Banner 130 03

เบื้องหลังภารกิจสู้โควิด-19 เพื่อมวลมนุษยชาติ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ (EID)

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาโลกเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งไวรัสซิกา ไวรัสอีโบลา ไวรัสเมอร์ส และล่าสุดที่มวลมนุษยชาติกำลัง ประสบอยู่นั้นคือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาดใหญ่จนมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ล้านคน และคร่าชีวิตคนหลากชาติพันธุ์ไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วคือความรุดหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในโลกไร้พรมแดนที่เอื้อให้การทำกิจกรรมและการเดินทางไปมาหาสู่กันทั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว จนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

IMG 1748 scaled 1

ประเทศไทย ในฐานะหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญกับการรับเชื้อโรคข้ามพรมแดน จากการเปิดข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้อาจเป็นพาหะนำโรคอุบัติใหม่ติดเชื้อจากคนสู่คนข้ามพรมแดนเข้ามาด้วยเช่นกัน การเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่จึงเป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานในแวดวงสาธารณสุขไทยเทศตระหนักและขานรับเป็นวาระที่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายพัฒนาความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ ระงับยับยั้งก่อนแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ ได้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.2559 ทำงานควบคู่กันกับศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน เพื่อดำเนินการเชิงรุกเข้าถึงแหล่งกำเนิดโรค (upstream operation) และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ผ่านการสร้างความร่วมมือในระดบโลก (global collaboration) ซึ่งศูนย์นี้มีบทบาทสำคัญช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 จากสนับสนุนสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณาสุข ให้สามารถตรวจยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อโรค COVID-19 และยืนยันผลจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุขใช้ควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ทันท่วงที

IMG 1708 2048x1365 1

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Member of the WHO Expert Advisory Panel on Rabies และ WHO member of the International Health Regulations Roster of Experts as an expert in Human-animal interface (Zoonoses) กล่าวว่า “เชื้อก่อโรคในมนุษย์กว่าร้อยละ 70 เกิดจากสัตว์ และปัจจุบันยังมีเชื้อไวรัสที่ยังไม่สามารถระบุชนิดหรือสายพันธุ์ได้อีกกว่า 500,000 ชนิด ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คนและกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ได้ในที่สุด ดังนั้น การตรวจและออกสำรวจเพื่อให้รู้ว่าสัตว์ประเภทใดก่อโรคชนิดใดในมนุษย์จะช่วยให้เราสามารถนำมาเทียบเคียงความชุกของพื้นที่ที่อาจจะเกิดโรคได้ นำไปสู่การสร้างมาตรการป้องกันโรค พร้อมกำหนดพื้นที่เสี่ยงได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ความก้าวหน้าของงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่เชิงรุกในประเทศไทยของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เป็นผลมาจากการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

1) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization): สนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการตรวจวินิจฉัยยืนยันโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน พร้อมให้คำปรึกษาและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแก่ประเทศสมาชิกของ WHO – Regional Office for South-East Asia จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และไทย

2) United States Agency for International Development (USAID): สร้างเครือข่ายงานวิจัยโรคอุบัติใหม่ในต่างประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการวิจัย PREDICT พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่และตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ เช่น ประยุกต์ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19

3) กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา: พัฒนางานวิจัยและห้องปฏิบัติการโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนเครื่องมือวิทยาศาสตร์แบบครบวงจร เพื่อการวิจัย วินิจฉัย และเฝ้าระวังโรค อาทิ ธนาคารตัวอย่างโรคติดเชื้อ ธนาคารเชื้อไวรัส การตรวจวินิจฉัยด้วยแนวทางอณูชีววิทยา การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส การเพาะเชื้อไวรัสเพื่อวินิจฉัยโรค และการสร้าง Clinical Genomics Integration Platform เป็นต้น

4) กระทรวงสาธารณสุขไทย:  ขยายผลการวิจัยระดับชาติไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยพัฒนาการตรวจวินิจฉัยไวรัสซิกาจากตัวอย่างอื่นนอกจากเลือดและปัสสาวะ ได้แก่ น้ำนม รก น้ำคร่ำ เยื่อสมอง น้ำอสุจิ น้ำลาย และน้ำตา

เสวนาวิชาการ Disease ๒๐๐๑๒๑ 0002 1536x1024 1

การพัฒนางานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ และภาคีเครือข่าย เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ไทยเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนไทยเฝ้าระวังอาการผิดปกติ ให้สามารถดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner