นวัตกรรมฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมด้วยราไมคอร์ไรซา พิสูจน์ทราบแล้วจากป่าต้นน้ำน่าน พร้อมส่งผ่านสู่สมรภูมิไฟป่าทั่วโลก
แม้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยจะยังคงทรงตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 31-33 ตามรายงานจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายที่จะรักษาผืนป่าของไทยให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยมุ่งฟื้นฟูผืนป่าเศรษฐกิจและจัดการนิเวศป่าชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง ทั้งที่อยู่นอกเขตและในเขตพื้นที่อนุรักษ์ บนพื้นที่มากกว่า 7,870,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2561-2562 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 102,484,072.71 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ โดยไฟป่ายังคงเป็นภัยคุกคามของทรัพยากรป่าไม้ไทย ทั้งไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและไฟป่าที่เกิดจากการลักลอบเผาป่าเพื่อใช้ประโยชน์ ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่ามีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศไทยถูกเผาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนเมษายน 2563 แล้ว รวมทั้งสิ้น 170,835 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 3 ใน 4 เป็นพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการลักลอบเผาป่าชุมชนมาจากเรื่องปัญหาปากท้องของคนในชุมชนละแวกใกล้เคียง ประกอบกับความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นที่ว่า “ยิ่งเผา เห็ดยิ่งขึ้น” จึงสะท้อนปัญหาการลักลอบเผาป่าชุมชนให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติสั่งสมต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับสิบปี
ปัญหาป่าชุมชนถูกเผาเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งเร้าให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูป่าให้ทำได้ยากเนื่องด้วยเพราะความชื้นและธาตุอาหาร รวมไปถึงเชื้อจุลินทรีย์พื้นถิ่นในดินตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปพร้อมกับไฟป่าจนหมดสิ้นแล้วเท่านั้น แต่การลักลอบเผาป่าชุมชนยังสร้างปัญหาการแพร่กระจายของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศกลายเป็นหมอกควันพิษให้กลับมาทำลายสุขภาวะของคนในพื้นที่เองอีกด้วย
การฟื้นฟูป่าชุมชนเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งจึงจำเป็นต้องเริ่มจากการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมโดยเริ่มจากผืนดินเป็นอันดับแรก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ทางด้านจุลินทรีย์ในดินจึงศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูป่าชุมชนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้จริงอีกครั้งอย่างรวดเร็ว จึงดำเนินโครงการวิทยาเพื่อพื้นถิ่น ซึ่งริ่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ศึกษาวิจัยความหลากหลายของเห็ดราไมคอร์ไรซาในป่าเต็งรังและประยุกต์ใช้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน โดยทดลองนำเชื้อราไมคอร์ไรซาและจุลินทรีย์ท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ มาผสมในดินและกล้าไม้พื้นถิ่นของจังหวัดน่านในกลุ่มไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา เต็ง รัง เหียง พลวง เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน และยังช่วยเพิ่มอัตราการการรอดหลังย้ายปลูกทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาวะที่ไม่เอื้อให้ดำรงชีวิต ซึ่งแนวทางนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้พื้นถิ่นตามธรรมชาติโดยคำนึงถึงระบบนิเวศดั้งเดิมและความเหมาะสมตามหลักนิเวศวิทยาอีกด้วย
จากความสำเร็จของโครงการฯ ที่สามารถพัฒนากล้าไม้พื้นถิ่นที่มีราไมคอร์ไรซา จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัยจึงขยายผลงานวิจัย ผลิตกล้าไม้คุณภาพนำแจกจ่ายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดน่านเพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และขยายผลต่อยอดการดำเนินงานไปยังพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 3,000 ไร่ ใน โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พัฒนาขึ้นเป็นโครงการต้นแบบ “การประยุกต์ใช้เห็ดไมคอร์ไรซาในการปลูกป่าไม้วงศ์ยางเพื่อฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ” และได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และประชาชนที่สนใจ ในปี พ.ศ. 2560
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ขยายองค์ความรู้ฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นไปสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานระดับนานาชาติ “The Mushroom Initiative Limited, Hong Kong” พัฒนาโครงการ “การใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกไม้ป่าพื้นถิ่นของไทย” โดยมีภาคีเครือข่ายสำคัญอย่างมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นในการรณรงค์ปลูกป่าพื้นถิ่นร่วมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน ประชาชน สร้างแปลงสาธิตการใช้ราไมคอร์ไรซาฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นทั้งในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และพื้นที่โรงเรียนบ้านคลองยางและชุมชนตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เกิดเป็นภาคีเครือข่ายผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งโดยมี “The Mushroom Initiative Limited, Hong Kong” เป็นพันธมิตรร่วมภารกิจขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่อีก 10 แห่งทั่วประเทศไทยและอีก 1 พื้นที่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยได้จัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นประกอบการติดตามไม้พื้นถิ่นที่ปลูกไว้ในแต่ละพื้นที่เพื่อประเมินและรับมือกับภัยแล้งรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผ่านการพัฒนาช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายหลายช่องทาง อาทิ เว็บไซต์ Facebook เป็นต้น
ตลอดการดำเนินโครงการฯ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา พบว่ากล้าไม้พื้นถิ่นที่ปลูกไว้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ดีทั้งปริมาณความชื้นและแสงแดดที่เหมาะสมกับระบบนิเวศในพื้นที่ และยังช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน นำมาสู่การดำเนินงานในปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย “ชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอนันทมหิดล” ร่วมกับ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อนำความสำเร็จที่ได้กลับมาแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือจากการเผาป่าในพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ป่าอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมเห็ดเผาะลดไฟป่าหมอกควัน สร้างป่า…สร้างรายได้” สร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่า พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้จากต้นแบบความสำเร็จของงานวิจัยการใช้ราไมคอร์ไรซาที่สามารถสร้างดอกเห็ดที่กินได้ อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดตะไค เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก รวมถึงเห็ดป่าอื่น ๆ นำมาใช้ฟื้นฟูป่าที่นอกจากจะได้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาแล้วยังได้เห็ดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ใหม่ให้ครัวเรือนได้อีกด้วย ถือเป็นกุศโลบายสร้างแรงจูงใจให้คนในพื้นที่หันมาใช้ไม้พื้นถิ่นร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืน
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งต่อความยั่งยืนนี้ไปสู่ กองทัพภาคที่ 2 กองบัญชาการกองทัพไทย นำองค์ความรู้การใช้ราไมคอร์ไรซาฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นภายใต้โครงการทหารพันธุ์ดี ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กำลังพลภายในหน่วยสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับประชาชนที่สนใจนำราไมคอร์ไรซามาใช้เพาะพันธุ์กล้าไม้ตามแนวทางที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิสูจน์ทราบแล้ว
จากความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่นให้มีความแข็งแรงทนต่อภัยคุกคามทางชีวภาพและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพืชเท่านั้น แต่ยังช่วยลดทอนระยะเวลาการฟื้นตัวตามธรรมชาติของผืนป่าในประเทศไทยให้สั้นลงเหลือเพียง 30-40 ปี จากเดิมที่คาดการกันว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าศตวรรษที่ป่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ประเทศไทยวางเป้าหมายรักษาผืนป่าไว้ให้ได้ถึงร้อยละ 40 และยังเป็นแนวทางที่สามารถนำไปช่วยฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นที่ประสบปัญหาไฟป่ารุนแรงทั่วโลกได้อีกด้วย
หลักฐาน
https://www.ecomushrooms.org/en/ectomycorrhizal-reforestation-2/#thailand