จุฬาฯ สตาร์ทอัพรับมือโควิด ปั้นนวัตกรรมดูแลคนไทย
ปลายปี 2019 เมื่อโลกถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ที่จวบจนทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา ปลุกให้หลายประเทศจำเป็นต้องลุกขึ้นมาออกมาตรการตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) รับมือกับโรคร้ายนี้เพื่อดูแลประชาชนคนในชาติของตนรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ทั้งมาตรการปิดเมือง ล็อกดาวน์ประเทศ ปิดสนามบิน กำหนดสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine & Local Quarantine) กำหนดเวลาเคอร์ฟิวเปิดปิดธุรกิจห้างร้าน รวมถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลากหลายรูปแบบควบคู่ไปกับการปรับตัวเข้มงวดและยืดหยุ่นระคนกันไปได้ผลดีมากน้อยแตกต่างกัน โดยหากเจาะลึกลงมาเฉพาะสถานการณ์ในประเทศไทยที่ทั่วโลกต่างประสานเสียงชื่นชมคนไทยจนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Global COVID-19 Index (GCI) ยกให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ของการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งสำรวจจาก 184 ประเทศทั่วโลก และปัจจัยที่ทำให้ไทยก้าวมายืนหนึ่งเหนือคนทั้งโลกได้ในยามนี้ นอกจากความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งของทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนแล้ว คงเป็นนวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ปวารณาตัวอาสาขอนำองค์ความรู้ที่มีมาปรับใช้บูรณาการให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่อดูแลคนไทยอย่างสุดความสามารถ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ในฐานะผู้บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่พร้อมยกระดับสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในช่วง 3-4 ปีไว้กว่า 180 ทีม จนมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท และสร้างกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ไว้อีกกว่า 2,000 ราย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเร่งพัฒนานวัตกรรมนำรับใช้ชาติกู้สถานการณ์โควิด-19 ดูแลคนไทยครบทุกมิติทั้งป้องกัน (Prevent) ปกป้อง (Protect) และรักษา (Cure) ด้วย “นวัตกรรมจุฬาฯ”
เร่งจูนสตาร์ทอัพรับโควิด-19 ปั้น New Service Innovation
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมร่วมภารกิจโดยปรับแพลตฟอร์มที่ดำเนินการอยู่บูรณาการเป็นนวัตกรรมบริการ “Chula COVID-19 Strip Test Service : กระบวนการตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไว” เปิดให้บริการ ณ ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสตาร์ทอัพ 6 ทีมรวมอยู่ในทุกขั้นตอนการให้บริการ อาทิ เป็ดไทยสู้ภัย, Dr.A-Z, RAKSA, QueQ เป็นต้น โดยมี Baiya COVID-19 Strip Test นวัตกรรมเรือธงที่ใช้ตรวจภูมิคุ้มกันว่องไวทราบผลตรวจได้ภายใน 10-15 นาที ผลงานเด่นจากสตาร์ทอัพ “Baiya Phytopharm” ที่ปรับแพลตฟอร์มการผลิต Plant Based Gross Factor ให้เป็นนวัตกรรมรับมือโควิด-19 เพื่อคนไทยในทันทีที่ได้รับการส่งสัญญานให้ร่วมภารกิจนี้ และที่มากไปกว่านั้นนวัตกรรมชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไวนี้ยังถูกนำไปขยายผลเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในวงกว้าง (Actual-Use Research) ที่เอื้อประโยชน์ให้บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 ระบาดทั้งช่วยลดความหนาแน่นของผู้มารับบริการ ณ สถานพยาบาล กระชับเวลาทราบผลตรวจ ลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจ RT-PCR และยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แพทย์กล้ารักษาเฉพาะด้าน เช่น การผ่าตัดฉุกเฉิน การทำคลอด เป็นต้น
ขยายผลสู่ปัตตานีโมเดล
Chula COVID-19 Strip Test Service ไม่เพียงช่วยคัดกรองผู้ป่วยในเขตเมืองหลวงเพียงเท่านั้น แต่ชุดตรวจภูมิคุ้มกันแบบว่องไวของ Baiya Phytopharm ยังถูกส่งไปใช้ในถิ่นทุรกันดารชายแดนภาคใต้ที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้โครงการ “ปัตตานีโมเดล” ช่วยให้การบริหารจัดการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐระดับจังหวัด (Local Quarantine) ชายแดนไทย-มาเลเซียมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้ประสานงานกับระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยเข้ามาติดตามผลจากผู้ที่เดินทางเข้ามาจากมาเลเซีย ดูแลด้านสุขภาพ ลดความทุกข์ทรมานจิตใจ ลดภาระงานในส่วนพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐระดับจังหวัดพร้อมประเมินสถานการณ์เพื่อนำไปสู่มาตรการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มของคนในพื้นที่นี้ยังถือเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่างคนไทยมากกว่า 10,000 คน เพื่อใช้ประเมินภาพรวมด้านประชากรศาสตร์ขนาดใหญ่ ดูแนวโน้มระดับภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับเชื้อ พร้อมศึกษาพฤติกรรมของโรคโควิด-19 และการแสดงออกของอาการจากโรค ก่อนขยายผลต่อยอดวิจัยพัฒนาวัคซีน ทั้งศึกษาปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมต่อบุคคลที่ควรได้รับ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน จึงถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือทางไกลระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจังหวัดปัตตานีที่อยู่ห่างไกลกันพันกิโลเมตร ในช่วงเวลากว่า 2 เดือน
ใช้หุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอ
นอกจากนี้ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ยังได้ส่งทีมสตาร์ทอัพสายหุ่นยนต์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในชุด “CU RoboCOVID” ทั้ง “น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก” นับร้อยตัวส่งเข้าประจำการช่วยเสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลำเลียงน้ำ อาหาร และยารักษาโรค ส่งให้ผู้ป่วยได้จากทางไกลได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ร่นระยะเวลาในการทำงาน ลดปริมาณการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ถุงมือ และหน้ากากอนามัย โดยส่งมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนานำไปจัดสรรมอบให้โรงพยาบาลในเครือข่ายกว่า 70 แห่งทั่วประเทศไทย
เสริมความแข็งแกร่งให้หน้ากากผ้า
โควิด-19 ยังได้สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไม่น่าเชื่อจากปริมาณขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย สตาร์ทอัพจุฬาฯ “Nabsolute” จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมสเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าให้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่กำลังขาดแคลนในขณะนั้น ช่วยป้องกันได้ทั้งเชื้อโรคโควิด-19 และฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไปได้พร้อมกันในการฉีดพ่นคราวเดียว ซึ่งต่อมานวัตกรรมนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเทคโนโลยี Shield+ และจับมือกับ Tigerplast ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ รายใหญ่ของไทย เร่งผลิตป้อนตลาดช่วยเพิ่มทางเลือกและความมั่นใจในช่วงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้ากากป้องกันตนเองของคนไทย
ก้าวต่อไปมุ่งหน้าผลิตวัคซีนเพื่อคนไทย
จากความสำเร็จของแพลตฟอร์มชุดตรวจโควิดว่องไว (Baiya Rapid Strip Test) ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้พัฒนาต่อยอดสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืช ด้วยกระบวนการผลิตโมเลกุลโปรตีนลูกผสม (recombinant protein) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของไวรัสที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาวและลิง จนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมขยายผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติให้ดำเนินการในขั้นต่อไปได้ ซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนที่ผลิตได้เองภายในประเทศช่วงกลางปี 2021 เป็นต้นไป
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์จากการบ่มเพาะสตาร์ทอัพจนเกิดเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมดูแลคนไทยโดยเฉพาะในยามยากจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 2 ที่ว่า “Innovations for society”