ผ่าคำแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ให้ค่า “โลกเดือด” แค่ไหน
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่นำพาคณะรัฐมนตรีฝ่าด่านอภิปรายโดยไม่ลงมติจากสมาชิกรัฐสภาตลอด 2 วันเต็ม (11-12 ก.ย.66) เล่นเอาเรียกเสียงฮือฮาจากเหล่าเอฟซีทั้งกองเชียร์และกองแช่งอึงมี่ไปทั่วเมือง เพราะหลายนโยบายฟังแล้วก็น่าหนุนส่งอยากให้เร่งทำคลอดออกมาไว ๆ ในขณะที่ก็มีบางนโยบายถูกแซวว่าไม่ตรงปกผิดเพี้ยนไปจากที่พรรคแกนนำหาเสียงไว้ รวมถึงบางนโยบายก็หายลิบเลือนเข้ากลีบเมฆไปไม่ปรากฏให้เห็นในคำแถลงที่ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา ความยาว 14 หน้า นับรวมได้ถึง 297 บรรทัด ซึ่งเมื่อใครได้ชมการแถลงสดกลางสภาของท่านนายกเศรษฐา หรือจะกลับมานั่งอ่านดูกันให้ละเอียดถี่ถ้วนก็จะพบว่านโยบายรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญยิ่งกับภารกิจเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาส่อเค้าจะซึมยาวให้หวนกลับมาคึกคักดังจะเห็นได้จากมาตรการเร่งด่วนทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำมันดีเซล พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจ SMEs เรื่อยไปจนถึงแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
แต่เมื่อเราลองกวาดตาพลิกหานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้เจอเข้าอย่างจังกับความพยายามสู้โลกเดือดที่ก็ให้ความสำคัญต่อการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอินเทรนด์ได้ไม่น้อยหน้าประเทศชั้นนำอื่นเช่นกัน โดยแอบปรากฏคำว่า “คาร์บอน” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของการสู้โลกเดือดครั้งนี้ไว้มากถึง 3 แห่งเลยทีเดียว นั่นคือ “การขายคาร์บอนเครดิต” “Carbon Neutrality” และ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
คำแรก “การขายคาร์บอนเครดิต” ปรากฏพบอยู่ที่หน้า 8 ในราชกิจจานุเบกษา ตรงย่อหน้าที่ว่า
“…นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมแนวทางที่สร้างรายได้จากผืนดินและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล…”
อ่านเผิน ๆ ก็พลอยทำให้ใจฟูได้อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเจาะลึกลงไปกลับยังมองไม่เห็นแววแนวดำเนินนโยบายที่แน่ชัดโดยเฉพาะกับวรรคที่กล่าวว่า
“…กำหนดให้มีสัดส่วนการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่…” ดูแล้วก็จะคล้ายกับข้อกำหนดของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยที่ก่อนหน้านี้เคยกำหนดพื้นที่เกษตรกรรมด้วยจำนวนพืชผักและไม้ผลต่าง ๆ จนทำให้ผู้ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าสามารถเสียภาษีที่ดินในอัตราที่ถูกลงอยู่ในระดับเดียวกับอัตราพื้นที่ประกอบเกษตรกรรม ชวนให้เกิดคำถามตามมาจากนักวิชาการการเกษตรทั้งหลายในประเด็นเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างกล้วย มะนาว สตอเบอรี่ เพียงชนิดเดียวในที่ดินนั้น “ส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ” ได้จริงหรือ??? นอกจากนี้ด้วยประโยคสั้น ๆ อย่าง “การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล” ดูจะมีนัยยะแฝงชวนให้ต้องขยายความว่าจะซื้อขายกันอย่างไรให้มันทั้งยุติธรรมด้วยและให้สากลเขายอมรับด้วย โดยเฉพาะกับคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้
ปัจจุบันตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาและราคาคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ยังคงผันผวนอยู่มาก โดยราคาหน้าเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เฉลี่ยต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ที่ 184 บาท โดยราคาต่อตันต่ำสุดอยู่ที่ 55 บาท และเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยด้านความต้องการซื้อของกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ต้องพยายามกันทุกวิถีทางเพื่อหาวิธีลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตนเองให้ได้ก่อน ประกอบกับปัจจัยด้านปริมาณคาร์บอนเครดิตพร้อมขายส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่มากกว่านักลงทุนรายเล็กซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการกระบวนการขอรับรองคาร์บอนเครดิตยังมีต้นทุนที่สูงมาก (มากจริง ๆ นะ) ด้านคุณอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการ อบก. เปิดเผยว่าการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วบนพื้นที่ 100 ไร่ ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี มีต้นทุนการประเมินและรับรองปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้ ประมาณ 430,000 บาท เมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกเก็บกักและวัดได้ จะคิดเฉลี่ยต้นทุนอยู่ราว 90 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าปลูกและดูแลต้นไม้ให้โต อีกทั้งถ้าหากเปลี่ยนชนิดต้นไม้เป็นพันธุ์ไม้โตช้า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกเก็บกักไว้จะยิ่งมีน้อยลงไปอีกส่งผลให้ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าทวี พาลให้ราคาซื้อขายไม่เป็นใจ คิดจนหัวจะปวดว่าจะทำให้เกิดกลไก “การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม” ได้อย่างไรแค่ “คาร์บอน” คำแรกนี้ก็ท้าทายความเก่งกล้าสามารถของรัฐบาลเอามาก ๆ แล้วใช่ไหมล่ะ
ตามมาดู “คาร์บอน” คำที่ 2 และคำที่ 3 ในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ ปรากฏอยู่ในหน้าที่ 13 กันต่อ
“…นอกจากนี้ รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย และสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลจะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการเงิน…”
แน่นอนว่าหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ต้องยกเครดิตให้กับรัฐบาลชุดก่อนที่ได้ตุนหน้าตักไว้เป็นทุนให้กับประเทศไทยนั่นคือการกำหนดและวางนโยบายปักหมุดหมายมุ่งเป้าสู่ “Carbon Neutrality” ในปี ค.ศ. 2050 และ “Net Zero” ในปี ค.ศ. 2065 ไว้แล้วอย่างชัดเจน จน S&P Global ยังต้องยอมรับและยกให้ไทยเป็นชาติแนวหน้าของอาเซียนที่มุ่งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ถือเป็นอานิสงค์ให้รัฐบาลใหม่วางนโยบายต่อยอดข้ามช็อตหวังผลเลิศพลิกเกมรุกปักธงบนเวทีการค้าโลกในกรอบกติกาใหม่ที่ใคร ๆ เขาก็รักษ์โลกกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูแบบต้องเห็นมรรคเห็นผลเป็นรูปธรรม จับต้องและวัดผลได้ แต่หากจะชิงธงนำได้จริงรัฐบาลนี้ก็ต้องเร่งสำรวจความพร้อมในภาคการส่งออกของไทยด้วยว่ามีความสามารถขานรับปรับตัวให้พร้อมทำการค้าในบริบทใหม่นี้มากน้อยแค่ไหน และเร่งสำรวจความต้องการให้รัฐอุ้มสมส่งเสริมกันอย่างไรจึงจะค้าขายแข่งกับเขาได้ เพราะสนามการค้าทั่วโลกปรับตัวสู้โลกเดือดกันมาพักใหญ่ก้าวหน้าไปมากแล้วโดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ออกนโยบาย European Green Deal มาพร้อมกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM : Carbon Border Adjustment Mechanism) และกำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 นี้แล้ว โดยเริ่มจากสินค้าในกลุ่มแรก 6 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน โดยคู่ค้าจะต้องรายงานปริมาณสินค้าที่นำเข้าไปและยังต้องระบุปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ๆ พ่วงเพิ่มด้วย โดยมาตรการนี้ยังถือเป็นแค่การเริ่มต้นเพื่อให้ได้ซ้อมปรับตัวให้คุ้นเคยกันก่อนในช่วง 2-3 ปีแรก และหลังจากนั้นวันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าทุกรายจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หมายความว่า ถ้าสินค้าของใครปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตมากก็จะยิ่งส่งผลให้ต้องแบกต้นทุนการนำเข้าสินค้าเข้าไปขายในตลาดนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าให้ได้เปรียบเป็นแต้มต่อกันเนียน ๆ ไป ซึ่งข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2565 เพียงปีเดียว มูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข European Green Deal และ CBAM นั้น มีมูลค่าสูงถึง 425.41 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,712.33 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าสินค้ากลุ่มนี้กำลังจะได้รับผลกระทบก่อนใครในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว และคาดว่าการเดินเข้าสู่ประตูบานใหญ่บานนี้จะยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนและเกิด After Shcock เขย่าผู้ประกอบการไทยในอีกหลายระลอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
แม้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของนายกเศรษฐา ทวีสิน จะปรากฏคำที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจให้ความสำคัญต่อการรับมือกับสภาวะโลกเดือดอยู่เพียง 3 คำ แต่ก็ถือว่า “น้อยแต่มาก…เรียบแต่โก้” อย่าได้ไปด้อยค่าว่ารัฐบาลชุดใหม่มุ่งแต่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยไม่ได้ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเชียวนะ เพราะในทางกลับกันรัฐบาลนี้เลือกวางแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไว้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกขาหนึ่ง ส่วนจะมีมาตรการอะไรใหม่ออกมา จะหมู่หรือจ่า ก็ต้องติดตามรอดูกันต่อไป แต่ฝากข้อเท็จจริงทิ้งท้ายเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนว่าวันนี้ประเทศไทยยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปมากกว่าเก็บกักได้ในสัดส่วนที่ยังต่างกันอยู่ถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว
อ้างอิง
https://www.thaipost.net/politics-news/446620/
https://theactive.net/read/carbon-credit-to-net-zero/
https://www.scbeic.com/th/detail/product/carbon-040423
https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/ci/research-analysis/which-asean-countries-will-be-the-frontrunners-to-decarbonize.html
https://workpointtoday.com/cbam-effects-to-thai-business/