Banner 210

The Great Barrier Reef ออสซี่ฟื้นปะการังซอมบี้สู้ทะเลเดือดหนีหลุดมรดกโลก

“The Great Barrier Reef” ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก้ ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา ด้วยดีกรีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทอดตัวอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลกว่า 348,000 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดใหญ่กว่าประเทศเวียดนามที่มีคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินราว 100 ล้านคน แต่เมื่อลองดำดิ่งลงมายังโลกใต้ทะเล The Great Barrier Reef เป็นถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมายกว่า 9,000 ชนิดอยู่ในแนวปะการังมากกว่า 3,000 แนว ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ขนาดนี้ย่อมกว้างใหญ่กว่าแนวปะการังในท้องทะเลไทยถึง 2,300 เท่าเลยทีเดียว แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลโดยตรงให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดปรากฏการณ์ปะการังซอมบี้ฟอกขาวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่ง่ายเลยที่ออสเตรเลียจะยื้อสถานภาพมรดกโลกแห่งนี้ไว้ได้นาน แต่ยังไงเสียก็ยังไม่สายเกินเพลที่จะทุ่มทำอะไรกันบ้าง The Sharpener จึงได้เก็บเรื่องราวความพยายามสู้โลกรวนของพวกเขามาฝากกันเช่นเคย

location map of great barrier reef
แผนที่ The Great Barrier Reef
Coral and Zooxanthellae
สาหร่ายซูแซนเทลลี (จุดสีน้ำตาล) ในเนื้อเยื่อปะการัง

น้อยคนนักที่จะทราบว่าภายในปะการังยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่นั่นคือสาหร่ายจิ๋ว “ซูแซนเทลลี่” (Zooxanthellae) ผู้ทำหน้าที่สร้างอาหารให้กับปะการังผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่ด้วยน้ำทะเลที่ทั้งอุ่นและเค็มขึ้นจึงเป็นเหตุให้สาหร่ายจิ๋วเหล่านี้มิอาจทานทนอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เรรวนซวนเซ บ้างต้องหนีตาย บ้างก็ต้องตายโดยที่ยังไม่ทันได้หนี เหลือทิ้งไว้เพียงซากโครงสร้างหินปูนให้ดูต่างหน้า สภาวการณ์เช่นนี้เองที่เขาเรียกกันว่า “ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้เกิดปรากฎการณ์นี้ครั้งใหญ่ไปแล้วถึง 2 ครั้ง คือ ในปี 2016 และปี 2019 – 2020 จากการเปิดเผยผลสำรวจของ Great Barrier Reef Marine Park Authority ที่เก็บตัวอย่างจากปะการัง 1,036 แนว ทำให้เราทราบว่าปะการังมากกว่าร้อยละ 60 ตกอยู่ในสภาวะฟอกขาวแล้วและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบอย่างชัดเจน ซึ่งหากยังไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้อาจส่งผลรุนแรงต่อเนื่องให้ปะการังตายตามสาหร่ายจิ๋วไป

Coral Bleaching
ปะการังที่เริ่มฟอกขาว

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมิถุนายน ปี 2019 มูลนิธิ Great Barrier Reef Foundation จึงได้ริเริ่มโครงการเมกะโปรเจค “Reef Restoration and Resilience Program” (RRAP) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัย กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในภาคอุตสาหกรรม และชุมชนท้องถิ่น คิดค้นนวัตกรรมฟื้นฟูและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับแนวปะการัง โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคนิคฟื้นฟูแนวปะการังที่ล้ำสมัย และสนับสนุนการฟื้นฟูแนวปะการังที่เสียหายหรือเสื่อมโทรม 3 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาตัวอ่อนปะการัง การปลูกปะการัง และการควบคุมสภาพแวดล้อม

ในขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์ นักวิจัยจะเก็บตัวอย่างปะการังตัวเก่งที่รอดชีวิตอยู่ได้ในสภาวะฟอกขาวมาพัฒนาเป็นปะการังพันธุ์อึดทนน้ำทะเลอุ่นขึ้นได้ ซึ่งจะเพาะเลี้ยงในระบบจำลองที่สร้างสภาวะให้เหมือนกับเป็นระบบนิเวศชายฝั่งเพื่อให้ตัวอ่อนปะการังเติบโตได้พร้อมเผชิญโลกกว้างและจะถูกนำปล่อยลงสู่ทะเลต่อไป ซึ่งวิธีนี้ได้ช่วยให้ปะการังจำนวนมากกลับมาแพร่พันธุ์ได้อีกครั้งในเวลาอันสั้น และยังช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพจากการกระจายตัวของพันธุ์ปะการังที่ผ่านการศึกษาความเหมาะสมของแหล่งที่จะนำไปปล่อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหล่าปะการังสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่น้ำทะเลเดือดปุด ๆ เป็นหม้อสุกี้ นักวิจัยได้คิดสารพัดวิธีเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิน้ำทะเลให้ไม่สูงขึ้นมากจนน้องสาหร่ายจิ๋วซูแซนเทลลี่และพี่ปะการังทนมีชีวิตอยู่กันไม่ได้ โดยไฮไลท์พุ่งเป้าไปที่การสร้างนวัตรกรรมเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นหมอกและเมฆด้วยการสูบน้ำทะเลขึ้นมาและพ่นให้เป็นหยดละอองฝอยสะท้อนและดูดกลืนแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องกระทบกับผิวน้ำทะเลเพื่อลดอุณหภูมิน้ำทะเลนั่นเอง

d41586 021 02290 3 19594084
During a field trial, a turbine generates plumes of seawater droplets that rise into the sky.
shutterstock 794187502

ไม่เพียงเฉพาะแต่ในท้องน้ำเท่านั้น มูลนิธิยังได้จัดทำโครงการฟื้นฟูแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภายใต้โครงการ “The Reef Islands Initiative” ผนึกกำลังเหล่านักวิจัยและผู้นำท้องถิ่นเข้ามาปกป้องและฟื้นฟูแนวปะการังรอบเกาะทั่วบริเวณของ The Great Barrier Reef ที่มีมากกว่า 900 เกาะและยังรวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงเคยเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์มากแต่ขาดการดูแลเนื่องจากเดินทางเข้าถึงได้ยากและเทคโนโลยีการสำรวจยังไม่ก้าวหน้าพอ โดยปัจจุบันได้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศเข้ามาช่วยประกอบการค้นหา พัฒนา และติดตามผลการฟื้นฟูแนวปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ตัวอย่างบนเกาะ Lady Elliot ทางตอนใต้ของ The Great Barrier Reef ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองขี้ค้างคาว รอบเกาะจึงเต็มไปด้วยหินที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หลังจากโครงการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ทั้งปลูกไม้พื้นถิ่นพลิกฟื้นความอุดมสมูรณ์บนเกาะกว่า 15 เฮกตาร์ กำจัดพืชบุกรุกกว่า 475 ต้น และวัชพืชอีกกว่าร้อยละ 95 ออกจากเกาะ นอกจากนี้ยังลดการปล่อยมลพิษโดยใช้พลังงานทดแทนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ 900 แผง แบตเตอรี่ 258 ลูก และยังได้วางระบบจ่ายน้ำให้ต้นไม้อยู่รอดได้กว่า 7,500 จุดทั่วเกาะ จนทำให้เหล่าเซเลบเต่าทะเลที่เคยห่างหายไปจากชายหาดของเกาะนี้กลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง และพากันกลับมาในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเก่าถึงร้อยละ 125 พลิกฟื้นให้ Lady Elliot กลายเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสุดรั้งอันดับ 2 ของหมู่เกาะรอบ The Great Barrier Reef ในที่สุด

Lady Elliot Island
เกาะ Lady Elliot

แม้จะยังไม่สามารถฟื้นฟูให้ปะการังฟอกขาวกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ได้เหมือนดังแต่ก่อน แต่เราก็ได้เห็นความพยายามของออสเตรเลียที่พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะรับมือกับสภาพความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลมายังแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ซึ่งอานิสงค์จากความร่วมไม้ร่วมมือกันดีของทุกภาคส่วนนี้นี่เองก็ได้ช่วยให้ The Great Barrier Reef โกงความตายได้สำเร็จและยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก้ได้ต่อไป…ต่างจากเมืองลิเวอร์พูลบนเกาะอังกฤษที่ล่าสุดจำต้องปลิวลิบเลือนหลุด “เมืองมรดกโลก” เพราะมัวดื้อแพ่งแต่จะสร้างสนามฟุตบอล “เอฟเวอตัน” แห่งใหม่ให้จงได้

ที่มา

RESTORING REEF ISLAND HABITATS

Reef Restoration and Adaptation Program

Coral bleaching 101

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner