Banner 137 03

เรียนรู้โลกกว้างผ่านแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จุฬาฯ เปิดชมฟรีตลอดปี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร อีกทั้งยังบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ศึกษาหาความรู้เสริมเพิ่มเติมทักษะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างเพลิดเพลินตามอัธยาศัยในแบบสรรสาระ (Edutainment) ผ่านการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ภายในกำกับของส่วนกลางมหาวิทยาลัยและอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของหลายคณะ รวมมากถึง 23 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นคลังความรู้ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว อาทิ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอประวัติจุฬาฯ, พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์, พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้อีกหลายแห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ของจุฬาฯ ในแต่ละภูมิภาคอีก 2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน จังหวัดชลบุรี เป็นต้น 

จุฬาฯ ได้พัฒนาทั้งเนื้อหาและรูปแบบการจัดแสดงในแบบสหศาสตร์อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยบูรณาการเนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอผ่านความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ในรั้วจุฬาฯ ด้วยกัน อาทิ นิทรรศการ “กายวิจิตร” นำเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์มาผนวกเข้ากับการนำเสนอด้านศิลปกรรมศาสตร์, นิทรรศการ “อนันตกาล” (FOREVER) กับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและคติความเชื่อทางศาสนา, นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน ชวลิต เสริมปรุงสุข : Rest In Progress ผู้สร้างแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ ผู้เป็นกำลังใจของผู้สูงวัย สู่การผลักดันวงการศิลปะไทยให้ขับเคลื่อนสู่สากล เป็นต้น

นิทรรศการ “กายวิจิตร” (Clearing and Staining) นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผนวกการสร้างสรรค์ทางศิลปะสู่การพัฒนาการอย่างยั่งยืน

นิทรรศการ “กายวิจิตร” (Clearing and Staining) มีรูปแบบนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ผนวกกับงานศิลปะ นำเสนอสิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการการดองใสและย้อมสี (Clearing and Staining) ซึ่งเป็นที่รู้จักเฉพาะในวงการของวิทยาศาสตร์  ดังนั้นเพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงมีการนำตัวอย่างของการดองใสและย้อมสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด รวมทั้งตัวอย่างการดองเขียวของพืช นำมาจัดแสดงสู่สาธารณชน 

นิทรรศการครั้งนี้ใช้องค์ความรู้จากการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ภายในห้องเรียนมาเผยแพร่ด้วยวิธีการจัดแสดงแบบนิทรรศการศิลปะ ซึ่งมีทั้งความรู้และความสวยงาม เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึง เข้าชม และเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สนใจเกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และมุมมองที่มีต่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรศึกษาหาความรู้ นับเป็นกระบวนการสร้างสรรค์การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานงานศิลปะ ทำให้เกิดการพัฒนาของศาสตร์ทั้งสองแขนงอย่างยั่งยืน 

นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11 กันยายน – 30 ตุลาคม 2563

A vase of flowers on a table

Description automatically generated
A display in a room

Description automatically generated
A group of people standing in a room

Description automatically generated

นิทรรศการ “อนันตกาล” (FOREVER) กับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและคติความเชื่อทางศาสนา

ในแต่ละปี หอศิลป์จามจุรีมีนิทรรศการศิลปะให้เข้าชมกว่า 40 นิทรรศการ ซึ่งในปีที่ผ่านมานี้มีนิทรรศการที่มีความโดดเด่น คือ นิทรรศการ “อนันตกาล” (FOREVER) ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินอนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี (Anurot Chanphosri) นำเสนอในรูปแบบงานจิตรกรรม จัดแสดงระหว่างวันที่  15 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาและแนวความคิด ดังนี้

“อนันตกาล” คือ ผลงานสร้างสรรค์ที่แสดงออกถึงการให้และมีความรู้สึกถึงการได้รับไปพร้อมกันเพราะทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ที่ปรากฏหลักฐานทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน ศิลปินสร้างสรรค์งานโดยใช้รูปแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสานที่นำมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดท้องถิ่น เนื้อหาแนวคิดแสดงถึงกล่าวถึงคติความเชื่อและความดีจากหลักธรรมในพุทธศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อท้องถิ่น

การจัดนิทรรศการศิลปะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมสู่สังคม กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ต่อศิลปินและผู้ชม และเป็นพื้นที่ที่สร้างความสุขแก่ชุมชน “ศิลปะ” จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน 

A painting of a person

Description automatically generated
A picture containing ceiling, room, table, kitchen

Description automatically generated

นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน ชวลิต เสริมปรุงสุข : Rest In Progress (Chavalit Soemprungsuk)  

“ชวลิต เสริมปรุงสุข” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2557 และเป็นศิลปินไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์  

“ชวลิต เสริมปรุงสุข” แสดงให้เห็นถึงพลังการสร้างสรรค์ การเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ทุ่มเท และสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ศึกษางานด้านศิลปะทุกระดับ อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนและแสดงให้เห็นว่า ‘วัย/อายุ’(เลือกใช้คำนึงค่ะ) ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างงานศิลปะและการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมและผลักดัน พัฒนาวงการศิลปะไทยให้ขับเคลื่อนสู่สากล

ชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นศิลปินคนสำคัญในวงการ abstract art และ non – objective art ของไทย ซึ่งต่อมาหลังอายุ 70 ปี ได้เปลี่ยนแนวการทำงาน จากการทำชิ้นงานประติมากรรมและจิตรกรรมขนาดใหญ่ ไปสู่การทำงานรูปแบบดิจิตอลบนคอมพิวเตอร์ในช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2562 ณ ห้องทำงานศิลปะในเมืองอัมสเตอร์ดัม โดยพัฒนาผลงานแนวดิจิตอลและสร้างงานพิมพ์อิงค์เจ็ทดิจิตอลแบบมีเพียงชิ้นเดียว ซึ่งผลงานชุดนี้ได้นำมาจัดแสดงจำนวน 80 ชิ้น ในชื่อนิทรรศการ “Rest in Progress” ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม – 2 ตุลาคม 2563 เพื่อรำลึกการจากไปของศิลปินในวัย 80 ปี จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

Virtual Exhibition Tour “Rest in Progress” นิทรรศการศิลปะไร้พรมแดน

นอกจากนี้ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดทำ Virtual Exhibition Tour “Rest in Progress” เพื่อเปิดโอกาสและเปิดกว้างการรับชมงานศิลปะให้สามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลก ก่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางศิลปะ กระตุ้นและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเชิงศิลปะอย่างไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนได้รู้จักศิลปินไทยระดับนานาติและเข้าถึงได้มากขึ้น ผู้สนใจสามารถรับชมได้ที่เว็บไซต์ https://www.cuartculture.chula.ac.th/virtual/rest-in-progress/

A large empty room

Description automatically generated
A group of people standing in a room

Description automatically generated
The inside of a building

Description automatically generated

ศูนย์อ้างอิงและแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาพื้นถิ่น โดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับส่วนราชการและประชาคมจังหวัดน่านและสระบุรี โดยดำเนินกิจกรรมใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย บูรณาการกับความรู้พื้นถิ่น สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม เชื่อมโยงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ากับสังคมไทย 

 ศูนย์อ้างอิงและแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาพื้นถิ่น มีรากฐานจากการดำเนินงานเพื่อสร้างต้นแบบการศึกษาพัฒนาระบบนิเวศพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดสระบุรี โดยดำเนินการวิจัยรูปแบบการฝังตัวต่อเนื่องในพื้นที่ของนิสิตบัณฑิตศึกษา เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ นิเวศวิทยาพื้นถิ่น และผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ต่อระบบนิเวศ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะนำมารวบรวมและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน พิพิธภัณฑ์ศิลป์-สินธรรมชาติที่จังหวัดสระบุรี สวนสมุนไพรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เจ้ากรมเป๋อ” และสวนสมุนไพรบุญรอด บิณฑสันต์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอ้างอิงทางวิชาการสำหรับเยาวชนในพื้นที่ ยกระดับความรู้และงานวิจัยของชุมชน และเสริมสร้างสำนึกรักทรัพยากรในท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาในพื้นที่ทั้งจังหวัดน่านและสระบุรี

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner