอดซ้ำจากแม่คนเดิมในกลุ่มนี้ถึง 9,092 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.7 ในขณะที่วัยรุ่นไทยวัยเยาว์รองลงมาช่วงอายุ 10-14 ปี ตั้งครรภ์และคลอดบุตร ราว 2,559 ราย หรือคิดเฉลี่ย 7 รายต่อวัน ซึ่งการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นกลุ่มนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดขณะมีเพศสัมพันธ์จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพใจกาย รวมถึงปัญหาทางสังคมที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งการเรียน ทำแท้งผิดกฎหมาย ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หย่าร้าง และขาดประสบการณ์เลี้ยงดูบุตร
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเปิดกว้างยอมรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT มากขึ้นของสังคมไทย จากการเปิดเผยข้อมูลของเว็บไซต์ www.LGBT-Captal.com ระบุว่า LGBT ไทยมีอยู่ราว 4 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 2.8 ของคนไทยทั้งประเทศและอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ซึ่งกลุ่มคนข้ามเพศไทย (Transgender) กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพกระทบต่อร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการอยู่ร่วมกันในสังคมจากการถูกเลือกปฏิบัติในสังคมจนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเล็งเห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะทางเพศที่ดีของนิสิต บุคลากรและประชาชนคนไทยในสองกลุ่มนี้ที่ต่างต้องการเข้าถึงการดูแลรักษาทางเพศอย่างเท่าเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด ตลอดจนการดูแลรักษาสุขภาพทางเพศอย่างเข้าใจหลากหลายมิติ ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคด้านบริการสาธารณสุขผ่านการดำเนินงานของ 2 หน่วยงานสำคัญภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่
1) หน่วยวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดอบรมและบริการด้านการวางแผนครอบครัวให้แก่นิสิตและประชาชนทั่วไปทั้งก่อนสมรสและก่อนตั้งครรภ์ พร้อมให้การรักษาผู้มีบุตรยาก รวมถึงให้คำปรึกษาโรคทางพันธุกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ยังมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีในระยะเริ่มต้น และบริการคุมกำเนิดทั้งป้องกันการปฏิสนธิและการทำแท้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ สนับสนุนให้มีบุตรขณะที่พ่อแม่มีอายุเหมาะสม เว้นระยะการมีบุตรให้ห่างกันพอสมควร และมีบุตรในจำนวนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้พัฒนานวัตกรรมคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาเม็ดคุมกำเนิด อาทิ การใช้วงแผนคุมกำเนิดซึ่งส่งผลข้างเคียงน้อยกว่าและไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว และพัฒนาองค์ความรู้ทันสมัยที่สามารถนำไปใช้ดูแลสุขภาพสตรีไทยได้จริงอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดประชุมวิชาการประจำปีของภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ของการส่งเสริมสุขภาพสตรีด้วยการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของหน่วยวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ฯ ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งช่วยให้ผู้หญิงไทยที่มารับบริการมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจก่อนก้าวข้ามบทบาทสู่การเป็นแม่ และยังช่วยสร้างสุขอนามัยที่ดี ลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของมารดาและเด็ก นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและเยียวยาความตึงเครียดจากปัญหาทางเศรษฐกิจในครัวเรือน ส่งผลให้การเลี้ยงดูบุตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการส่งเสริมให้รู้จักวางแผนครอบครัว
2) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย” ตำราองค์ความรู้ดูแลสุขภาพคนข้ามเพศ (Transgender) แบบองค์รวมฉบับแรกของไทย ใช้เป็นแนวปฏิบัติให้บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนที่สนใจดูแลและส่งเสริมสุขภาพคนข้ามเพศอย่างมีมาตรฐานซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือของคณาจารย์ในสหศาสตร์ของจุฬาฯ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คลินิกสุขภาพชุมชนแทนเจอรีน และยังได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ผ่านโครงการ LINKAGES ประเทศไทย โดยคู่มือนี้ได้รับการเผยแพร่ไปยังองค์กร หน่วยงาน สถานพยาบาล และศูนย์สุขภาพชุมชนที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งในแบบหนังสือรูปเล่ม (Physical Book) และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Book) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563 ควบคู่ไปกับการจัดทำเว็บไซต์ (official website) www.cuceth.com ใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสาร หลักสูตรการศึกษา การจัดฝึกอบรม และใช้เป็นแหล่งดาวน์โหลดคู่มืออิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ได้ฟรีเช่นกัน นอกจากนี้เนื้อหาของคู่มือฉบับนี้ยังถูกนำไปใช้เป็นเนื้อหาอ้างอิงประกอบการประชุมวิชาการระดับประเทศ อาทิ “การประชุมวิชาการการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศ (Transgender Competent Care Training)” เมื่อวันที่ 14 – 15 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยความร่วมมือของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ และคลินิกสุขภาพชุมชนแทนเจอรีนภายใต้มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation Foundation: IHRI)
การสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดีให้กับคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิงและกลุ่ม LGBT ไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรและช่วงวัยที่มีศักยภาพและมีพลังตามแนวทางข้างต้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นอีกกลไกสำคัญที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
หลักฐาน
https://online.pubhtml5.com/yxcv/ouia/#p=9
https://www.facebook.com/429537333903204/posts/1464408467082747/?extid=HIKHOTgutJctUcyr &%3Bd=n