จุดสลบรถ EV …
อาจมาถึงเร็วเกินคาด
จากกระแสเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Carbon Neutrality ต่อเนื่องไปถึง Net Zero Emission ที่หลายประเทศต่างขานรับแนวนโยบายนี้ล้อมาจากเวที COP26 และกำลังจัดกิจกรรมรณรงค์โน้มน้าวใจให้ผู้คนหันมาเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมหันมารักษ์โลกกันมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามและถือเป็นกุศโลบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยเทรนด์ใหม่อย่าง BCG Bio-Circular-Green ไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นอานิสงค์จากมหกรรมการควักเงินลงทุนระดับเมกะโปรเจคระดับครัวเรือนเพื่อทยอยเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมากมายหลายรายการตามกระแสนิยม และแน่นอนว่า “รถยนต์” ก็เป็นอีกหนึ่งไอเท็มสำคัญประจำบ้านที่เข้าข่ายกำลังจะถูกทดแทนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “EV” นั่นเอง
ขุมพลังรักษ์โลกที่ช่วยให้รถอีวีวิ่งไปไหนมาไหนได้โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเหมือนรถสันดาปน้ำมัน หัวใจย่อมอยู่ที่แบตเตอรี่ที่ทำหน้าที่ชาร์จไฟฟ้าเข้าไปกักเก็บไว้เป็นพลังงานให้รถแล่นได้ ปัจจุบันแบตเตอรี่ก็ได้รับการพัฒนาให้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้ค่ายรถยนต์สามารถทยอยปล่อยรถอีวีออกมาหลากหลายรุ่น วิ่งได้ใกล้ไกลแตกต่างกันไปตามสมรรถนะ เราจึงได้เห็นการแข่งขันกันยึดหัวหาดส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
จากการเปิดเผยของบริษัทวิจัยตลาด Canalys เมื่อต้นปี 2022 พบว่า ตลอดปี 2021 ทั่วโลกมียอดขายรถอีวีราว 6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 109 และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9 ของรถยนต์ใหม่จากทั่วโลก โดยเป็น Tesla ที่ครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 14 แต่หากมองตัวเลขส่วนแบ่งตลาดโลก ครึ่งหนึ่งจะมาจากตลาดจีนที่คึกคักมากกว่าใคร ปล่อยรถอีวีโมเดลใหม่ออกสู่ตลาดในประเทศทุกเซกเมนต์ตั้งแต่รถเล็กราคาถูกไปจนถึงรถ SUV หรู รวมกันราว 3.2 ล้านคัน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดรถอีวีทั่วโลก ในขณะที่ฟากตลาดยุโรป อียูเองก็ได้โยนหินถามทางและมีความพยายามที่จะร่นระยะเวลาเลิกขายรถเบนซินและรถดีเซล (รวมถึงรถไฮบริดด้วย) ให้เร็วขึ้นอีกคือภายในปี 2035 ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงได้หากรัฐบาลแต่ละประเทศกล้าออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ และเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ หันมาดูตลาดรถอีวีในบ้านเราก็คึกคักไม่แพ้กัน ภาพรวมตลอดปีที่แล้วตลาดโตขึ้นถึงร้อยละ 43 มียอดจดทะเบียนรถอีวีป้ายแดง รวมทั้งสิ้น 40,710 คัน ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ PM2.5 ในอากาศ ก็คาดว่าจะยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดรถอีวีปีนี้ร้อนแรงยิ่งขึ้นกรุยทางให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Carbon Neutrality ได้ภายในปี 2050 ตามที่ฝันกันไว้
แต่ความฝันก็คือความฝัน ไม่ว่าจะหวานหรือจะขม เราก็จำเป็นต้องตื่น และทนอยู่กับโลกความเป็นจริงที่พบว่าปริมาณแร่ธาตุสำคัญ 3 ตัว ได้แก่ ลิเธียม โคบอลต์ และนิกเกิล ที่เรานำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ในรถอีวีกำลังจะทยอยหมดไปในอีกไม่ถึง 5 ปีนี้แล้ว ตามคำพยากรณ์ในรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) (https://www.iea.org/reports/the-role-of-critical-minerals-in-clean-energy-transitions)
1) ลิเธียม หรือ ทองคำขาว เป็นโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferrous Metal) โดยทั่วโลกมีแหล่งแร่ลิเธียมราว 16 ล้านตัน โดยร้อยละ 54 อยู่บนพื้นที่สามเหลี่ยมลิเธียมในเขตประเทศอาเจนติน่า ชิลี และโบลิเวีย และจากความต้องการใช้ลิเธียมในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่รถอีวีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้เอง IEA จึงได้คาดการณ์ว่าโลกกำลังจะประสบภาวะขาดแคลนลิเธียมในอีก 3 ปี หรือภายในปี 2025
2) โคบอลต์ มากกว่าร้อยละ 70 มีแหล่งผลิตจากประเทศคองโก สำนักงาน IEA ก็คาดการณ์ว่าโคบอลต์มีโอกาสที่จะขาดแคลนได้เช่นกัน โดยจะเริ่มได้รับผลกระทบในช่วงปี 2025-2030
3) นิกเกิล ทั่วโลกที่สำรวจพบมีอยู่ประมาณ 300 ล้านตัน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งพบได้ที่ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ รัสเซีย และแคนาดา จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศเหล่านี้จะเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ที่สำคัญของโลก โดย IEA คาดการณ์ว่า โลกจะขาดแคลนแร่นิกเกิล ภายในปี 2040
จึงเป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่าค่ายรถอีวีและเหล่ากูรูนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะช่วยกันจัดการความเสี่ยงที่อาจเป็นจุดสลบของอุตสาหกรรมนี้กันในกระบวนท่าไหน และอะไรจะเข้ามาเป็นโซลูชั่นใหม่เพื่อให้เราและโลกยังคงเดินหน้าไปต่อได้
แต่ที่แน่ ๆ บอกเลยว่านาทีนี้คนที่กล้าเปลี่ยนก่อนได้เปรียบ…